ฝ่ากำแพงแอตแลนติก: เครื่องกีดขวางของเยอรมันบนชายหาดนอร์มังดี

หลังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ออกคำสั่งหมายเลข 40 (Führer’s directives No.40) ในปี ค.ศ.1942 ให้กองทัพเยอรมันสร้างแนวป้องกันตามแนวชายฝั่งยุโรปตะวันตกเรียกว่า “กำแพงแอตแลนติก” (Atlantic Wall) เพื่อป้องกันการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตร และภายหลังก็ได้แต่งตั้งจอมพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) เป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพบี (Army Group B) ในปี ค.ศ.1943 รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือของฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ เครื่องมือหนึ่งที่รอมเมลนำมาใช้ในแนวป้องกันชายฝั่งก็คือเครื่องกีดขวางจำนวนมากหลากหลายประเภท เพื่อให้การยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นไปอย่างยากลำบากที่สุด ท่ามกลางการระดมยิงของทหารเยอรมัน

เครื่องกีดขวางแรกสุดคือ “ประตูเบลเยียม” (Belgian Gate) มีลักษณะคล้ายประตู ทำจากเหล็ก มีขนาดกว้าง 3 เมตร สูง 2 เมตร คิดค้นโดยนายทหารฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1933 ออกแบบมาไว้กีดขวางรถถังในแนวมายิโนต์ (Maginot Line) เยอรมนีนำมาใช้เป็นเครื่องกีดขวางเรือยกพลขึ้นบกในกำแพงแอตแลนติก โดยบางส่วนมีการติดตั้งกับระเบิดไว้ด้วย เมื่อเรือยกพลแล่นมาชนก็จะเกิดการระเบิดขึ้น

ภาพ “ประตูเบลเยียม” ทำด้วยเหล็กและอาจมีการติดกับระเบิดไว้ด้วย (Ibiblio/ Public Domain)

ถัดมาคือ “งาแซง” ทำจากท่อนซุง ตั้งเป็นแนวลาดเอียง เวลาน้ำขึ้นจะมองไม่เห็น มีเพียงส่วนปลายเรี่ยอยู่ที่ผิวน้ำเท่านั้น เมื่อเรือยกพลขึ้นบกแล่นมาชนเข้าก็จะถูกเสยขึ้นไปติดอยู่ด้านบน ไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อได้ ส่งผลให้ทหารบนเรือต้องกระโดดลงน้ำ กลายเป็นเป้าให้ทหารเยอรมันที่ป้องกันชายหาดอยู่ รวมถึงอาจถูกอาวุธประจำกายและสัมภาระของตัวเองถ่วงน้ำหนักจนจมน้ำด้วย

ภาพจอมพลเออร์วิน รอมเมลและคณะตรวจเยี่ยมแนวเครื่องกีดขวางบนชายหาดฝรั่งเศสและเบลเยียม เครื่องกีดขวางในภาพได้แก่ “งาแซง” ทำจากท่อนซุง รวมถึงมี “ประตูเบลเยียม” และ “เม่นทะเล” อีกจำนวนหนึ่ง (Bundesarchiv, Bild 101I-719-0243-33 / Jesse / CC-BY-SA 3.0)

เครื่องกีดขวางอีกประเภทหนึ่งที่ใช้งานคู่กับประตูเบลเยียมและงาแซงคือ “เม่นทะเล” (Czech hedgehog) ทำจากเหล็กรางรถไฟ 3 ท่อนเชื่อมเข้าด้วยกัน ออกแบบมาใช้กีดขวางรถถัง แต่ในกำแพงแอตแลนติก เยอรมนีนำเม่นทะเลมาใช้ดักเรือยกพลขึ้นบก โดยเวลาน้ำขึ้นจะมองไม่เห็นเม่นทะเล มีเพียงปลายแหลมโผล่เรี่ยผิวน้ำเท่านั้น เมื่อเรือยกพลขึ้นบกแล่นผ่าน ท้องเรือก็จะถูกฉีกขาด

ภาพ “เม่นทะเล” ทำจากเหล็กรางรถไฟ 3 ท่อนเชื่อมเข้าด้วยกัน
(Bundesarchiv, Bild 101I-719-0240-26 / Jesse / CC-BY-SA 3.0)
แนว “เม่นทะเล” บริเวณชายหาดเมืองท่าคาเลส์ในฝรั่งเศส
(Bundesarchiv, Bild 101I-719-0240-05 / Jesse / CC-BY-SA 3.0)

จะเห็นได้ว่าทั้งประตูเบลเยียม งาแซง และเม่นทะเล เป็นเครื่องกีดขวางที่วางไว้เพื่อสกัดเรือยกพลขึ้นบกเวลาน้ำขึ้น เนื่องจากรอมเมลเชื่อว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกเวลาน้ำขึ้น เพื่อลดระยะทางและเวลาที่ทหารจะต้องเคลื่อนที่บนชายหาดให้เหลือน้อยที่สุด

หลังข้าศึกลงจากเรือยกพลขึ้นบกแล้ว ก็จะเจอเครื่องกีดขวางถัดมาคือทุ่งกับระเบิด ทั้งกับระเบิดสังหารบุคคลและทุ่นระเบิดดักรถถัง เมื่อถึงช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ.1944 ทหารเยอรมันได้วางกับระเบิดตลอดแนวชายฝั่งฝรั่งเศสไว้มากกว่า 5 – 6 ล้านลูก ถัดจากทุ่งกับระเบิดเข้ามาก็มีแนวรั้วลวดหนามเป็นเครื่องกีดขวางสุดท้าย ก่อนจะเข้าถึงแนวสนามเพลาะและบังเกอร์ของทหารเยอรมัน เน้นย้ำอีกครั้งว่าความพยายามฝ่าเครื่องกีดขวางทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นท่ามกลางการระดมยิงของทั้งปืนใหญ่ ปืน ค. ปืนกล ปืนไรเฟิล ฯลฯ ของทหารเยอรมันที่ป้องกันหาดอยู่

ภาพทุ่นระเบิดดักรถถังของเยอรมัน (Wikimedia Commons/ Public Domain)

เมื่อเห็นว่าทหารเยอรมันได้วางเครื่องกีดขวางสำหรับสกัดเรือยกพลขึ้นบกเวลาน้ำขึ้นทั้งประตูเบลเยียม งาแซง และเม่นทะเลไว้จำนวนมาก กองบัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเปลี่ยนแผนใหม่ ให้ทำการยกพลขึ้นบกเวลาน้ำลงแทน เพื่อตัดปัญหา แม้ทหารจะต้องเคลื่อนที่ไกลขึ้นหลังลงจากเรือ แต่ก็สามารถอาศัยเครื่องกีดขวางเหล่านี้เป็นที่กำบังได้

สำหรับการทำลายกับระเบิดและรั้วลวดหนาม ฝ่ายสัมพันธมิตรได้พัฒนารถถังเชอร์แมน (Sherman) รุ่นพิเศษขึ้นมาเรียกว่า Sherman Crab มีการติดระบบสายโซ่ไว้ที่ด้านหน้าตัวรถ เมื่อเปิดใช้งานสายโซ่ก็จะหมุนฟาดลงไปบนพื้น ส่งผลให้กับระเบิดเกิดการระเบิดขึ้น เคลียร์เส้นทางให้รถถังและทหารราบเคลื่อนที่ผ่านได้ และสามารถใช้ตัดลวดหนามได้ด้วย รถถังยังเป็นกำลังรบสำคัญในการยิงสนับสนุนทหารราบฝ่ายสัมพันธมิตรบุกฝ่าแนวสนามเพลาะและบังเกอร์ของทหารเยอรมัน

ภาพรถถัง Sherman Crab ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์รถถังโบวิงตัน ประเทศอังกฤษ (Makizox/ Wikimedia Commons)

จะเห็นได้ว่าในปฏิบัติการทางทหารจะต้องมีการใช้ยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงพัฒนายุทโธปกรณ์รุ่นใหม่มาชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา แม้การยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์ (D-Day) 6 มิถุนายน ค.ศ.1944 ที่หาดนอร์มังดี จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ทั้งสองฝ่ายต้องใช้เวลาเตรียมตัวก่อนหน้านั้นหลายปี การที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถหาข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับเครื่องกีดขวางและแนวป้องกันของทหารเยอรมันบนชายหาด รวมถึงคิดค้นยุทธวิธีและยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ๆออกมาแก้ทาง เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้วันดี-เดย์ประสบความสำเร็จ

สวัสดี

07.09.2020

แสดงความคิดเห็น