StuG III ยานเกราะที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพปืนใหญ่อัตตาจร Sturmgeschütz III หรือ StuG III (Pitkäkaula/ Wikimedia Commons)

เมื่อกล่าวถึงยานเกราะของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงรถถังหนักเช่นรถถัง Tiger I และ King Tiger ซึ่งหุ้มเกราะหนา อำนาจการยิงรุนแรง สามารถทำลายรถถัง M4 Sherman ของสหรัฐฯหรือ T-34 ของสหภาพโซเวียตได้ในนัดเดียวจากระยะไกล ในขณะที่รถถังฝ่ายสัมพันธมิตรต้องเข้ามาประชิด จึงจะมีโอกาสทำลายรถถังเยอรมันในระยะใกล้ได้ นี่คือภาพจำของหลายคนเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งถูกตอกย้ำด้วยภาพยนตร์เช่นเรื่อง Fury แต่ความจริงแล้วรถถังหนักของเยอรมันไม่ได้มีขีดความสามารถไร้เทียมทานขนาดนั้น แถมยังผลิตออกมาน้อย และต้องการการซ่อมบำรุงมาก ส่งผลให้จำนวนรถถังหนักของเยอรมันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเผชิญหน้าด้วยในแต่ละสมรภูมิจริงๆแล้วมีน้อยมาก ยานเกราะที่อาจถือเป็นกระดูกสันหลังของกองทัพเยอรมันโดยเฉพาะช่วงปลายสงครามคือปืนใหญ่อัตตาจร หนึ่งในนั้นคือ Sturmgeschütz III (แปลตรงตัวคือปืนจู่โจม Assault Gun) หรือ StuG III ถูกผลิตออกมาตลอดสงครามประมาณ 10,000 คัน มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากรถกึ่งสายพาน Sd.Kfz.251 และเป็นยานเกราะเยอรมันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง

ปืนใหญ่อัตตาจร StuG ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตร ใช้ตัวรถเดียวกับรถถัง Panzer III ที่ถอดป้อมปืนออก ส่งผลให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเยอรมนีพัฒนา StuG III ขึ้นมาระหว่างสงคราม เพื่อแทนที่รถถัง Panzer III หลังจากปืนใหญ่ขนาด 50 มิลลิเมตรของ Panzer III ไม่เพียงพอสำหรับรับมือรถถังรุ่นใหม่ๆของฝ่ายสัมพันธมิตรเช่น T-34 และ KV-1 ของโซเวียตและ Sherman ของสหรัฐฯ แต่ความจริงแล้ว StuG III ถูกพัฒนาควบคู่มากับรถถัง Panzer III และ Panzer IV ในช่วงทศวรรษ 1930 ตั้งแต่แรก โดยแนวคิดของนายทหารคนละท่าน ออกแบบมาสำหรับคนละภารกิจ

รถถัง Panzer III และ Panzer IV ถูกพัฒนาขึ้นมาตามแนวคิดของนายพลไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) บิดาแห่งหน่วยยานเกราะเยอรมัน โดยกูเดเรียนต้องการใช้รถถัง Panzer III ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตร (ภายหลังเปลี่ยนเป็นขนาด 50 มิลลิเมตร) สำหรับต่อสู้รถถัง และรถถัง Panzer IV ติดอาวุธปืนใหญ่ลำกล้องสั้นขนาด 75 มิลลิเมตรสำหรับสนับสนุนทหารราบ เป็นกำลังรบหลักของหน่วยยานเกราะเยอรมันในสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) ขณะที่ปืนใหญ่อัตตาจร StuG III ถูกพัฒนาขึ้นมาตามแนวคิดของนายพลเอริช ฟอน มันชไตน์ (Erich von Manstein) ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรลำกล้องสั้นสำหรับสนับสนุนทหารราบในการทำลายบังเกอร์และรังปืนกลของข้าศึก อ้างอิงจากประสบการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ปืนใหญ่ลากจูงย้ายที่ตั้งได้ช้า ไม่สามารถสนับสนุนการรุกของทหารราบได้ทันท่วงที ส่งผลให้สงครามสนามเพลาะชะงักงัน จะเห็นได้ว่าภารกิจของ StuG III และ Panzer IV นั้นซ้ำซ้อนกัน ประกอบกับทรัพยากรของเยอรมนีมีจำกัด ส่งผลให้การพัฒนายานเกราะของเยอรมันล่าช้าออกไปด้วย กว่า StuG III จะถูกนำออกมาใช้งานครั้งแรกก็ช่วงกลางปี ค.ศ.1940 ระหว่างการบุกฝรั่งเศส ใช้ทำลายบังเกอร์ของฝรั่งเศสบริเวณชายแดนเบลเยียม ด้วยปืนใหญ่ 75 มิลลิเมตรลำกล้องสั้น ตามหลักนิยมที่มันชไตน์ออกแบบไว้

อย่างไรก็ตามบทบาทของ StuG III เปลี่ยนแปลงไประหว่างการบุกสหภาพโซเวียตตามปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) ในปี ค.ศ.1941 รถถัง Panzer III ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 50 มิลลิเมตร ไม่สามารถเจาะเกราะรถถัง T-34, KV-1 และ KV-2 ของโซเวียตได้ แถมป้อมปืนของ Panzer III ก็ไม่สามารถขยายขนาดได้แล้ว เพราะจะมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่ตัวรถจะรับได้ StuG III ซึ่งเปลี่ยนอาวุธเป็นปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรลำกล้องยาวสำหรับต่อสู้รถถังจึงขึ้นมามีบทบาทแทน ทรัพยากรที่ใช้กับ Panzer III เดิมก็ถูกนำไปใช้กับ StuG III แทน ส่วนรถถัง Panzer IV ซึ่งภายหลังก็เปลี่ยนอาวุธเป็นปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรลำกล้องยาวเช่นเดียวกัน ก็ได้เป็นม้างานหลักของหน่วยยานเกราะเยอรมันจนสิ้นสุดสงคราม

จุดเด่นของ StuG III ในฐานะยานเกราะล่ารถถัง (Tank Destroyer) คือมีรูปร่างเตี้ย เนื่องจากไม่มีป้อมปืน ส่งผลให้ง่ายต่อการซ่อนพราง ยากที่ฝ่ายตรงข้ามจะสังเกตเห็น และปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตร ลำกล้องยาว ก็มีขีดความสามารถพอจะทำลายยานเกราะฝ่ายสัมพันธมิตรได้เกือบทุกรุ่น การที่ไม่มีป้อมปืนยังส่งผลให้ StuG III มีราคาถูก สายการผลิตไม่ซับซ้อน สามารถผลิตออกมาได้จำนวนมากในเวลารวดเร็ว อย่างไรก็ตามการที่ StuG III ไม่มีป้อมปืนก็เป็นจุดด้อยเช่นเดียวกัน เพราะหมายความว่าการจะปรับปืนเล็งเป้าหมายนั้น StuG III ต้องหมุนตัวรถทั้งคัน แม้ตัวรถของรถถัง Panzer III จะหันทิศทางได้ค่อนข้างคล่องตัวกว่ารถถังหลายรุ่นในยุคนั้น แต่ก็ไม่สะดวกอยู่ดี โดยเฉพาะในกรณีที่ StuG III เป็นฝ่ายรุกเข้าหาข้าศึก แทนที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับซ่อนพรางอยู่ในที่กำบัง

StuG III สามารถทำลายรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรได้จำนวนมาก เฉพาะในปี ค.ศ.1944 เยอรมนีอ้างว่า StuG III สามารถทำลายรถถังได้มากกว่า 20,000 คัน มากกว่าตัวเลขของทั้งรถถัง Panther และ Tiger I รวมกันเสียอีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะ StuG III ถูกผลิตออกมาจำนวนมากกว่าและถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกแนวรบ จึงมีโอกาสปะทะกับรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่านั่นเอง อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวก็เป็นเครื่องยืนยันถึงขีดความสามารถของ StuG III โดยตัวของมันเอง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า StuG III นั้นเป็นยานเกราะที่ถูกสร้างออกมาโดยเน้นคุณสมบัติเรื่องมีราคาถูก ไม่ซับซ้อนเป็นหลัก

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง หลายประเทศในยุโรปเช่นฝรั่งเศส นอร์เวย์ สเปน ฯลฯ ยังคงใช้งาน StuG III ที่ยึดได้จากเยอรมนีจนถึงช่วงต้นยุค 50 สหภาพโซเวียตก็มอบ StuG III ที่ยึดได้ให้ประเทศในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) เช่นกัน บางส่วนถูกขายให้ซีเรียใช้รบกับอิสราเอลในสงครามหกวันในปี ค.ศ.1967

สวัสดี

20.09.2020

แสดงความคิดเห็น