
(Vassia Atanassova – Spiritia/ Wikimedia Commons)
เชโกสโลวาเกีย (Czechoslovakia) เป็นประเทศเกิดใหม่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แยกตัวออกมาจากจัรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเดิม มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ โดยมีแคว้นหนึ่งชื่อแคว้นซูเดเตนลันด์ (Sudetenland) มีคนเชื้อสายเยอรมันอาศัยอยู่มาก หลังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผนวกออสเตรียในเดือนมีนาคม ค.ศ.1938 จึงเล็งเป้าหมายจะผนวกซูเดเตนลันด์เป็นอันดับถัดไป ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ซูเดเตนลันด์ ต่อมาวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1938 อังกฤษและฝรั่งเศสก็ยอมตามข้อเรียกร้องของฮิตเลอร์ทำข้อตกลงมิวนิก (Munich Agreement) ซึ่งชาวเช็กเรียกว่าการทรยศที่มิวนิก (Munich Betrayal) ให้เยอรมนีผนวกซูเดเตนลันด์ได้ แต่ทว่าสุดท้ายเยอรมนีก็ผนวกเชโกสโลวาเกียทั้งประเทศในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ.1939 โดยจัดให้แคว้นโบฮีเมียและโมราเวียเป็นรัฐอารักขาของเยอรมนี ส่วนสโลวาเกียเป็นประเทศบริวาร
การที่เยอรมนีสามารถยึดครองเชโกสโลวาเกียได้ในปี ค.ศ.1938 – 1939 นอกจากจะส่งผลให้เยอรมนีได้ดินแดนและประชากรเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เยอรมนีเข้าถึงโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยหลายรุ่น หนึ่งในนั้นคือรถถังเบา LT vz.38 หรือที่เยอรมันเรียกว่า Panzerkampfwagen 38(t) หรือเรียกสั้นๆว่า Panzer 38(t) ด้วย
รถถังเบา Panzer 38(t) มีน้ำหนัก 9.8 ตัน ใช้พลประจำรถ 4 นาย (ผู้บังคับการรถซึ่งรับหน้าที่พลยิงด้วย, พลบรรจุ, พลขับ และพลวิทยุ)ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตร และปืนกลขนาด 7.92 มิลลิเมตร 2 กระบอก ใช้เครื่องยนต์ขนาด 123.3 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 42 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการไกลสุด 250 กิโลเมตร จะเห็นได้ว่า Panzer 38(t) มีอำนาจการยิงเทียบเท่ารถถัง Panzer III รุ่นแรกๆซึ่งเป็นรถถังกลางเลยทีเดียว แถมยังมีความเร็วและความคล่องตัวมากกว่าด้วย ถือว่าเป็นกำลังเสริมให้หน่วยยานเกราะเยอรมันซึ่งมีรถถัง Panzer III และ Panzer IV ไม่เพียงพอต่อการใช้งานได้เป็นอย่างดี โดยภารกิจหลักของ Panzer 38(t) คือการบุกทะลวงเข้าไปป่วนแนวหลังข้าศึก อาศัยความเร็วให้เป็นประโยชน์ หลีกเลี่ยงการปะทะกับยานเกราะข้าศึกซึ่งหน้า เนื่องจากมีเกราะบาง (การปราบยานเกราะข้าศึกเป็นภารกิจของ Panzer III)
รถถังเบา Panzer 38(t) เป็นกำลังรบหลักของกองพลพันเซอร์ที่ 7 (7th Panzer Division) ฉายากองพลปีศาจ (division fantôme) หรือกองพลผี (Ghost Division) ของพลตรีเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ในการบุกยุโรปตะวันตกและฝรั่งเศสช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ค.ศ.1940 จากจำนวนรถถัง 200 คันของกองพลพันเซอร์ที่ 7 ในจำนวนนี้เป็น Panzer 38(t) ถึง 99 คัน ซึ่งรอมเมลก็ได้ใช้จุดเด่นเรื่องความเร็วและอำนาจการยิงของรถถังรุ่นนี้อย่างเต็มที่ เมื่อถึงวันที่ 20 มิถุนายนซึ่งฝรั่งเศสยอมจำนน กองพลผีของรอมเมลสามารถทำลายรถถังฝรั่งเศสได้ 460 คัน และจับเชลยศึกได้มากกว่า 97,000 นาย โดยสูญเสียรถถังไปเพียง 42 คันเท่านั้น ในจำนวนนี้เป็น Panzer 38(t) จำนวน 26 คัน การที่รถถังผลิตในเชโกสโลวาเกียมีบทบาทสำคัญในความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส มุมหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นกรรมสนองที่ฝรั่งเศสปล่อยให้เยอรมนียึดครองเชโกสโลวาเกียในข้อตกลงมิวนิก
หลังฝรั่งเศสยอมจำนน รถถัง Panzer 38(t) ก็ลงสมรภูมิอีกครั้งในการบุกสหภาพโซเวียต วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1941 ตามปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้รถถัง Panzer 38(t) ถือว่าล้าสมัยแล้ว ปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรไม่เพียงพอต่อการรับมือรถถังรุ่นใหม่ๆของโซเวียตเช่นรถถังกลาง T-34/76 และรถถังหนัก KV-1 ได้อีก รถถัง Panzer 38(t) จึงค่อยๆถูกถอนออกจากแนวรบ นำไปดัดแปลงเป็นปืนใหญ่อัตตาจรและยานเกราะล่ารถถัง (Tank Destroyer) หลายรุ่น เช่นปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 150 มิลลิเมตร Grille, ยานเกราะล่ารถถัง Marder III และที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Jadgpanzer 38(t) Hetzer
สวัสดี
22.09.2020