อสูรแห่งราไซนี: รถถัง KV-2 ของโซเวียตคันเดียวหยุดกองทัพเยอรมันได้นานถึง 2 วัน

ภาพรถถังหนัก KV-2 ของสหภาพโซเวียต ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่กรุงมอสโก
(Johnny Rotten/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1941 กองทัพเยอรมันบุกสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) กลุ่มกองทัพภาคเหนือ (Army Group North) ของเยอรมันเคลื่อนพลเข้าสู่สามรัฐบอลติกมุ่งหน้าไปเมืองเลนินกราด (Leningrad ปัจจุบันคือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) กองทัพโซเวียตรวบรวมหน่วยยานเกราะในพื้นที่เข้าตีโต้กองทัพเยอรมันที่ราไซนี (Raseiniai) ในลิทัวเนียระหว่างวันที่ 23 – 27 มิถุนายน ฝ่ายโซเวียตมีรถถังจำนวน 749 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถถังเบา T-26 และ BT-7 นอกจากนี้ยังมีรถถังหนัก KV-1 และ KV-2 อีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่ฝ่ายเยอรมันมีรถถัง 245 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถถังเบา Panzer 35(t) ผลิตในเชโกสโลวาเกีย แม้ในสมรภูมิแห่งนี้ฝ่ายโซเวียตจะมีรถถังมากกว่าเยอรมันถึง 3 เท่า แต่ฝ่ายเยอรมันสามารถครองอากาศได้ เครื่องบินรบเยอรมันทำการโจมตีทางอากาศจนหน่วยทหารโซเวียตไม่สามารถติดต่อประสานงานหรือแชร์ข่าวกรองกันได้ นอกจากนี้พลประจำรถถังของโซเวียตยังได้รับการฝึกไม่ดีพอ ส่งผลให้ฝ่ายเยอรมันที่มีประสบการณ์มากกว่าเป็นฝ่ายชนะในที่สุด อย่างไรก็ตามในสมรภูมิแห่งนี้รถถังหนัก KV-1 และ KV-2 ของโซเวียตได้มีโอกาสแสดงขีดความสามารถจนฝ่ายเยอรมันตกตะลึง เนื่องจากรถถังหนักตระกูล KV นั้นหุ้มเกราะหนาจนปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง PaK-36 ขนาด 37 มิลลิเมตรและ PaK-38 ขนาด 50 มิลลิเมตรของเยอรมันยิงไม่เข้า แม้จะจ่อยิงในระยะประชิดก็ตาม รถถังโซเวียตยังคงแล่นตรงเข้ามาเรื่อยๆ ยิงปืนใหญ่รถถังจนกระสุนหมด ก่อนจะแล่นทับปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของเยอรมัน ถ้ากองทัพเยอรมันไม่มีปืนต่อสู้อากาศยาน FlaK-36 ขนาด 88 มิลลิเมตรและกองทัพอากาศสนับสนุน หรือฝ่ายโซเวียตมีรถถังหนักตระกูล KV และพลประจำรถที่ได้รับการฝึกมาดีกว่านี้ กองทัพโซเวียตก็อาจเป็นฝ่ายชนะในสมรภูมิราไซนีก็ได้

ระหว่างที่การสู้รบดำเนินอย่างดุเดือด ช่วงกลางคืนระหว่างวันที่ 23 – 24 มิถุนายน มีรถถัง KV-2 คันหนึ่ง แล่นมาหยุดอยู่ที่ทางแยกแห่งหนึ่งใกล้ราไซนีแล้วจอดนิ่งตลอดทั้งคืน ไม่ขยับไปไหน ส่งผลให้ทหารเยอรมันเข้าใจว่ารถถังคันดังกล่าวถูกทหารโซเวียตทิ้งไว้ จึงไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เมื่อขบวนลำเลียงของทหารเยอรมันแล่นผ่านมา รถถังโซเวียตก็เปิดฉากยิงเข้าใส่ ส่งผลให้ฝ่ายเยอรมันรีบหันกลับทันที

ทหารเยอรมันในพื้นที่มาจากหน่วยรบราวส์ (Kampfgruppe Raus) ตั้งชื่อตามผู้บังคับหน่วย แอร์ฮาร์ด ราวส์ (Erhard Raus) โดยคำว่า Kampfgruppe ของเยอรมันมักใช้เรียกกองกำลังเฉพาะกิจ ที่เกิดจากการนำทหารหลายๆหน่วยมารวมกันรับสถานการณ์เฉพาะหน้า ไม่ใช่หน่วยถาวร จึงมักเรียกตามชื่อผู้บังคับหน่วยในขณะนั้น เมื่อได้รับรายงานเกี่ยวกับรถถัง KV-2 ราวส์ก็ตั้งสมมติฐานว่ารถถังดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกำลังเสริมของโซเวียตเตรียมจะเข้าตีโต้ทหารเยอรมัน จึงสั่งให้รอดูสถานการณ์ก่อน ระหว่างที่ราวส์ลังเลอยู่นั้น ก็มีขบวนลำเลียงของเยอรมันอีกขบวนหนึ่งแล่นผ่านมาโดยไม่รู้ว่ามีรถถังโซเวียตอยู่ในพื้นที่ คราวนี้ฝ่ายเยอรมันไม่โชคดีเหมือนคราวก่อน รถถัง KV-2 เปิดฉากยิงใส่ทำลายรถบรรทุกของเยอรมันไป 12 คัน ถึงตอนนี้ราวส์ได้ข้อมูลจากคนในพื้นที่ยืนยันแล้วว่ามีรถถังโซเวียตแค่คันเดียว จึงออกคำสั่งให้ทำลายรถถังคันดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพื่อเปิดทางให้ขบวนลำเลียงของเยอรมันแล่นผ่านไปให้ได้

ทหารเยอรมันนำปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง PaK-38 ขนาด 50 มิลลิเมตร 4 กระบอกยิงใส่รถถัง KV-2 จำนวน 8 นัด หลังจากรถถังหยุดนิ่งไปสักพักหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดจากแก้วหูของพลประจำรถได้รับการกระทบกระเทือนจากแรงกระแทกของกระสุนปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง ก็ค่อยๆหันป้อมปืนใหญ่ขนาด 152 มิลลิเมตร ยิงทำลายปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของเยอรมันทีละกระบอกจนหมด ต่อมาทหารเยอรมันพยายามใช้ปืนใหญ่วิถีโค้งขนาด 105 มิลลิเมตรยิงทำลายรถถัง KV-2 แต่พลาดเป้า ไม่สามารถยิงถูกรถถังจากระยะที่ปลอดภัยได้ จึงเปลี่ยนไปใช้ปืนต่อสู้อากาศยาน FlaK-36 ขนาด 88 มิลลิเมตรยิงใส่จากระยะ 700 เมตรแทน แต่ระหว่างที่ทหารเยอรมันกำลังตั้งปืนอยู่ ก็ถูกรถถัง KV-2 ตรวจพบและยิงทำลายได้เสียก่อน ฝ่ายเยอรมันจึงเปลี่ยนแผนส่งทหารช่างเข้าไปลอบวางระเบิดในเวลากลางคืน แต่ก็ยังไม่สามารถทำลายรถถัง KV-2 ได้ แรงระเบิดเพียงแต่ทำให้ล้อกดสายพานหลุดออกมาเท่านั้น

สุดท้ายในวันที่ 25 มิถุนายน ฝ่ายเยอรมันจึงตัดสินใจใช้รถถังเบา Panzer-35(t) แล่นเข้าไปดึงดูดความสนใจของรถถัง KV-2 ขณะเดียวกันก็ใช้ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 88 มิลลิเมตรยิงเข้าใส่รถถัง KV-2 จำนวน 2 นัดจนแน่นิ่งไป ก่อนจะยิงซ้ำอีก 4 นัดเพื่อให้แน่ใจ จากนั้นทหารเยอรมันก็ล้อมวงเข้าไปตรวจสอบ พบว่ามีกระสุนขนาด 88 มิลลิเมตรเพียง 2 นัดที่เจาะเกราะรถถังโซเวียตเข้าไปได้ ทันใดนั้นป้อมปืนของรถถัง KV-2 ก็เริ่มหมุนอีกครั้งส่งผลให้ทหารเยอรมันวงแตก วิ่งหนีไปคนละทิศละทาง แต่มีทหารนายหนึ่งสามารถโยนระเบิดมือเข้าไปในป้อมปืนรถถัง สังหารพลประจำรถทั้ง 6 นายได้ ฝ่ายเยอรมันประทับใจความกล้าหาญของพลประจำรถถังโซเวียตทั้ง 6 นายมาก จึงจัดพิธีฝังศพให้อย่างสมเกียรติเท่าที่สามารถทำได้

วีรกรรมของรถถัง KV-2 หรืออสูรแห่งราไซนี (The Monster of Raseiniai) เพียงคันเดียว สามารถสกัดการรุกของทหารเยอรมันไว้ได้นานถึง 2 วัน

สวัสดี

13.10.2020

แสดงความคิดเห็น