
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวจากสื่อ TASS ประธานบริษัทส่งออกอาวุธ Rosoboronexport ของรัสเซียเปิดเผยกับสื่อ ว่าตุรกีเซ็นสัญญาจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ชุดที่สองจากรัสเซียแล้ว เมื่อตุรกีเดินหน้าจัดหา S-400 จากรัสเซียต่อ การจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 จากสหรัฐฯก็แทบเป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญคือช่วงที่ผ่านมา มีข่าวจาก Defense News รายงานว่าสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯเริ่มเพิ่มมาตรการกดดันตุรกี ด้วยการขัดขวางไม่อนุมัติให้สหรัฐฯขายอาวุธอื่นๆให้ตุรกีด้วย ไม่ใช่แค่เครื่องบินขับไล่ F-35 แล้ว ตัวอย่างดีลที่ถูกปัดตกไปเช่นโครงการอัพเกรดเครื่องบินขับไล่ F-16 ของตุรกี และใบอนุญาตส่งออกเครื่องยนต์ของเฮลิคอปเตอร์โจมตี T-129 เป็นต้น เท่ากับว่าปัจจุบันโอกาสที่ตุรกีจะจัดหาอาวุธจากสหรัฐฯได้แทบปิดตาย
ในขณะที่ตุรกีไม่สามารถจัดหาอาวุธจากสหรัฐฯได้ ประเทศเพื่อนบ้านของตุรกีต่างสะสมกำลังรบอย่างขนานใหญ่ ท่ามกลางความตึงเครียดในลิเบียและทะเลเมดิเตอเรเนียนตะวันออก ซึ่งตุรกีมีความขัดแย้งกับแทบทุกประเทศทั้งกรีซ อียิปต์ ไซปรัส ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ ล่าสุดมีข่าวจาก Defense World รายงานว่ากรีซจะจัดหาเครื่องบินขับไล่ Rafale จากฝรั่งเศสจำนวน 18 ลำ ถ้าตุรกีจะจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่มาถ่วงดุล เสริมกำลังให้เครื่องบินขับไล่ F-16C/D และ F4E Phantom II ที่มีอยู่เดิม ตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดขณะนี้ก็มีเพียงเครื่องบินขับไล่ของรัสเซีย

ประธานาธิบดีแอร์โดอันของตุรกีแสดงความสนใจเครื่องบินขับไล่ Su-35 และ Su-57 ของรัสเซียในงาน MAKS-2019 เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ขณะที่รัสเซียก็เสนอแพคเกจให้ตุรกีเต็มที่ รวมถึงเสนอความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ห้า TF-X ของตุรกีด้วย แม้จะมีโอกาสเป็นคู่แข่งของ Su-57 ในอนาคตก็ตาม แต่ผลประโยชน์ที่รัสเซียจะได้ถ้าตุรกีย้ายข้างทิ้ง NATO คุ้มค่ากว่าการขายอาวุธตามปกติมาก แต่ตุรกีก็มีนโยบายของตัวเอง ไม่ต้องการขึ้นกับทั้งสหรัฐฯและรัสเซีย พยายามแสวงหาผลประโยชน์จากทั้งสองฝ่าย เลยยังไม่จัดหายุทโธปกรณ์จากรัสเซียเพิ่มหลังจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ชุดแรกไป เพื่อรักษาสัมพันธ์กับ NATO อย่างไรก็ตามถ้าตุรกีถูกกดดันมากขึ้น โดยเฉพาะจากสหรัฐฯและยุโรป ก็มีโอกาสที่ตุรกีจะต้องจัดหาเครื่องบินขับไล่จากรัสเซียครับ
ในกรณีที่ตุรกีจะจัดหาเครื่องบินขับไล่จากรัสเซียจริง แม้ Su-57 จะเป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ห้า มีขีดความสามารถและความทันสมัยมากกว่า Su-35 แต่ปัจจุบัน Su-35 มีโอกาสขายออกมากกว่า (เคยมีข่าวว่าตุรกีจะจัดหา Su-35 จำนวน 40 ลำ) สาเหตุสำคัญเพราะ Su-57 ยังไม่เข้าประจำการในกองทัพอากาศรัสเซียนั่นเอง ทางรัสเซียก็รู้ข้อนี้ดี สื่อ TASS รายงานว่าในช่วงแรกๆรัสเซียจะเน้นผลิต Su-57 ป้อนให้กองทัพตัวเองก่อน ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าต่างประเทศ (รัสเซียมีแผนจัดหา Su-57 จำนวน 76 ลำภายในปี 2028)
ถ้าตุรกีจัดหาเครื่องบินขับไล่ Su-35 ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปคือความสัมพันธ์กับสหรัฐฯและ NATO ความจริงตุรกีต้องถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรตามกฎหมาย Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act หรือ CAATSA ตั้งแต่ตุรกีจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 จากรัสเซียแล้ว แต่เพราะความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์และแอร์โดอันส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯยังไม่คว่ำบาตรตุรกี เป็นที่มาที่สภาคองเกรสพยายามออกมากดดันนั่นเอง แต่อนาคตนั้นไม่แน่นอน ต่อให้ตุรกีไม่จัดหาอาวุธจากรัสเซียเพิ่ม ถ้าทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง หรือสหรัฐฯเปลี่ยนนโยบาย ตุรกีก็อาจถูกคว่ำบาตรในที่สุดอยู่ดี ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่าถ้าสถานการณ์ตึงเครียดถึงขีดสุด ตุรกีก็คงต้องจัดหา Su-35 จากรัสเซียแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ อย่างไรก็ตามถ้าสถานการณ์ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น ตุรกีก็คงจะพยายามเหยียบเรือสองแคมต่อไป
สวัสดี
02.09.2020