
(Willi Ude/ Wikimedia Commons)
เมื่อพูดถึงปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของกองทัพเยอรมัน (Wehrmacht) ในสงครามโลกครั้งที่สอง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 88 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในอาวุธที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น แต่ความจริงแล้วเยอรมันมีปืนต่อสู้รถถังอีกรุ่นหนึ่งซึ่งมีขีดความสามารถใกล้เคียงกันและถูกใช้อย่างแพร่หลายทุกแนวรบ คือปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 75 มิลลิเมตรรุ่น PaK-40 (PaK ย่อมาจาก Panzerabwehrkanone พันเซอร์อับแวร์คาโนเน่อ ภาษาเยอรมันแปลว่าปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง)
เยอรมันเริ่มพัฒนาปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง PaK-40 ในปี ค.ศ.1939 หลังได้รับรายงานเกี่ยวกับการพัฒนารถถังรุ่นใหม่ของสหภาพโซเวียต ที่ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 50 มิลลิเมตร PaK-38 อาจไม่พอรับมือ เยอรมันจึงเซ็นสัญญากับบริษัท Krupp และ Rheinmetall ให้ขยายขนาด PaK-38 เป็นขนาด 75 มิลลิเมตร เกิดเป็นรุ่น PaK-40 อย่างไรก็ตามชัยชนะในช่วงแรกๆของสงครามโลกครั้งที่สองส่งผลให้เยอรมันไม่ได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้มากนัก เพราะไม่เห็นความจำเป็น โครงการ PaK-40 จึงล่าช้า จนกระทั่งเยอรมันบุกโซเวียตในปี ค.ศ.1941 เผชิญหน้ากับรถถังกลาง T-34/76 กับรถถังหนัก KV-1 และ KV-2 ซึ่งหุ้มเกราะหนาเกินกว่าที่ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 37 และ 50 มิลลิเมตรที่กองทัพเยอรมันใช้อยู่จะเจาะเข้าได้ จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาปืนใหญ่ต่อสู้รถถังรุ่นใหม่อย่างเร่งด่วน (ส่วนปืนขนาด 88 มิลลิเมตรรุ่นแรกๆคือ FlaK-36 นั้นพื้นฐานเป็นปืนต่อสู้อากาศยาน ไม่ใช่ปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง) เยอรมันจึงกลับไปเร่งโครงการ PaK-40 เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1942 และกลายเป็นปืนใหญ่ต่อสู้รถถังหลักของกองทัพเยอรมันตั้งแต่นั้น
ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 75 มิลลิเมตร PaK-40 ใช้พลประจำปืน 6 นาย สามารถเจาะเกราะรถถังของฝ่ายสัมพันธมิตรได้เกือบทุกรุ่น รวมถึงรถถัง T-34 ของโซเวียตและ M4 Sherman ของสหรัฐฯ มีระยะยิงหวังผล 1.8 กิโลเมตร อัตราการยิงสูงสุด 14 นัดต่อนาที ข้อเสียของ PaK-40 คือมีน้ำหนักมากถึง 1.4 ตัน เนื่องจากสร้างจากเหล็กล้วนๆ ต่างจากรุ่นก่อนหน้าคือ PaK-38 ซึ่งใช้วัสดุเป็นอลูมิเนียมอัลลอยด์น้ำหนักเบา มีน้ำหนักเพียง 1 ตัน สาเหตุเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว เยอรมันมีปัญหาขาดแคลนทรัพยากร จำเป็นต้องจัดสรรอลูมิเนียมอัลลอยด์น้ำหนักเบาให้กองทัพอากาศ (Luftwaffe) ซึ่งมีความจำเป็นมากกว่าไปใช้งาน แม้การใช้วัสดุทำจากเหล็กจะส่งผลให้ PaK-40 มีความทนทานและความแม่นยำมากขึ้น แต่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาส่งผลให้ในการย้ายที่ตั้งต้องใช้รถลากเท่านั้น ปัญหาคือเยอรมันก็มีปัญหาขาดแคลนยานพาหนะเช่นกัน ส่งผลให้หลายครั้งทหารเยอรมันต้องทิ้ง PaK-40 ไว้ในสนามรบ เนื่องจากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงมีการนำ PaK-40 บางส่วนไปดัดแปลงติดตั้งบนยานเกราะเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ เช่นในยานเกราะล่ารถถัง (Panzerjäger) ตระกูล Marder
ปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง PaK-40 ถูกผลิตออกมามากกว่า 23,000 กระบอกระหว่างปี ค.ศ.1942 – 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง หลายประเทศในยุโรปยังคงใช้งานปืนรุ่นนี้ไปจนถึงยุค 60
สวัสดี
06.10.2020