
มีข่าวจากสื่ออังกฤษหลายสำนักเช่น BBC และ The Times รายงานว่ากองทัพอังกฤษอาจตัดสินใจยุบหน่วยรถถังทิ้งทั้งหมด เพื่อประหยัดงบประมาณ นำไปพัฒนาขีดความสามารถอื่นๆเช่นอากาศยานและสงครามไซเบอร์ ซึ่งอังกฤษมองว่ามีภัยคุกคามเร่งด่วนกว่าแทน หลังจากที่ผ่านมางบกลาโหมของอังกฤษถูกตัดรัวๆ แถมยังถูกพิษโควิด-19 ซ้ำเติมอีก
ปัจจุบันกองทัพอังกฤษมีรถถังหลัก Challenger 2 อยู่ 227 คันแต่ในจำนวนนี้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเพียงครึ่งเดียว นอกนั้นเก็บไว้ในคลัง ที่สำคัญรถถัง Challenger 2 ของอังกฤษตั้งแต่เข้าประจำการในปี ค.ศ.1998 ก็ไม่เคยได้รับการอัพเกรดเลย แม้อังกฤษจะเคยพิจารณาตัวเลือกในการอัพเกรดไว้หลายตัวเลือก แต่ก็ติดขัดที่งบประมาณ นอกจากรถถังหลักแล้วก็ยังมีรถรบทหารราบ Warrior ซึ่งเข้าประจำการตั้งแต่ยุค 80 อีก 388 คันรอการอัพเกรดเช่นกัน แต่งบประมาณที่ต้องใช้อัพเกรดยานเกราะทั้งสองรุ่นสูงมาก กองทัพอังกฤษมีงบประมาณไม่พอ ประกอบกับยานเกราะทั้งสองรุ่นก็เก่าพอสมควรแล้ว จึงเกิดแนวคิดว่าถ้าอังกฤษยุบหน่วยรถถังทิ้งไปเลย นำงบประมาณไปโปะเสริมขีดความสามารถด้านอื่นๆแทน จะดีกว่าหรือไม่
ส่วนตัวผมมองว่าอังกฤษกำลังพยายามเล่นแร่แปรธาตุนำงบกลาโหมที่มีจำกัดไปลงให้เหล่าทัพและยุทโธปกรณ์ที่มีความสำคัญกับการแสดงอำนาจ power projection ในต่างประเทศ เพื่อรักษาฐานะมหาอำนาจก่อนครับ เนื่องจากอังกฤษมีลักษณะเป็นเกาะ จึงต้องให้ความสำคัญกับกองทัพเรือและกองทัพอากาศก่อน แม้รถถังและยานเกราะจะมีความสำคัญในการปฏิบัติการร่วมกับ NATO ในทวีปยุโรป แต่ถ้ากองทัพเรือและกองทัพอากาศเป็นง่อยไปก็ไม่มีประโยชน์
เมื่อเดือนที่แล้วมีบทความในสื่อ Forbes ระบุว่ากองทัพอากาศอังกฤษก็กำลังขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก อังกฤษมีงบพอจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 เพียง 48 ลำ จากที่วางแผนไว้ 138 ลำเท่านั้น แถมเครื่องบินขับไล่ Typhoon ก็ใกล้ถึงกำหนดปลดประจำการแล้ว แม้อังกฤษจะมีตัวเลือกในการอัพเกรดยืดอายุ Typhoon ใช้งานคู่กับ F-35 ไปอีก 20 ปีจนกว่าเครื่องบินขับไล่ Tempest รุ่นใหม่จะพัฒนาเสร็จและเข้าประจำการ แต่อังกฤษก็กลัวว่าลำพัง Typhoon อาจไม่สามารถถ่วงดุลยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ของรัสเซียได้ จึงมีข้อเสนอให้ตัดงบส่วนอื่นมาจัดหา F-35 เพิ่ม ปัญหาคือถ้าตัดงบส่วนอื่นมาทุ่มจัดหา F-35 ก็จะส่งผลกระทบต่อโครงการ Tempest อีก อังกฤษอาจต้องเลือกพัฒนา Tempest ออกมาเป็นโดรนติดอาวุธแทนเครื่องบินขับไล่
กองทัพเรืออังกฤษก็ขาดแคลนงบประมาณเช่นกัน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมมีข่าวในสื่อ The Telegraph รายงานว่ากองทัพเรืออังกฤษอาจต้องยกเลิกโครงการต่อเรือสนับสนุนเรือบรรทุกเครื่องบินใหม่ ถ้างบประมาณถูกตัดจากพิษโควิด อาจส่งผลต่อทั้งขีดความสามารถในการปฏิบัติการของเรือบรรทุกเครื่องบิน (ปัจจุบันอังกฤษมีเรือ FSS สำหรับสนับสนุนเรือบรรทุกเครื่องบินเพียงลำเดียว กำลังจะปลดประจำการในปี 2028) และตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมต่อเรือของอังกฤษ
ข่าวที่ผมยกมาเป็นเพียงบางส่วนของปัญหาการขาดแคลนงบประมาณของกองทัพอังกฤษเท่านั้น ความจริงมีข่าวออกมาเป็นระยะๆหลายปีแล้ว ที่น่าสนใจคือแม้งบกลาโหมของอังกฤษจะถูกตัดจนแทบไม่สามารถคงความพร้อมรบเอาไว้ได้ แต่อังกฤษก็ยังต้องการดันทุรังแสดงตัวเป็นมหาอำนาจอยู่ ต้องหาทางมีขีดความสามารถในการ power projection แข่งกับรัสเซีย จีน ฯลฯ ให้ได้ จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะมีความพยายามเล่นแร่แปรธาตุตัดงบประมาณในโครงการที่มีความจำเป็นน้อยกว่าเช่นการอัพเกรดรถถัง Challenger 2 ไปเสริมให้โครงการที่มีความจำเป็นสำหรับการ power projection มากกว่า เช่นการจัดหาเครื่องบินขับไล่ก่อน ปัญหาคือแม้การกระทำดังกล่าวอาจช่วยให้อังกฤษดันทุรังเป็นมหาอำนาจต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่ถ้าเกิดเหตุต้องรบจริงขึ้นมา กองทัพอังกฤษน่าจะอยู่ในสภาพพิกลพิการมากทีเดียว มีขีดความสามารถพร้อมไม่กี่ด้านเท่านั้น นอกนั้นโดนตัดงบเป็นง่อยหมด ถือว่าเป็นความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายนี้ครับ
สวัสดี
26.08.2020