กราฟ เซปเปลิน เรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งเดียวของนาซีเยอรมนี

ภาพเรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซปเปลินหลังปล่อยลงน้ำในปี 1938 ทั้งที่ยังต่อไม่เสร็จ
(Bundesarchiv, Bild 146-1984-097-36 / Urbahns / CC-BY-SA 3.0)

หลังเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กองทัพเยอรมันได้ถูกจำกัดขนาดตามสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles) ห้ามไม่ให้มีเรือรบขนาดใหญ่ รวมถึงห้ามไม่ให้มีเครื่องบินรบด้วย แต่เยอรมนีก็ทำการซ่องสุมกำลังทหาร และพัฒนายุทโธปกรณ์ต่างๆอย่างลับๆรวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบินด้วย จนกระทั่งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) มีอำนาจในปี ค.ศ.1933 และในปี ค.ศ.1935 ก็ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายทิ้งไป ฮิตเลอร์ต้องการฟื้นฟูกองทัพเรือเยอรมันหรือ Kriegsmarine ขึ้นมาใหม่ และเรือบรรทุกเครื่องบินก็เป็นหนึ่งในเรือรบที่เยอรมนีต้องการจัดหาเข้าประจำการ

วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1935 อังกฤษทำข้อตกลงกับเยอรมนี อนุญาตให้เยอรมนีมีเรือรบระวางขับน้ำรวมกันไม่เกิน 35% ของกองทัพเรืออังกฤษ เยอรมนีได้โควตาระวางขับน้ำประมาณ 40,000 ตันสำหรับต่อเรือบรรทุกเครื่องบิน จึงวางแผนเบื้องต้นว่าจะต่อเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ ระวางขับน้ำลำละ 19,000 ตัน แต่ภายหลังเมื่อเป็นที่รับรู้กันว่าฮิตเลอร์ไม่ได้ตั้งใจจะรักษาสัญญาที่ทำไว้กับอังกฤษอยู่แล้ว จึงมีการแก้แบบเรือใหม่เพิ่มระวางขับน้ำเป็น 33,500 ตัน บรรทุกเครื่องบินได้ 42 ลำได้แก่เครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf-109 จำนวน 10 ลำ, เครื่องบินดำทิ้งระเบิด Junkers Ju-87 Stuka จำนวน 12 ลำ และเครื่องบินตอร์ปิโดปีกสองชั้น Fieseler Fi-167 จำนวน 20 ลำ อย่างไรก็ตามภายหลังเยอรมนีมองว่าเครื่องบินปีกสองชั้น Fi-167 นั้นล้าสมัยแล้ว จึงเปลี่ยนจำนวนเครื่องบินรบประจำเรือเป็น Ju-87 จำนวน 30 ลำและ Bf-109 จำนวน 12 ลำแทน เทียบกับเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯและญี่ปุ่นถือว่ามีจำนวนค่อนข้างน้อย

ภาพเครื่องบินตอร์ปิโด Fieseler Fi-167
(Bundesarchiv, Bild 146-1977-110-06 / CC-BY-SA 3.0)

วันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ.1935 เยอรมนีเซ็นสัญญาต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก Flugzeugträger A ซึ่งภายหลังได้รับการตั้งชื่อว่ากราฟ เซปเปลิน (Graf Zeppelin) ตามชื่อผู้คิดค้นเรือเหาะเยอรมัน แต่กว่าจะเริ่มวางกระดูกงูก็ต้องรอถึงวันที่ 28 ธันวาคม เนื่องจากอู่เรือของเยอรมันมีพื้นที่ไม่พอ ต้องรอปล่อยเรือประจัญบานกไนเซเนา (Gneisenau) ลงน้ำก่อน เยอรมนีปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซปเปลินลงน้ำวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1938 เนื่องในโอกาสครบรอบ 24 ปี ยุทธนาวีเกาะฟอล์กแลนด์ระหว่างกองทัพเรืออังกฤษและเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้งที่ยังต่อไม่เสร็จ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ.1939 กราฟ เซปเปลินพึ่งจะต่อไปได้ 85% เท่านั้น สาเหตุหนึ่งที่การต่อกราฟ เซปเปลินเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะเยอรมนียังไม่เห็นความสำคัญของเรือบรรทุกเครื่องบิน แถมเมื่อเกิดสงครามขึ้น ก็มีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดในการทำสงครามมากขึ้น ยิ่งซ้ำเติมให้การต่อกราฟ เซปเปลินล่าช้าขึ้นไปอีกจนกระทั่งหยุดชะงักไปเลย ฝูงบินประจำเรือที่เตรียมจัดตั้งไว้ก็ถูกยุบไปด้วย ในส่วนของเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง Flugzeugträger B ที่ยังต่อไม่เสร็จอยู่ในอู่ก็ถูกแยกชิ้นส่วน เพื่อนำทรัพยากรไปใช้ในการต่อเรือดำน้ำหรือเรืออู (U-Boat) แทน

ในปี ค.ศ.1940 หลังเยอรมนียึดนอร์เวย์ได้ ปรากฏว่ากองทัพเรือเยอรมันมีปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานไม่พอป้องกันตลอดแนวชายฝั่งนอร์เวย์ จึงตัดสินใจถอดปืนต่อสู้อากาศยานของกราฟ เซปเปลินเอาไปใช้ก่อน ส่วนกราฟ เซปเปลินที่ยังต่อไม่เสร็จสมบูรณ์ ก็กลายเป็นเรือเก็บของ เคลื่อนย้ายไปมาในทะเลบอลติก

กว่ากองทัพเรือเยอรมันจะเห็นความสำคัญของเรือบรรทุกเครื่องบินก็เดือนเมษายน ค.ศ.1942 หลังประเทศอื่นๆใช้งานให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว เช่นอังกฤษใช้เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีฐานทัพเรือตารันโตของอิตาลีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1940, เครื่องบินตอร์ปิโดซอร์ดฟิช (Swordfish) ที่ขึ้นบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินอาร์ค รอยัล (Ark Royal) ของอังกฤษมีบทบาทสำคัญในการจมเรือประจัญบานบิสมาร์ค (ฺBismarck) ของเยอรมนีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1941 (ที่น่าสนใจคือถ้าบิสมาร์คมีเครื่องบินขับไล่ Bf-109 จากกราฟ เซปเปลินคอยคุ้มกัน เครื่องบินตอร์ปิโดปีกสองชั้นของอังกฤษจะไม่มีทางเข้าใกล้บิสมาร์คได้เลย) และญี่ปุ่นใช้เครื่องบินรบจากเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ในรัฐฮาวายของสหรัฐฯวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 หลังจากเอริช เรเดอร์ (Erich Raeder) ผู้บัญชาการทหารเรือเยอรมันหารือกับฮิตเลอร์แล้ว ฮิตเลอร์ก็อนุมัติให้เดินหน้าต่อเรือบรรทุกเครื่องบินอีกครั้งในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1942 ปัญหาคือเรเดอร์มองว่าแบบเครื่องบินรบประจำเรือกราฟ เซปเปลินที่วางแผนไว้เดิมนั้นไม่เพียงพอ ต้องการให้มีการพัฒนาเครื่องบินรบรุ่นใหม่สำหรับเรือบรรทุกเครื่องบินโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามเนื่องจากเยอรมนีมีทรัพยากรจำกัด และตอนนั้นกองทัพอากาศเยอรมันก็ต้องกระจายกำลังออกไปถึงสามแนวรบทั้งสหภาพโซเวียต แอฟริกาเหนือ รวมถึงป้องกันการทิ้งระเบิดในยุโรปตะวันตก ไม่สามารถแบ่งทรัพยากรมาได้ สุดท้ายโครงการพัฒนาเครื่องบินรบรุ่นใหม่สำหรับกราฟ เซปเปลินจึงถูกพับไป โดยจะใช้เครื่องบินขับไล่ Bf-109 และเครื่องบินดำทิ้งระเบิด Ju-87 Stuka ที่มีอยู่แล้วมาอัพเกรดเพิ่มเติมแทน ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1942 อังกฤษทำการโจมตีทางอากาศ เล็งเป้าหมายไปที่กราฟ เซปเปลิน แต่กราฟ เซปเปลินเอาตัวรอดมาได้ ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด กราฟ เซปเปลินกลับเข้าอู่แห้งในเดือนธันวาคม เริ่มมีโอกาสที่จะต่อให้เสร็จได้ หลังจากรอมานาน

ภาพเครื่องบินขับไล่ Bf-109 และเครื่องบินดำทิ้งระเบิด Ju-87 Stuka
(Bundesarchiv, Bild 101I-429-0646-31 / Billhardt / CC-BY-SA 3.0)

แม้กราฟ เซปเปลินจะเอาตัวรอดจากการโจมตีทางอากาศของอังกฤษได้ แต่สุดท้ายก็ไม่รอดจากอิทธิฤทธิ์ของฮิตเลอร์ ในเดือนมกราคม ค.ศ.1943 ฮิตเลอร์ไม่พอใจผลงานของกองเรือรบผิวน้ำของเยอรมัน จึงสั่งปลดเรเดอร์ออกจากตำแหน่ง รวมถึงสั่งให้ปลดประจำการเรือรบผิวน้ำทั้งหมด เอาไปแยกชิ้นส่วนทิ้ง แต่ผู้บัญชาการทหารเรือคนใหม่ คาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Dönitz) สามารถเกลี้ยกล่อมฮิตเลอร์ให้ยกเลิกคำสั่งได้ แต่ก็ส่งผลให้การต่อเรือผิวน้ำทั้งหมดรวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบินกราฟ เซปเปลินด้วยหยุดชะงักลงอีกครั้ง กราฟ เซปเปลินถูกนำไปจอดทิ้งไว้เฉยๆเป็นเวลา 2 ปี จนกระทั่งวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1945 เมื่อกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตรุกคืบหน้าใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เยอรมนีจึงตัดสินใจจมเรือกราฟ เซปเปลินทิ้ง เพื่อไม่ให้ตกไปอยู่ในมือโซเวียต

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง สหภาพโซเวียตได้กู้เรือกราฟ เซปเปลินขึ้นมาในเดือนมีนาคม ค.ศ.1946 แต่เมื่อโซเวียตไม่สามารถซ่อมแซมความเสียหายของเรือให้กลับมาใช้งานได้ จึงนำกราฟ เซปเปลินไปเป็นเป้าซ้อม จนกระทั่งจมลงอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ.1947 นอกชายฝั่งโปแลนด์ ซากของกราฟ เซปเปลินถูกค้นพบเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.2006

สวัสดี

03.09.2020

แสดงความคิดเห็น