ฝีมือนักบินไทยยิงป้อมบินบี-29 ของสหรัฐฯตกในสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 Superfortress ของสหรัฐฯ (Public Domain)

เครื่องบินทิ้งระเบิด 4 เครื่องยนต์ B-29 Superfortress ของสหรัฐฯ เข้าประจำการในปี ค.ศ.1944 เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีขีดความสามารถมากที่สุดรุ่นหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่สอง มีจุดเด่นคือมีพิสัยบินไกลและมีเพดานบินสูงมาก สูงกว่าเพดานบินของเครื่องบินขับไล่และระยะยิงของปืนต่อสู้อากาศยานในยุคนั้น เรียกว่ามีเครื่องบินขับไล่ไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่สามารถไต่ระดับขึ้นไปสกัด B-29 ได้ แถมเมื่อไต่ระดับเพดานบินขึ้นไปแล้วยังต้องเจอกับห่ากระสุนจากป้อมปืนกลที่ควบคุมด้วยรีโมทจำนวน 4 ป้อมของ B-29 อีก (แต่ละป้อมมีปืนกล 12.7 มิลลิเมตร 2 กระบอก) เรียกได้ว่าการสอย B-29 นั้นทำได้ยากมาก

เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ออกปฏิบัติการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ.1944 เป้าหมายคือประเทศไทยซึ่งขณะนั้นอยู่ฝ่ายอักษะ สาเหตุที่เลือกประเทศไทย เพราะสหรัฐฯต้องการใช้ไทยซึ่งมีขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศค่อนข้างต่ำ เป็นสนามซ้อมก่อนจะไปทิ้งระเบิดญี่ปุ่นนั่นเอง โดย B-29 จำนวน 77 ลำ เข้ามาทิ้งระเบิดโรงงานซ่อมรถไฟของญี่ปุ่น โรงรถจักรบางซื่อ ชุมทางรถไฟมักกะสัน โรงไฟฟ้า และสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) มาถึงกรุงเทพฯเวลาประมาณ 11 โมง ฝ่ายไทยได้ส่งเครื่องบินขับไล่ Ki-43 Hayabusa จำนวน 3 ลำขึ้นไปสกัด แต่ไต่ระดับขึ้นไปไม่ถึงเพดานบินของ B-29 อย่างไรก็ตามการที่มีเครื่องบินขับไล่ของไทยออกปฏิบัติการ ส่งผลให้ B-29 ไม่สามารถลดเพดานบินลงมาได้ ต้องทิ้งระเบิดจากเพดานบินสูง ส่งผลให้ขาดความแม่นยำ (สมัยนั้นยังต้องเล็งเป้าด้วยสายตา) ระเบิดจึงตกแบบสะเปะสะปะ ไม่ทำให้เกิดความเสียหายทางทหารมากนัก จากนั้น B-29 ทั้งหมดก็บินกลับฐาน ขากลับมี B-29 จำนวน 5 ลำเกิดเหตุเครื่องยนต์ขัดข้องตกลงทะเล จึงอาจกล่าวได้ว่าแม้ครั้งนี้ Ki-43 จะไม่สามารถสอย B-29 ลงมาได้ แต่การปรากฏตัวของ Ki-43 ก็เพียงพอที่จะทำให้ภารกิจทิ้งระเบิดของ B-29 ประสบความล้มเหลว

ภาพเครื่องบินขับไล่ Ki-43 Hayabusa ของญี่ปุ่น (Public Domain)

เครื่องบินขับไล่ Ki-43 เป็นเครื่องบินขับไล่ที่ไทยได้รับมาจากญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1943 หลังนายกฯ ญี่ปุ่น พลเอกโตโจ ฮิเดกิ (Hideki Tojo) เยือนกรุงเทพฯ เยี่ยมชมวัดพระแก้ว โตโจประทับใจความงามของวัดพระแก้วมาก ชมว่าเป็นสมบัติล้ำค้า เป็นที่สุดของวัฒนธรรมตะวันออก ต้องใช้ปืนต่อสู้อากาศยานป้องกันวัดพระแก้วจากการทิ้งระเบิด นายพลนากามูระ (Aketo Nakamura) ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นประจำประเทศไทยจึงถือโอกาสร้องเรียนกับโตโจว่าทั้งทหารญี่ปุ่นและทหารไทยมีปืนต่อสู้อากาศยานไม่เพียงพอ หลังโตโจกลับไปไม่นาน ญี่ปุ่นก็ส่งเครื่องบินขับไล่ Ki-43 จำนวน 21 ลำมาให้กองทัพอากาศไทยใช้ป้องกันกรุงเทพฯ

วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1944 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 55 ลำ บินมาจากสนามบินทางใต้ของจีน มุ่งตรงมาทางประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระลอก เป้าหมายคือชุมทางรถไฟบางซื่อ ฝ่ายไทยออกคำสั่งให้เครื่องบินขับไล่ Ki-43 ขึ้นสกัดจำนวน 9 ลำ แต่ตอนนั้นมี Ki-43 อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเพียง 8 ลำ แบ่งเป็น 2 หมู่บินๆ ละ 4 ลำ มีผู้บังคับหมู่บินได้แก่เรืออากาศเอก เทอดศักดิ์ วรทรัพย์ และเรืออากาศตรี ศักดิ์ อินทปุระ อย่างไรก็ตามระหว่างที่กำลังขึ้นบิน เครื่องยนต์ของ Ki-43 ลำหนึ่งก็เกิดเหตุขัดข้องขึ้น สุดท้ายจึงมีเครื่องบินขับไล่ของไทยขึ้นบินจริงๆเพียง 7 ลำเท่านั้น รวมถึงมีเครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่นมาช่วยอีกจำนวนหนึ่ง

การรบทางอากาศเป็นไปอย่างดุเดือด คราวนี้เรืออากาศเอก เทอดศักดิ์ บังคับเครื่องบินขับไล่ Ki-43 พยายามไต่ระดับขึ้นไปถึงเพดานบินของเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ไล่ติดตามยิง B-29 ที่กำลังบินกลับฐานไปจนกระสุนหมด ส่งผลให้ B-29 ลำหนึ่งเกิดไฟไหม้จนตกในอ่าวเบงกอลในที่สุด แต่ Ki-43 ของเรืออากาศเอก เทอดศักดิ์ ก็ถูกปืนกลของ B-29 ยิงสวนมา ได้รับความเสียหายไฟไหม้ จนต้องสละเครื่องเช่นกัน เรืออากาศเอก เทอดศักดิ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส โดดร่มลงในป่า บริเวณอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ต้องเดินป่าคืนหนึ่งจึงจะพบผู้คน หลังจากนั้นก็ต้องนั่งระแทะมาอีก 2 วัน จึงจะถึงทางรถไฟ กลับมารักษาพยาบาลที่กรุงเทพฯ เรืออากาศเอก เทอดศักดิ์ เสืออากาศของกองทัพอากาศไทย เป็นนักบินเครื่องบินขับไล่คนแรกที่ยิงเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ตกในสงครามโลกครั้งที่สอง

สวัสดี

06.09.2020

แสดงความคิดเห็น