การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย: บาดแผลในความสัมพันธ์อาร์เมเนีย-ตุรกี

ภาพหญิงชาวอาร์เมเนียคุกเข่าข้างร่างของเด็กที่เสียชีวิตบริเวณเมืองอเลปโป ซีเรีย ระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย
(Wikimedia Commons/ Public Domain)

เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประวัติศาสตร์ คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยฝีมือของนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง (Holocaust) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 11 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวยิว 6 ล้านคน เป็นอันดับแรก ถัดจากนั้นก็จะเป็นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสมัยสงครามเย็นเช่นกรณีเขมรแดง (Khmer Rouge) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 2 ล้านคน แต่ความจริงแล้วมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย (Armenian Genocide) โดยฝีมือของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) หรือตุรกีนั่นเอง

ชาวอาร์เมเนียตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเทือกเขาคอเคซัสมานานกว่าสามพันปี และในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4 ก็เป็นชาติแรกๆที่รับเอาศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ แต่ทว่าเนื่องจากอาร์เมเนียเป็นชาติเล็กๆ จึงมักตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิมหาอำนาจโดยรอบเปลี่ยนมือกันไปมา ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันในศตวรรษที่ 15 แม้จักรวรรดิออตโตมันจะมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติศาสนา แต่คนส่วนใหญ่รวมถึงผู้ปกครองนับถือศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุนี้แม้ชาวอาร์เมเนียจะไม่ได้ถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา แต่ก็ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบเช่นต้องจ่ายภาษีแพงกว่าชาวมุสลิม อย่างไรก็ตามชาวอาร์เมเนียก็สามารถพัฒนาตัวเองให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นได้ ส่งผลให้ชาวเติร์กเกิดความหวาดระแวงว่าชาวอาร์เมเนียแอบสมคบคิดกับต่างชาติ เช่นจักรวรรดิรัสเซียซึ่งนับถือศาสนาคริสต์เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อจักรวรรดิออตโตมันเริ่มอ่อนแอลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เช่นการสังหารหมู่ฮามีเดียน (Hamidian massacres) ระหว่างปี ค.ศ.1894 – 1896 ซึ่งมีชาวอาร์เมเนียเสียชีวิตระหว่าง 88,000 – 250,000 คน และการสังหารหมู่อาดาน่า (Adana massacre) ในปี ค.ศ.1909 มีชาวอาร์เมเนียเสียชีวิตประมาณ 15,000 – 30,000 คน ก่อนจะถึงจุดระเบิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ภาพทหารออตโตมันกวาดต้อนชาวอาร์เมเนียออกจากถิ่นที่อยู่อาศัย เดือนเมษายน ค.ศ.1915 (Public Domain)

วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1914 จักรวรรดิออตโตมันประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อยู่ฝ่ายมหาอำนาจกลาง เป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมันขอความร่วมมือจากชาวอาร์เมเนียให้ยุยงเพื่อนร่วมชาติชาวอาร์เมเนียที่อยู่ในรัสเซียให้ก่อการกระด้างกระเดื่อง ขณะที่จักรวรรดิออตโตมันก็จะส่งกองทัพบุกเข้าไปในรัสเซีย เพื่อแย่งชิงดินแดนที่เคยสูญเสียไปกลับคืนมา แต่ทว่าจักรวรรดิออตโตมันกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการรบ ผู้บัญชาการชาวเติร์กจึงโยนแพะให้ชาวอาร์เมเนีย กล่าวหาว่าสมคบคิดกับรัสเซีย ว่าแล้วในปี ค.ศ.1915 จักรวรรดิออตโตมันก็สั่งปลดทหารเชื้อสายอาร์เมเนียในกองทัพไปใช้แรงงานทาส ก่อนจะสังหารทิ้งอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันก็เนรเทศชาวอาร์เมเนียรวมถึงผู้หญิงและเด็กออกจากถิ่นที่อยู่อาศัย ให้เดินขบวนมรณะข้ามทะเลทรายซีเรียโดยไม่มีอาหารและน้ำ คนที่เดินต่อไม่ไหวหรือหยุดพักจะถูกยิงทิ้ง นายทหารชาวเติร์กยังจัดตั้งกองกำลังพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตนักโทษคอยโจมตีชาวอาร์เมเนียระหว่างทางด้วย มีคนจำนวนมากถูกจับถ่วงน้ำ, โยนลงจากหน้าผา, ตรึงกางเขน หรือเผาทั้งเป็น ส่งผลให้มีศพชาวอาร์เมเนียกลาดเกลื่อนอยู่ทั่วไป ชาวอาร์เมเนียบางส่วนรวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเองเช่นที่เมือง Van ทางภาคตะวันออกของตุรกี แต่ก็ส่งผลให้จักรวรรดิออตโตมันใช้เป็นข้ออ้างกวาดล้างชาวอาร์เมเนียหนักขึ้นไปอีก

เมื่อชาวอาร์เมเนียจำนวนมากถูกเนรเทศออกจากถิ่นที่อยู่อาศัย จักรวรรดิออตโตมันก็ให้ชาวเติร์กย้ายเข้ามาอยู่แทน มีการยึดครองบ้านและทรัพย์สินของชาวอาร์เมเนีย รวมถึงมีกระบวนการทำให้เป็นชาวเติร์กหรือ Turkification เช่นการลักพาตัวเด็กชาวอาร์เมเนียมาเปลี่ยนให้นับถือศาสนาอิสลามแล้วส่งไปให้ครอบครัวชาวเติร์กเลี้ยงดู มีการข่มขืนหญิงชาวอาร์เมเนีย บังคับให้เป็นทาสบำเรอของชาวเติร์ก เป็นต้น

เมื่อจักรวรรดิออตโตมันแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและล่มสลายลงในปี ค.ศ.1918 นายทหารเติร์กที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียได้หลบหนีไปอยู่ที่เยอรมนี แต่กลุ่มชาตินิยมอาร์เมเนียได้วางแผนตามไปลอบสังหารบุคคลเหล่านี้ชื่อปฏิบัติการเนเมซิส (Operation Nemesis)

ภาพร่างของชาวอาร์เมเนียซึ่งเสียชีวิตระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากหนังสือ Ambassador Morgenthau’s Story ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1918

ตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด อาร์เมเนียอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500,000 คน ตุรกีอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 300,000 คน ขณะที่ชาติตะวันตกเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 800,000 – 1,500,000 คน

ที่น่าสนใจก็คือเนื่องจากตุรกีเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯและเป็นสมาชิก NATO ช่วงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งคำว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือ genocide ได้ถูกบัญญัติขึ้นมาจนถึงสมัยสงครามเย็น จึงแทบไม่มีชาติตะวันตกยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เลย ทั้งที่มีชาวตะวันตกเป็นประจักษ์พยาน พึ่งจะทยอยยอมรับกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง รัฐสภาสหรัฐฯก็พึ่งจะลงมติยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เป็นสาเหตุหนึ่งที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ทางด้านตุรกีแม้จะยอมรับว่ามีชาวอาร์เมเนียถูกสังหารจำนวนมาก แต่ก็อ้างว่าเป็นมาตรการทางทหารที่มีความชอบธรรม เนื่องจากชาวอาร์เมเนียเข้าข้างรัสเซีย จึงถือว่าเป็นศัตรู ไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบเหมือนกรณีนาซีแต่อย่างใด ประเด็นนี้จึงเป็นบาดแผลในความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและอาร์เมเนียมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันประเทศที่ยอมรับว่าการสังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มีอยู่ 32 ประเทศ ได้แก่รัสเซีย อาร์เจนตินา ออสเตรีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐฯ เวเนซุเอลา ฯลฯ ในส่วนของประเทศอาเซียนรวมถึงประเทศไทย ยังไม่มีประเทศไหนยอมรับเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวอาร์เมเนีย โดยฝีมือของจักรวรรดิออตโตมัน ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

สวัสดี

30.09.2020

แสดงความคิดเห็น