
การปะทะกันระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานล่าสุด เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีการใช้งานโดรนติดอาวุธ (UCAV) อย่างแพร่หลาย โดยกองทัพอาเซอร์ไบจานใช้โดรนผลิตในตุรกีและอิสราเอล โจมตีที่ตั้งทางทหาร สามารถทำลายยุทโธปกรณ์ของอาร์เมเนียได้จำนวนมาก ทำนองเดียวกับที่ตุรกีเคยใช้ในจังหวัดอิดลิบของซีเรีย และพื้นที่รอบกรุงตริโปลีของลิเบียเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ประเด็นนี้กองทัพไทยควรให้ความสนใจติดตามเพื่อนำบทเรียนมาพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพไทย โดยเฉพาะการป้องกันภัยทางอากาศซึ่งยังเป็นจุดอ่อนสำคัญ ในบทความนี้ผมจะกล่าวถึงขีดความสามารถในการรับมือภัยคุกคามจากโดรนติดอาวุธของกองทัพไทยในปัจจุบัน และเสนอแนะแนวทางจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ในอนาคต
ผมขอพูดถึงขีดความสามารถของโดรนติดอาวุธก่อนนะครับ ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่าคุณสมบัติพื้นฐานของโดรนโดยตัวมันเองไม่ได้น่ากลัวเหมือนเครื่องบินขับไล่เลย โดรนมีความเร็วและความคล่องตัวต่ำกว่าเครื่องบินขับไล่ นอกจากนี้โดยปกติผู้ควบคุมโดรนซึ่งอยู่ในฐานภาคพื้นดินยังรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบโดรนได้ช้ากว่านักบินเครื่องบินขับไล่ จึงถูกสอยได้ง่ายกว่าด้วย ถ้าล็อกเป้าโดรนได้ ใช้แค่ปืนต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) หรือ MANPADS ก็อาจสอยลงมาได้แล้ว ปัญหาอยู่ที่ปัจจุบันโดรนติดอาวุธสามารถยิงจรวดมาจากระยะห่างหลายกิโลเมตร ไม่จำเป็นต้องบินไปอยู่เหนือเป้าหมายเพื่อโจมตีแต่อย่างใด (โดรนที่ถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอตอนจรวดกระทบเป้าหมายมาโฆษณาชวนเชื่อให้เราดู ไม่จำเป็นต้องเป็นลำเดียวกับลำที่ปล่อยอาวุธ) ยกตัวอย่างเช่นจรวด AGM-114 Hellfire ซึ่งยิงจากโดรนของสหรัฐฯมีระยะยิง 8 กิโลเมตร ดังนั้นเราจึงต้องตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่าในกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามมีการใช้งานโดรนติดอาวุธ จรวดอาจจะถูกยิงมาจากระยะ 5 – 10 กิโลเมตร ซึ่งไกลกว่าระยะยิงของ ปตอ. และ MANPADS ส่วนใหญ่ เราจึงไม่อาจคาดหวังจะใช้ ปตอ. และ MANPADS ในการสอยโดรนติดอาวุธลงมาได้ ทำได้มากสุดแค่สกัดจรวดที่โดรนปล่อยมาเท่านั้น (ในกรณีนี้ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันภัยทางอากาศแล้ว) ซึ่งก็ต้องลุ้นต่อไปว่า ปตอ. จะมีความเร็วและอัตราการยิงเพียงพอหรือไม่ กรณีเลวร้ายที่สุดถ้าไม่มีเรดาร์แจ้งเตือนล่วงหน้า หน่วย ปตอ. และ MANPADS อาจถูกสอยโดยไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ ปัจจุบัน ปตอ. ของไทยที่ผมมองว่ามีขีดความสามารถเพียงพอจะรับมือโดรนได้มีเพียง Vulcan ผลิตในสหรัฐฯ (ซึ่งไทยมีแบบลากจูงและอัตตาจรอย่างละ 24 กระบอก) และ Oerlikon GDF-007 ในระบบ Skyguard 3 ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น
เมื่อ ปตอ. และ MANPADS ไม่เพียงพอต่อการรับมือภัยคุกคามจากโดรนติดอาวุธ ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้และกลางจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ความจริงจะใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลเช่น S-300, S-400 หรือ Patriot มาสอยโดรนก็ได้ แต่ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ปัญหาคือระบบป้องกันภัยทางอากาศของไทยในปัจจุบันมีอยู่น้อยมาก กองทัพบกมีระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้ VL MICA จากฝรั่งเศส ระยะยิง 20 กิโลเมตร (แต่จุดเด่นคือเรดาร์มีระยะตรวจจับถึง 200 กิโลเมตร) อยู่ระบบเดียว แถมมีรถฐานยิงไม่ครบด้วย ปกติระบบหนึ่งต้องมีรถฐานยิง 4 คันแต่เรามีงบประมาณพอจัดหามาแค่ 2 คัน นอกเหนือจากกองทัพบกแล้ว กองทัพอากาศก็มีระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยกลาง KS-1C จากจีน ระยะยิง 70 กิโลเมตรระบบเดียวเช่นกัน ในส่วนของกองทัพเรือ โดยหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) มีข่าวว่าอาจกำลังจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ FK-3 จากจีน ระยะยิง 100 กิโลเมตรอยู่แต่ยังไม่ยืนยัน ระบบป้องกันภัยทางอากาศจำนวนเท่านี้ไม่เพียงพอป้องกันภัยคุกคามทางอากาศให้หน่วยทหารในแนวหน้าแน่นอน แค่สถานที่สำคัญภายในประเทศก็ยังไม่ครอบคลุมเลย จำเป็นต้องมีการจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศเพิ่มเติม ซึ่งถ้ามองเฉพาะภัยคุกคามจากโดรนและความคอมม่อนกับยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปัจจุบัน การจัดหา VL MICA เพิ่มเติมก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดี แม้ระยะยิงจะไม่ไกลนัก (ในทางปฏิบัติการจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศให้มีระยะยิงครอบคลุมทุกตารางนิ้วต้องใช้งบประมาณมหาศาล) แต่สามารถอาศัยระยะตรวจจับเรดาร์ 200 กิโลเมตร แจ้งเตือนภัยคุกคามและชี้เป้าให้พล ปตอ. และ MANPADS ได้ ถ้ากองทัพบกมี VL MICA และ Skyguard จำนวนมากพอ ก็จะมีขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพียงพอต่อการรับมือภัยคุกคามจากโดรนติดอาวุธ แต่ปัญหาหลักก็คืองบประมาณ ในเมื่อที่ผ่านมาแค่ VL MICA ระบบเดียวยังมีงบประมาณจัดหารถฐานยิงไม่ครบ จะให้จัดหาเพิ่มหลายๆระบบก็คงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อาจจำเป็นต้องจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศจากแหล่งอื่น ซึ่งต้องพิจารณาขีดความสามารถ ราคา และความเหมาะสมต่อไป
สวัสดี
02.10.2020
ความคิดน่าสนใจครับ ผมอยู่ทัพอากาศ ไว้จะนำไปดูความเป็นไปได้
สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อน้ำผึ้งจากบริษัท ฟลิง จำกัด เป็นผู้นำด้านซอฟต์แวร์ ai เกี่ยวกับโดรนค่ะ หากสนใจที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์ทางทหารเกี่ยวกับโดรนสามารถติดต่อได้ที่ line: nampheungwann นะคะ