เดือนมกราคม ค.ศ.1943 กองทัพแดง (Red Army) ของสหภาพโซเวียตสามารถยึดรถถังหนัก Tiger I รุ่นใหม่ของเยอรมนีได้บริเวณเมืองเลนินกราด (Leningrad ปัจจุบันคือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) แล้วส่งไปยังสนามทดสอบที่คูบินก้า (Kubinka) ใกล้กรุงมอสโก เพื่อประเมินขีดความสามารถและหาทางรับมือ ผลการทดสอบปรากฏว่าอาวุธต่อสู้รถถังของโซเวียตในขณะนั้นทุกรุ่นเจาะเกราะด้านหน้าของรถถัง Tiger I ไม่เข้า แม้แต่รถถัง T-34/76 ติดปืนใหญ่ 76 มิลลิเมตรก็ยิงรถถัง Tiger I ทางด้านหน้าไม่เข้า แม้จะจ่อยิงที่ระยะห่างเพียง 200 เมตรก็ตาม เมื่อไม่สามารถพึ่งพาความเร็วของกระสุนเจาะเกราะในการทำลายรถถัง Tiger I ได้ โซเวียตก็หันไปพึ่งพาขนาดกระสุนแทน ใช้ปืนใหญ่อัตตาจร SU-152 ขนาด 152 มิลลิเมตรยิงทำลายรถถัง Tiger I ได้สำเร็จ เป็นยานเกราะรุ่นเดียวของโซเวียตในขณะนั้นที่สามารถรับมือรถถัง Tiger I ได้

(Bundesarchiv, Bild 101I-154-1964-28 / Dreyer / CC-BY-SA 3.0)
โซเวียตเริ่มออกแบบปืนใหญ่อัตตาจร SU-152 ช่วงปลายปี ค.ศ.1942 จากประสบการณ์ในสมรภูมิสตาลินกราด (Stalingrad) ที่โซเวียตต้องการปืนใหญ่อัตตาจรขนาดใหญ่สำหรับทำลายที่มั่นของทหารเยอรมันในสิ่งปลูกสร้างต่างๆ (ทำนองเดียวกับ StuG III ของเยอรมัน) การผลิตรถต้นแบบแล้วเสร็จ เริ่มทดสอบในเดือนมกราคม ค.ศ.1943 และได้รับอนุมัติเข้าสู่สายการผลิตในเดือนถัดมา
ปืนใหญ่อัตตาจร SU-152 ใช้ตัวรถของรถถัง KV-1 และ KV-1S มีน้ำหนัก 45.5 ตัน เครื่องยนต์ขนาด 600 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้พลประจำรถ 4 นาย ปืนใหญ่ขนาด 152 มิลลิเมตรมีอำนาจการยิงรุนแรงมาก แม้กระสุนระเบิดแรงสูงจะไม่สามารถเจาะเกราะรถถังหนักของเยอรมันได้ แต่ก็มีแรงระเบิดพอจะกระแทกรถถังจนระบบภายในใช้งานไม่ได้ (บางครั้งป้อมปืนของ Tiger I ถึงกับหลุดออกจากตัวรถ) พลประจำรถหมดสติหรือได้รับบาดเจ็บจากชิ้นส่วนเกราะซึ่งแตกออกมา อย่างไรก็ตามเนื่องจาก SU-152 เป็นปืนใหญ่อัตตาจรที่ไม่มีป้อมปืน การเล็งเป้าหมายต้องหันรถทั้งคัน ขาดความคล่องตัว อัตราการยิงต่ำเนื่องจากกระสุนมีขนาดใหญ่ รวมถึงรถถังเยอรมันก็สามารถเจาะเกราะของ SU-152 ได้จากระยะไกลเช่นกัน จึงเหมาะสำหรับใช้ซุ่มโจมตีมากกว่าการปะทะซึ่งหน้า
ปืนใหญ่อัตตาจร SU-152 ออกรบครั้งแรกในสมรภูมิคูร์ส (Battle of Kursk) เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1943 ซึ่งกองทัพเยอรมันส่งยานเกราะเข้าปฏิบัติการจำนวนมาก รวมถึงยานเกราะรุ่นใหม่ทั้งรถถัง Tiger I (เสือ), รถถังกลาง Panther (เสือดำ) และยานเกราะล่ารถถัง Ferdinand ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Elefant (ช้าง) การที่ SU-152 เป็นยานเกราะรุ่นเดียวของโซเวียตที่สามารถรับมือสิงสาราสัตว์ของเยอรมันได้ ส่งผลให้ได้รับฉายาว่า Зверобой (Zveroboy นักล่าสัตว์) แม้จะมีขีดความสามารถสูงแต่ SU-152 กลับถูกผลิตออกมาเพียง 704 คันเท่านั้น เนื่องจากช่วงปลายปี ค.ศ.1943 โซเวียตได้ปิดสายการผลิตรถถังตระกูล KV หันไปผลิตรถถังหนักตระกูล IS แทน นำไปสู่การพัฒนาปืนใหญ่อัตตาจร ISU-152 รุ่นใหม่ ซึ่งใช้ตัวรถของรถถัง IS-2 มาทดแทน

(George Chernilevsky/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
ปืนใหญ่อัตตาจร ISU-152 เข้าสู่สายการผลิตเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1943 มีน้ำหนัก 47.3 ตัน ใช้เครื่องยนต์ขนาด 520 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 30 – 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (แล้วแต่รุ่น) ใช้พลประจำรถ 4 – 5 นาย มีการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่เคยพบใน SU-152 รวมถึงหุ้มเกราะหนาขึ้น ส่งผลให้รถถังเยอรมันไม่สามารถเจาะเกราะจากระยะไกลได้ ISU-152 สามารถรับบทบาทเป็นได้ทั้งยานเกราะจู่โจม (Assault Gun) สนับสนุนทหารราบทำลายที่มั่นข้าศึก, ยานเกราะล่ารถถัง และปืนใหญ่อัตตาจร เรียกได้ว่าเป็นยานเกราะอเนกประสงค์ที่ประสบความสำเร็จมากรุ่นหนึ่ง มีส่วนร่วมในสมรภูมิสำคัญๆตั้งแต่ปฏิบัติการบากราติโอน (Operation Bagration) ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ค.ศ.1944 ไปจนถึงการบุกยึดเมืองเคอนิกส์เบิร์ก, บูดาเปสต์ และกรุงเบอร์ลินในปี ค.ศ.1945 ปืนใหญ่อัตตาจร ISU-152 มีการพัฒนารุ่นใหม่ๆอยู่ในสายการผลิตจนถึงปี ค.ศ.1947 ผลิตออกมามากกว่า 4,635 คัน กองทัพโซเวียตใช้งานปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นนี้จนถึงยุค 70
สวัสดี
04.10.2020