เมื่อพูดถึงรถถังเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลายคนจะนึกถึงรถถังหนักอย่าง Tiger I และ King Tiger หรือรถถังกลาง (ซึ่งควรจะจัดเป็นรถถังหนัก) อย่าง Panther ซึ่งมีปืนใหญ่ที่มีขีดความสามารถสูง สามารถทำลายรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรเช่น T-34 ของสหภาพโซเวียตและ M4 Sherman ของสหรัฐฯได้จากระยะไกล ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามต้องเข้ามาในระยะประชิด จึงจะมีโอกาสเจาะเกราะด้านหน้าของรถถังเยอรมันได้ แต่ความจริงแล้วรถถังเยอรมันทั้งสามรุ่นที่กล่าวมาพึ่งจะทยอยเข้าประจำการช่วงปลายปี 1942 ถึงปี 1944 เท่านั้น รถถังเยอรมันในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สองไม่ได้มีขีดความสามารถโดดเด่นแต่อย่างใด เช่นรถถัง Panzer I ติดอาวุธปืนกลขนาด 7.92 มิลลิเมตรเพียง 2 กระบอก ขณะที่ Panzer II ก็ติดอาวุธเพียงปืนกลและปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 20 มิลลิเมตรเท่านั้น เรียกได้ว่ารถถังทั้งสองรุ่นไม่มีขีดความสามารถในการต่อกรกับรถถังด้วยกันได้เลย ประสบการณ์ในสงครามกลางเมืองสเปนก็แสดงให้เห็นแล้ว แต่เพราะเยอรมันมีรถถังไม่พอใช้ จึงยังต้องใช้รถถังทั้งสองรุ่นต่อไปถึงช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง (โชคดีที่ได้รถถัง Panzer 38(t) จากเชโกสโลวาเกียมาเสริมทัพ) ขณะที่รถถังที่นายพลไฮนซ์ กูเดเรียนวางแผนจะใช้เป็นกำลังรบหลักในสงครามสายฟ้าแลบ Blitzkrieg อย่างรถถัง Panzer III รุ่นแรกๆก็ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรซึ่งไม่สามารถเจาะเกราะรถถัง Matilda II ของอังกฤษได้ แม้ภายหลังจะเปลี่ยนอาวุธเป็นปืนใหญ่ขนาด 50 มิลลิเมตรแต่เมื่อเผชิญหน้ากับรถถัง T-34 และ KV-1 ของสหภาพโซเวียตก็มีปัญหาอีก ส่วนรถถัง Panzer IV รุ่นแรกๆก็ติดปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรไว้สนับสนุนทหารราบเป็นหลัก พึ่งจะเปลี่ยนอาวุธเป็นปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรแบบลำกล้องยาวช่วงปลายปี 1942
แล้วเยอรมันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร ? เมื่ออาวุธในป้อมปืนรถถังปกติไม่สามารถเจาะเกราะรถถังฝ่ายตรงข้ามได้ เยอรมันก็จัดการถอดป้อมปืนรถถังออก แล้วติดปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาดใหญ่ขึ้นเข้าไปแทน เกิดเป็นยานเกราะล่ารถถังซึ่งภาษาเยอรมันเรียกว่า “พันเซอร์เยเกอร์” (Panzerjäger แปลตรงตัวว่า tank hunter) เฉพาะกิจขึ้นมา
ยานเกราะล่ารถถัง Panzerjäger I
ยานเกราะล่ารถถังรุ่นแรกของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สองคือ Panzerjäger I เกิดจากการนำตัวรถของรถถัง Panzer I มาติดปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 47 มิลลิเมตรของเชโกสโลวาเกีย เข้าสู่สายการผลิตในปี 1940 – 1941 ผลิตออกมา 202 คัน ถูกใช้งานในสมรภูมิแอฟริกาเหนือและในสหภาพโซเวียต ปืนใหญ่ขนาด 47 มิลลิเมตรของ Panzerjäger I สามารถเจาะเกราะรถถัง Matilda II ของอังกฤษได้ที่ระยะประมาณ 400 เมตร เมื่อใช้กระสุนเจาะเกราะทังสเตน อย่างไรก็ตามขีดความสามารถของ Panzerjäger I ยังไม่สามารถต่อกรกับรถถังรุ่นใหม่ๆของโซเวียตได้ และเยอรมันได้สูญเสียยานเกราะรุ่นนี้ไปเกือบทั้งหมดในช่วงฤดูหนาว ปี 1941 – 1942

(Bundesarchiv, Bild 101I-782-0041-31 / Borchert, Erich (Eric) / CC-BY-SA 3.0)
ยานเกราะล่ารถถัง Marder I
ในปี ค.ศ.1941 กองทัพเยอรมันสามารถยึดปืนใหญ่สนามขนาด 76 มิลลิเมตรของโซเวียตได้จำนวนมาก โดยปืนรุ่นนี้มีขีดความสามารถในการต่อสู้รถถังด้วย ต่อมาในปี 1942 ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 75 มิลลิเมตร Pak 40 รุ่นใหม่ของเยอรมันก็ทยอยเข้าประจำการ แม้ปืนใหญ่ทั้งสองรุ่นจะมีขีดความสามารถสูง แต่ก็มีข้อเสียตรงที่มีน้ำหนักมาก ขาดความคล่องตัว จึงมีแนวคิดที่จะนำปืนใหญ่เหล่านี้ไปติดตั้งบนตัวรถของยานเกราะรุ่นเก่าเกิดเป็นยานเกราะล่ารถถังตระกูล Marder ขึ้นมา
ยานเกราะล่ารถถังตระกูล Marder รุ่นแรกคือ Marder I เกิดจากการนำปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 75 มิลลิเมตรติดตั้งบนตัวรถสายพาน Lorraine 37L ซึ่งเยอรมันเคยยึดได้จากฝรั่งเศสมากกว่า 300 คัน ยานเกราะล่ารถถัง Marder I เข้าสู่สายการผลิตในปี 1942 ผลิตออกมา 170 คัน ส่วนใหญ่ถูกใช้งานในแนวรบด้านตะวันออก มีบางส่วนถูกใช้งานโดยกองพลพันเซอร์ที่ 21 ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในนอร์มังดี ตั้งรับการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรในวัน D-Day

(Bundesarchiv, Bild 101I-297-1701-31 / Müller, Karl / CC-BY-SA 3.0)
ยานเกราะล่ารถถัง Marder II
ยานเกราะล่ารถถัง Marder II เกิดจากการนำตัวรถของรถถัง Panzer II มาติดตั้งปืนใหญ่สนามขนาด 76 มิลลิเมตรของโซเวียตหรือปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 75 มิลลิเมตรของเยอรมัน เข้าสู่สายการผลิตในปี 1942 – 1943 ผลิตออกมาประมาณ 863 คัน โดยในจำนวนนี้ 681 คันใช้ตัวรถของ Panzer II ที่ผลิตขึ้นใหม่ ส่วนที่เหลืออีก 182 คันเป็นการนำรถถัง Panzer II ที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงถอดป้อมปืนออก

(Bundesarchiv, Bild 101I-197-1238-16 / Henisch / CC-BY-SA 3.0)
ยานเกราะล่ารถถัง Marder III
ยานเกราะล่ารถถัง Marder III เกิดจากการนำตัวรถของรถถัง Panzer 38(t) ผลิตในเชโกสโลวาเกียมาดัดแปลงตืดตั้งปืนใหญ่สนามขนาด 76 มิลลิเมตรของโซเวียตหรือปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 75 มิลลิเมตรของเยอรมัน เข้าสู่สายการผลิตระหว่างปี 1942 – 1944 ผลิตออกมามากกว่า 1,736 คัน แบ่งเป็น 3 รุ่นย่อย ถูกใช้งานในทุกแนวรบทั้งในแอฟริกาเหนือ แนวรบด้านตะวันออก และภายหลังก็ในยุโรปตะวันตก

(Bundesarchiv, Bild 101I-297-1729-23 / Kurth / CC-BY-SA 3.0)
ยานเกราะล่ารถถัง Nashorn
ยานเกราะล่ารถถัง Nashorn ช่วงแรกๆใช้ชื่อว่า Hornisse เกิดจากการนำตัวรถของรถถัง Panzer IV มาดัดแปลงติดปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง 88 มิลลิเมตรอันลือชื่อ ผลิตออกมาจำนวน 494 คัน ส่วนใหญ่ผลิตในปี 1943 ก่อนที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์จะสั่งปิดสายการผลิตในปี 1944 หันไปผลิตยานเกราะล่ารถถัง Jagdpanther ซึ่งใช้ตัวรถของรถถัง Panther และมีเกราะรอบด้านแทน ยานเกราะล่ารถถัง Nashorn มีขีดความสามารถสูง ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 88 มิลลิเมตรสามารถทำลายรถถังของฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทุกรุ่นรวมถึงรถถังหนัก IS-2 ของสหภาพโซเวียตและ M-26 Pershing ของสหรัฐฯ

(Bundesarchiv, Bild 101I-279-0950-09 / Bergmann, Johannes / CC-BY-SA 3.0)
ยานเกราะล่ารถถังหรือ Panzerjäger ของเยอรมันที่ดัดแปลงขึ้นมาแบบเฉพาะกิจเหล่านี้ มีลักษณะร่วมกันคือเป็นการนำปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาดใหญ่ขึ้นมาติดตั้งบนตัวรถถังขนาดเล็ก ผลที่เกิดขึ้นคือยานเกราะล่ารถถังเหล่านี้ไม่มีป้อมปืนที่หมุนได้ เวลาจะเล็งเป้าหมายยานเกราะข้าศึกจึงต้องหันตัวรถทั้งคัน นอกจากนี้ยังมีเกราะบาง พอจะป้องกันพลประจำรถจากอาวุธประจำกายของทหารราบทางด้านหน้าและด้านข้างเท่านั้น (ต่างจากยานเกราะล่ารถถังรุ่นหลังๆเช่น Jagdpanther และ Jagdtiger ซึ่งมีเกราะรอบหนารอบคัน) จึงเหมาะจะใช้ซุ่มโจมตียานเกราะข้าศึกจากระยะไกล ไม่เหมาะจะใช้ยิงปะทะกับข้าศึกแบบซึ่งหน้า รวมถึงเปราะบางต่อสะเก็ดระเบิดของกระสุนปืนใหญ่และปืน ค. อย่างไรก็ตามแม้ยานเกราะล่ารถถังเหล่านี้จะมีราคาถูก ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ขัดตาทัพรอรถถังรุ่นใหม่ แต่ก็ประสบความสำเร็จมาก เป็นหนึ่งในกำลังรบหลักของเยอรมันจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
สวัสดี
25.09.2020