ในภาษาต่างประเทศ เช่นภาษาอังกฤษ จะมีการใช้คำสรรพนามที่ปกติจะใช้เรียกคน มาใช้เรียกสิ่งของ ในกรณีของเรือจะถูกเรียกเป็นผู้หญิงหรือ She ไม่ว่าเรือจะมีขนาดใหญ่โตมโหฬารขนาดไหนก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นเรือโดยสารไททานิค (Titanic) ก็ถูกเรียกเป็นผู้หญิงเช่นกัน สาเหตุที่ชาวต่างชาติเรียกเรือเป็นผู้หญิงมีหลายทฤษฎี หนึ่งในนั้นระบุว่าเป็นเพราะชาวเรือมีความเชื่อว่าเรือมีแม่ย่านางคอยคุ้มครองเรือและลูกเรือ เปรียบเสมือนแม่บังเกิดเกล้า การเรียกเรือเป็นผู้หญิงจึงเหมือนเป็นการแสดงความเคารพแม่ย่านางประจำเรือ อย่างไรก็ตามมีเรือประจัญบานลำหนึ่งที่กัปตันเรือมองว่ามีความแข็งแกร่งเกินกว่าจะเป็นผู้หญิง คือเรือประจัญบานบิสมาร์ค (Bismarck) ของเยอรมนี สมัยสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง

เรือประจัญบานบิสมาร์ค ตั้งชื่อตามรัฐบุรุษออตโต ฟอน บิสมาร์ค เริ่มวางกระดูกงูวันที่ 1 กรกฎาคม ปี ค.ศ.1936 ปล่อยลงน้ำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปี 1939 และเข้าประจำการในกองทัพเรือเยอรมัน (Kriegsmarine) วันที่ 24 สิงหาคม ปี 1940 มีระวางขับน้ำสูงสุด 50,300 ตัน เป็นเรือประจัญบานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป และเคยเป็นเรือประจัญบานขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก่อนที่เรือประจัญบานยามาโตะ (Yamato) ของญี่ปุ่นจะเข้าประจำการในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1941 เรือประจัญบานบิสมาร์คหุ้มเกราะหนา ติดอาวุธปืนเรือ 380 มิลลิเมตร 8 กระบอก ในป้อมปืน 4 ป้อม มีปืนรองขนาด 150 มิลลิเมตรอีก 12 กระบอกในป้อมปืน 6 ป้อม นอกจากนี้ยังมีปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 105 มิลลิเมตร, 37 มิลลิเมตรและ 20 มิลลิเมตรรวมกัน 44 กระบอก แอร์นส์ ลินเดมันน์ (Ernst Lindemann) กัปตันเรือประจัญบานบิสมาร์ค มองว่าเรือประจัญบานลำนี้มีแสนยานุภาพแข็งแกร่งเกินกว่าจะเป็นผู้หญิง จึงออกคำสั่งให้นายทหารคนสนิทใช้สรรพนามเรียกเรือประจัญบานบิสมาร์คเป็นผู้ชายหรือ He ต่างจากเรือทั่วไป

แม้เรือประจัญบานบิสมาร์คจะแข็งแกร่งขนาดไหน ก็ใช่ว่าจะไม่มีวันจม ระหว่างปฏิบัติการไรน์อือบุง (Rheinübung) ในเดือนพฤษภาคม ปี 1941 หลังจมเรือลาดตระเวนประจัญบานฮู้ด (Hood) ของอังกฤษได้ เรือประจัญบานบิสมาร์คถูกไล่ล่าจากกองทัพเรืออังกฤษ เครื่องบินตอร์ปิโดซอร์ดฟิช (Swordfish) ของอังกฤษยิงตอร์ปิโดถูกหางเสือของเรือประจัญบานบิสมาร์คเสียหาย ไม่สามารถบังคับเรือได้ แล่นวนเป็นเป้านิ่งให้กองเรือรบอังกฤษระดมยิงใส่ สุดท้ายเมื่อเรือประจัญบานบิสมาร์คได้รับความเสียหายอย่างหนัก หอบังคับการและป้อมปืนใหญ่ถูกทำลายทั้งหมด ไม่สามารถทำการรบต่อไปได้ ลูกเรือก็ตัดสินใจจมเรือตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกอังกฤษยึดได้ มีลูกเรือรอดชีวิตเพียง 115 นายจากทั้งหมดประมาณ 2,000 นาย กัปตันลินเดมันน์จมไปพร้อมกับเรือ ปิดตำนานเรือประจัญบานที่แข็งแกร่งเกินกว่าจะเป็นผู้หญิงแต่เพียงเท่านี้
สวัสดี
28.08.2020
ผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวของเรือประจัญบานบิสมาร์คฉบับเต็มสามารถอ่านได้ในบทความด้านล่าง