จอมพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) เป็นหนึ่งในนายทหารเยอรมันที่มีชื่อเสียงที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง จากการเป็นผู้บัญชาการกองทัพน้อยแอฟริกา (Afrika Korps) ในสมรภูมิกลางทะเลทรายแอฟริกาเหนือระหว่างปี ค.ศ.1941 – 1943 นำกองกำลังผสมเยอรมนี-อิตาลี ไล่ตีกองทัพอังกฤษและพันธมิตรถอยร่นจากลิเบียไปถึงอียิปต์ เป็นที่มาของฉายาจิ้งจอกทะเลทราย (Desert Fox) อย่างไรก็ตามแม้รอมเมลจะมีชื่อเสียงจากสมรภูมิแอฟริกาเหนือ แต่ความจริงรอมเมลเริ่มแสดงผลงานมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1940 ขณะมียศเป็นพลตรี บัญชาการกองพลพันเซอร์ที่ 7 (7th Panzer Division) บุกยุโรปตะวันตก

(Bundesarchiv, Bild 101I-124-0242-24 / Gutjahr / CC-BY-SA 3.0)
กองพลพันเซอร์ที่ 7 มีกำลังพล 20,000 นาย รถถัง 200 คัน รถจักรยานยนต์และยานยนต์อื่นๆอีก 2,000 คัน เดิมคือกองพลเบาที่ 2 (2nd Light Division) ถูกปรับกำลังใหม่ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1939 หลังการบุกโปแลนด์ เนื่องจากเยอรมนีมองว่ากองพลเบามีขีดความสามารถไม่เพียงพอ นายทหารที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองพลพันเซอร์ที่ 7 ก็คือพลตรีเออร์วิน รอมเมล ส่งตรงมาจากกองบัญชาการของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1940 รอมเมลเคยเป็นนายทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในปี ค.ศ.1937 รอมเมลได้เขียนหนังสือ Infantry Attacks เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับยุทธวิธีทหารราบ (ฉบับแปลภาษาไทยชื่อ บันทึกจากแนวรบ แปลโดยสรศักดิ์ สุบงกช สำนักพิมพ์ยิปซี) ส่งผลให้มีชื่อเสียงมาก
กองทัพเยอรมันเริ่มปฏิบัติการบุกยุโรปตะวันตก วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ.1940 กองพลพันเซอร์ที่ 7 ใช้เวลาเพียงสามวัน ก็สามารถรุกผ่านชายแดนเบลเยียมไปจนถึงแม่น้ำเมิส (Meuse) เป็นกองพลแรก นายพลเอวัลด์ ฟอน ไคลสท์ (Ewald von Kleist) ผู้บัญชาการหน่วยยานเกราะเยอรมันออกคำสั่งให้หยุดพัก ให้ทหารเยอรมันมีโอกาสจัดกำลังใหม่ รอการสนับสนุนทางอากาศก่อนจะข้ามแม่น้ำเมิส แต่รอมเมลไม่สนใจ รอมเมลมองว่ายุทธวิธีที่ดีที่สุดคือการรุกอย่างรวดเร็วไม่ให้ข้าศึกมีโอกาสตั้งตัว “การรุกอย่างรวดเร็วเป็นทั้งดาบและโล่” รอมเมลสั่งให้กองพลพันเซอร์ที่ 7 บุกข้ามแม่น้ำเมิสในทันที ท่ามกลางการระดมยิงอย่างรุนแรงของทหารฝรั่งเศส โดยรอมเมลมาบัญชาการที่แนวหน้าด้วยตนเอง เมื่อข้ามแม่น้ำเมิสได้แล้ว กองพลพันเซอร์ที่ 7 ก็มุ่งหน้าไปยังส่วนต่อขยายของแนวมายิโนต์ (Maginot line)
ส่วนต่อขยายของแนวมายิโนต์บริเวณชายแดนฝรั่งเศส-เบลเยียม แม้จะไม่เข้มแข็งเท่าแนวมายิโนต์ที่กั้นชายแดนฝรั่งเศส-เยอรมนี แต่ก็มีแนวป้องกันแน่นหนาทั้งบังเกอร์ คูดักรถถัง รั้วลวดหนาม ฯลฯ ตามหลักนิยมของเยอรมัน การกวาดล้างแนวป้องกันดังกล่าวเป็นภารกิจของทหารราบ นายพลแฮร์มาน โฮธ (Herrmann Hoth) ผู้บังคับบัญชาของรอมเมลจึงออกคำสั่งให้รอมเมลหยุดการรุกไว้ชั่วคราว รอทหารราบก่อน แต่หลังจากนั้นช่วงเย็นวันที่ 16 พฤษภาคม โฮธก็ออกคำสั่งใหม่สั้นๆอนุญาตให้รอมเมล “หยั่งเชิง” แนวป้องกันของฝรั่งเศสได้ ผ่านไปสักพักโฮธก็เหมือนจะนึกบางอย่างออก รีบสั่งย้ำอีกครั้งว่าที่บอกว่าให้หยั่งเชิงแนวป้องกันของฝรั่งเศสได้นั้นไม่ได้หมายความว่าให้บุกเข้าไป แต่ถึงตอนนี้รอมเมลหายตัวไปแล้ว รอมเมลสั่งให้รถถังของกองพลพันเซอร์ที่ 7 บุกเข้าตีที่มั่นของฝรั่งเศสอย่างรุนแรงในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทหารฝรั่งเศสนึกไม่ถึงมาก่อน
เมื่อทะลวงผ่านส่วนขยายของแนวมายิโนต์มาแล้ว ชายแดนฝรั่งเศสก็เปิดโล่ง รอมเมลไม่รอช้า สั่งให้ทำการรุกต่อทันที ระหว่างทางรอมเมลได้พบกับกองพลยานเกราะที่ 5 ของฝรั่งเศส ซึ่งยังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ทหารฝรั่งเศสจอดรถถังและรถบรรทุกไว้ข้างทางอย่างเป็นระเบียบแล้วพากันนอนพัก เมื่อกองพลพันเซอร์ที่ 7 เคลื่อนผ่านมาจึงกวาดล้างหน่วยยานเกราะฝรั่งเศสได้อย่างง่ายดาย ทหารฝรั่งเศสซึ่งถูกโจมตีโดยไม่ทันตั้งตัววิ่งหนีแตกกระจายไปคนละทิศละทาง รอมเมลมาถึงที่หมายคือเมืองอเวียเนส (Avesnes) ในช่วงเช้า ใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมง สามารถรุกเข้าไปหลังแนวของฝรั่งเศสเป็นระยะทางถึง 50 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามการที่รอมเมลเอาแต่บุกตะลุยไปข้างหน้า ส่งผลให้กำลังพลของกองพลพันเซอร์ที่ 7 ก็ตามรอมเมลไม่ทันเหมือนกัน ถึงตอนนี้รอมเมลพบว่าตัวเองอยู่กับรถถังและรถจักรยานยนต์ไม่กี่คันเท่านั้น น้ำมันและกระสุนก็ใกล้จะหมด ส่วนกำลังพลส่วนใหญ่ของกองพลพันเซอร์ที่ 7 ยังอยู่ที่ส่วนต่อขยายของแนวมายิโนต์หรือแม้แต่ในเบลเยียม รอมเมลจึงส่งให้ทหารชุดนี้รักษาแนวป้องกันไว้ ส่วนตัวรอมเมลขึ้นรถหุ้มเกราะบึ่งกลับไปเชื่อมต่อกับกำลังหลัก

ถึงตอนนี้กองทัพฝรั่งเศสอยู่ในสภาพสับสนอลหม่าน มีข่าวลือแพร่กระจายไปทั่วว่ากองทัพเยอรมันจำนวนมากบุกทะลักแนวป้องกันของฝรั่งเศสเข้ามาแล้ว กองบัญชาการของฝรั่งเศสไม่รู้ว่าตอนนี้กองพลพันเซอร์ที่ 7 อยู่ที่ไหนกันแน่ กองบัญชาการเยอรมันก็มืดแปดด้านเหมือนกัน ระหว่างทางกลับไปหากำลังหลัก รอมเมลพบกับทหารฝรั่งเศสหลายหน่วย ซึ่งพากันเสียขวัญแตกกระจายเมื่ออยู่ๆก็มียานเกราะเยอรมันโผล่มาจากด้านหลัง ครั้งหนึ่งรอมเมลพบกับขบวนรถบรรทุกของทหารฝรั่งเศสจำนวน 40 คัน รอมเมลสั่งให้พลขับรถหุ้มเกราะเข้าไปขวางด้านหน้าขบวน แล้วรอมเมลในเครื่องแบบนายทหารเยอรมันเต็มยศก็ออกคำสั่งบลัฟให้ทหารฝรั่งเศสยอมแพ้ ซึ่งทหารฝรั่งเศสที่กำลังแตกตื่นก็ยอมแพ้จริงๆ ปฏิบัติการของรอมเมลส่งผลให้กองพลพันเซอร์ที่ 7 ได้รับฉายาภาษาฝรั่งเศสว่า Division Fantôme กองพลปีศาจหรือภาษาอังกฤษคือ Ghost Division กองพลผี ฮิตเลอร์มอบเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินให้รอมเมล
หลังเชื่อมต่อกับกำลังหลักของกองพลพันเซอร์ที่ 7 แล้ว หน่วยของรอมเมลก็เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของเยอรมันในการพิชิตฝรั่งเศส มีส่วนร่วมในสมรภูมิอาร์ราส (Arras) ในวันที่ 20 พฤษภาคม ตั้งรับการโจมตีตอบโต้จากรถถัง Matilda II ของอังกฤษ ซึ่งในสมรภูมิแห่งนี้เองที่ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 88 มิลลิเมตร Flak 36 ของเยอรมันได้แสดงขีดความสามารถในฐานะอาวุธต่อสู้รถถังที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่สอง กองพลพันเซอร์ที่ 7 รุกต่อไปทางภาคเหนือของฝรั่งเศส จนกระทั่งวันที่ 17 มิถุนายนก็ได้รับคำสั่งให้บุกยึดเมืองท่าเชอร์บูร์ก (Cherbourg) กองพลพันเซอร์ที่ 7 สามารถเคลื่อนกำลังได้เป็นระยะทางกว่า 240 กิโลเมตร ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง
หลังฝรั่งเศสยอมจำนน ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ.1941 รอมเมลก็ได้เลื่อนยศเป็นพลโท บัญชาการกองทัพน้อยแอฟริกาหรือ Afrika Korps ในสมรภูมิแอฟริกาเหนือ ซึ่งรอมเมลจะมีชื่อเสียงโด่งดังจนได้เลื่อนยศเป็นจอมพล มีฉายาว่าจิ้งจอกทะเลทราย ส่วนกองพลพันเซอร์ที่ 7 หลังรอมเมลไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาแล้ว ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแนวรบด้านตะวันออกกับสหภาพโซเวียตจนสิ้นสุดสงคราม
ในปี ค.ศ.2008 วง Sabaton ได้แต่งเพลง Ghost Division เป็นส่วนหนึ่งของอัลบั้ม The Art of War มีเนื้อหาเกี่ยวกับปฏิบัติการของกองพลพันเซอร์ที่ 7 ในฝรั่งเศส
สวัสดี
17.09.2020