การยืนหยัดครั้งสุดท้ายของสวิสการ์ด บททดสอบความจงรักภักดี

ภาพสวิสการ์ดในนครวาติกัน วันที่ 20 พฤศจิกายน 2015 (Mykhaylo Palinchak/ 123RF)

สวิสการ์ด (Swiss Guard) เป็นทหารรับจ้าง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1506 ทำหน้าที่รักษาการณ์ในนครวาติกัน และเป็นองครักษ์ของพระสันตะปะปาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 500 ปีแล้ว ขึ้นชื่อในเรื่องของฝีมือและความจงรักภักดี ถึงขนาดได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกองกำลังที่ดีที่สุดในโลก เหตุใดคริสตจักรคาทอลิกจึงให้ความเชื่อมั่นในหน่วยสวิสการ์ด ถึงขนาดใช้เป็นองครักษ์มานานกว่า 500 ปี บทพิสูจน์สำคัญคือเหตุการณ์บุกปล้นกรุงโรมเมื่อปี ค.ศ.1527 ซึ่งสวิสการ์ด 189 นายทำการยืนหยัดครั้งสุดท้าย คุ้มครองพระสันตะปะปาจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีกำลังพลมากกว่า 20,000 นาย

ช่วงต้นศตวรรษที่ 16 จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) มีอิทธิพลมากในยุโรป เพราะจักรพรรดิชาลส์ที่ 5 (Charles V) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทรงดำรงตำแหน่งกษัตริย์แห่งสเปน อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย และลอร์ดแห่งเนเธอร์แลนด์ในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้พระสันตะปะปาคลีเมนต์ที่ 7 (Clement VII) แห่งรัฐสันตะปะปา (Papal States) ในอิตาลี ร่วมมือกับอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อถ่วงดุล แต่ในปี ค.ศ.1525 ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างย่อยยับในสมรภูมิพาเวีย (Battle of Pavia) และกษัตริย์ฟรานซิสที่ 1 (Francis I) ของฝรั่งเศสก็ตกเป็นเชลยด้วย ส่งผลให้เครือข่ายพันธมิตรดังกล่าวล่มสลายลง แม้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จะเป็นฝ่ายชนะสงคราม แต่ปัญหาคือจักรพรรดิชาลส์ที่ 5 ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างทหาร ส่งผลให้ทหารจักรวรรดิโกรธแค้น พากันก่อกบฏขึ้น เมื่อมองไปทางใต้ เห็นกรุงโรมที่พระสันตะปะปาประทับอยู่ก็คิดว่าจะมีทรัพย์สมบัติมหาศาลให้ปล้นชิงได้ง่ายๆ ประกอบกับสมัยนั้นมีการปฏิรูปศาสนาคริสต์ (Reformation) โดยมาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther) เริ่มต้นในรัฐเยอรมันซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ส่งผลให้กำลังพลบางส่วนซึ่งเป็นทหารรับจ้างเยอรมันมองพระสันตะปะปาและคริสตจักรคาทอลิกเป็นผู้ร้ายอยู่แล้ว ว่าแล้วในปี ค.ศ.1527 กองทัพจักรวรรดิซึ่งมีกำลังพลประมาณ 20,000 นาย ประกอบด้วยทหารสเปน 6,000 นาย ทหารรับจ้างเยอรมัน 14,000 นาย และทหารรับจ้างจากอิตาลีอีกจำนวนหนึ่ง ก็พากันเคลื่อนทัพไปที่กรุงโรม ขณะที่กำลังพลของฝ่ายรัฐสันตะปะปามีกองกำลังติดอาวุธเพียง 5,000 นาย และองครักษ์สวิสการ์ดของสันตะปะปาอีก 189 นาย

วันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1527 กองทัพจักรวรรดิเอาชนะกองกำลังติดอาวุธของรัฐสันตะปะปาซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่าและได้รับการฝึกมาไม่ดีพอได้อย่างรวดเร็ว แล้วบุกเข้าปล้นกรุงโรม ขณะที่สวิสการ์ดทำการคุ้มครองพระสันตะปะปาผ่านเส้นทางลับ Passetto di Borgo ไปยังที่ปลอดภัยในปราสาทซันตันเจโล (Castel Sant’Angelo) แม้ฝ่ายตรงข้ามจะมีกำลังพลมากกว่าแบบเทียบกันไม่ติด แต่สวิสการ์ดทั้ง 189 นายก็ไม่ละทิ้งหน้าที่ ในจำนวนนี้ 42 นายคอยอารักขาพระสันตะปะปา ขณะที่อีก 147 นายรักษาที่มั่นสุดท้าย ยืนหยัดตั้งรับการโจมตีของทหารจักรวรรดิ 20,000 นาย ระลอกแล้วระลอกเล่าจนถึงคนสุดท้าย สังหารทหารจักรวรรดิไปหลายพันนาย เปิดโอกาสให้พระสันตะปะปาหลบหนีเข้าไปในปราสาทซันตันเจโลได้สำเร็จ

เหตุการณ์นี้ถือเป็นบททดสอบความจงรักภักดีของหน่วยสวิสการ์ดต่อพระสันตะปะปา ส่งผลให้สวิสการ์ดได้เป็นทหารรักษาการณ์นครรัฐวาติกันและองครักษ์ของพระสันตะปะปามาจนถึงปัจจุบัน พิธีสาบานตนของสวิสการ์ดรุ่นใหม่จะจัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกและย้ำเตือนถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ในปี ค.ศ.2016 วง Sabaton ได้แต่งเพลง The Last Stand มีเนื้อหาเกี่ยวกับการยืนหยัดครั้งสุดท้ายของสวิสการ์ดทั้ง 189 นาย เป็นเพลงหนึ่งในอัลบั้ม The Last Stand

สวัสดี

04.09.2020

เพลง The Last Stand โดยวง Sabaton

แสดงความคิดเห็น