เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ.1939 คาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Dönitz) ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำเยอรมันวางแผนส่งเรือดำน้ำหรือเรืออู (U-Boat) เข้าโจมตีฐานทัพเรือสกาปาโฟล์ว (Scapa Flow) ของอังกฤษ มีจุดประสงค์หลัก 2 ข้อคือทลายการปิดอ่าวของอังกฤษทางฝั่งทะเลเหนือ ให้กองทัพเรืออังกฤษเกิดความระส่ำระสาย เปิดทางให้กองทัพเรือเยอรมันออกปฏิบัติการในมหาสมุทรแอตแลนติกได้สะดวกขึ้น และเป็นการแก้แค้นที่กองเรือรบเยอรมันที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดไปหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ต้องทำการจมตัวเองในอ่าวสกาปา โฟล์วในปี ค.ศ.1919
ฐานทัพเรือสกาปา โฟล์ว ตั้งอยู่กลางหมู่เกาะออคนีย์ มีทางเข้าออกหลักเพียง 3 ทาง อ่าวสกาปาโฟล์วมีพื้นที่เพียง 324.5 ตารางกิโลเมตร มีความลึกสูงสุด 60 เมตรและความลึกเฉลี่ยเพียง 30 เมตรเท่านั้น การส่งเรือดำน้ำเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงสูงมาก แต่เพราะสภาพภูมิประเทศที่เอื้อต่อฝ่ายป้องกันสุดๆแบบนี้เอง ส่งผลให้อังกฤษเกิดความชะล่าใจ ไม่ได้บำรุงรักษาแนวป้องกันที่สร้างไว้สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปล่อยให้เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา เปิดโอกาสให้เรือดำน้ำเยอรมันเข้าโจมตีได้ เดอนิทซ์ตัดสินใจเลือกกุนเธอร์ พรีน (Gunther Prien) กัปตันเรืออู-47 เป็นผู้ลงมือปฏิบัติการ

(Bundesarchiv, Bild 183-2006-1130-500 / Schulze, Annelise (Mauritius) / CC-BY-SA 3.0)
เรืออู-47 เป็นเรือดำน้ำแบบ Type VIIB เริ่มวางกระดูกงูในปี ค.ศ.1937 ปล่อยลงน้ำและเข้าประจำการในปี ค.ศ.1938 มีขนาดยาว 66.5 เมตร ระวางขับน้ำขณะแล่นบนผิวน้ำ 753 ตัน ระวางขับน้ำสูงสุดขณะดำน้ำ 857 ตัน ความเร็วสูงสุดบนผิวน้ำ 17.9 น๊อต ความเร็วสูงสุดขณะดำน้ำ 8 น๊อต มีท่อยิงตอร์ปิโด 5 ท่อ (4 ท่อด้านหัวเรือและอีก 1 ท่อด้านท้ายเรือ) บรรทุกตอร์ปิโด 14 ลูก นอกจากนี้ยังมีปืนเรือขนาด 88 มิลลิเมตรและปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 20 มิลลิเมตร ลูกเรือ 44 – 60 นาย เรืออู-47 เป็นหนึ่งในเรือดำน้ำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเยอรมนี ภายในเวลาไม่ถึงสองปีสามารถจมเรือ 31 ลำ ระวางขับน้ำรวม 162,769 ตัน และสร้างความเสียหายให้เรืออีก 8 ลำ ระวางขับน้ำรวม 62,751 ตัน
วันที่ 14 ตุลาคม เรืออู-47 เล็ดลอดเข้าไปในอ่าวสกาปา โฟล์วผ่านซากเรือที่จมขวางร่องน้ำไว้ เข้าไปถึงกลางอ่าว แม้อังกฤษจะเคลื่อนกำลังเรือรบส่วนใหญ่ออกจากฐานทัพไปแล้วโดยที่ฝ่ายเยอรมันไม่ทราบมาก่อน แต่ก็ยังมีเรือรบขนาดใหญ่หลายลำทอดสมออยู่ หนึ่งในนั้นคือเรือประจัญบานรอยัล โอ๊ค (HMS Royal Oak) เรืออู-47 ยิงตอร์ปิโด 4 ลูกใส่รอยัล โอ๊ค แต่มีเหตุขัดข้องส่งผลให้ปล่อยออกไปได้เพียง 3 ลูก ในจำนวนนี้พลาดเป้า 2 ลูก เข้าเป้า 1 ลูก รอยัล โอ๊คได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เรืออู-47 ยิงตอร์ปิโดจากด้านท้ายเรือซ้ำอีก 1 ลูกแต่ก็พลาดเป้าอีก อย่างไรก็ตามเพราะความเสียหายเล็กน้อยนี่แหละ ประกอบกับอังกฤษตรวจไม่พบเรือดำน้ำเยอรมัน ส่งผลให้อังกฤษเข้าใจผิดว่าเป็นอุบัติเหตุธรรมดา ไม่ได้สั่งให้ลูกเรือที่กำลังพักผ่อนเตรียมพร้อมแต่อย่างใด เรืออู-47 จึงได้โอกาสวกกลับมายิงตอร์ปิโดซ้ำอีก 3 ลูก รอบนี้เข้าเป้าอย่างจัง ส่งผลให้รอยัล โอ๊คเกิดการระเบิดขึ้นและจมลงในที่สุด มีลูกเรือเสียชีวิต 835 นาย

เรือประจัญบานรอยัล โอ๊คเป็นเรือเก่าตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระวางขับน้ำสูงสุด 31,130 ตัน วางกระดูกงูและปล่อยลงน้ำในปี ค.ศ.1914 เข้าประจำการปี ค.ศ.1916 ได้รับการปรับปรุงระหว่างปี ค.ศ.1922 – 1924 และระหว่างปี ค.ศ.1934 – 1936 เสริมเกราะเพิ่มเติม รวมถึงติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานและท่อยิงตอร์ปิโดรุ่นใหม่ การที่รอยัล โอ๊คจมไม่ได้ส่งผลต่อกำลังรบของอังกฤษและดุลอำนาจทางทหารกับเยอรมนีมากนัก ความจริงแทบไม่มีผลเลย แต่ที่ได้รับผลกระทบมากคือเกียรติภูมิและขวัญกำลังใจของกองทัพเรืออังกฤษ ที่ถูกเรือดำน้ำข้าศึกบุกเข้ามาจมเรือประจัญบานถึงกลางฐานทัพเรือในอ่าวน้ำตื้นซึ่งมีปราการธรรมชาติเอื้อต่อการป้องกัน ทางฝั่งเยอรมนีก็ใช้ปฏิบัติการครั้งนี้ในการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเต็มที่ เมื่อกัปตันพรีนกลับถึงฐานทัพ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างวีรบุรุษ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) มอบเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินให้พรีนด้วยตัวเอง เรืออู-47 ได้รับฉายาว่าเป็นกระทิงเปลี่ยวแห่งสกาปา โฟล์ว (The Bull of Scapa Flow)
สวัสดี
31.08.2020