
(Morio/ Wikimedia Commons)
ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีพบว่าขีดความสามารถของปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง PaK-36 ขนาด 37 มิลลิเมตรและ PaK-38 ขนาด 50 มิลลิเมตรที่ตนใช้อยู่ ไม่เพียงพอรับมือรถถังของฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นรถถัง Char B1 ของฝรั่งเศส, Matilda II ของอังกฤษ, รถถัง T-34 และ KV-1 ของสหภาพโซเวียต ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องพัฒนาปืนใหญ่ต่อสู้รถถังที่มีขีดความสามารถสูงขึ้นได้แก่ PaK-40 ขนาด 75 มิลลิเมตรและ PaK-43 ขนาด 88 มิลลิเมตร (ใช้พื้นฐานจาก FlaK-36 ขนาด 88 มิลลิเมตรซึ่งเป็นปืนต่อสู้อากาศยาน) แม้ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังรุ่นใหม่ทั้งสองรุ่นจะมีขีดความสามารถเพียงพอรับมือรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรได้เกือบทุกรุ่นจนสิ้นสุดสงคราม แต่ก็มีปัญหาคือมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก เวลาย้ายที่ตั้งต้องใช้รถลากเท่านั้น จึงมีแนวคิดที่จะนำปืนใหญ่ต่อสู้รถถังทั้งสองรุ่นไปดัดแปลงติดตั้งบนยานเกราะ เป็นยานเกราะล่ารถถัง (Panzerjäger หรือ Tank Destroyer)
ในปี ค.ศ.1943 เยอรมนีได้พัฒนายานเกราะล่ารถถังติดปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง PaK-43 ขนาด 88 มิลลิเมตรออกมาสองรุ่น รุ่นแรกคือ Hornisse หรือ Nashorn ใช้ตัวรถของรถถัง Panzer IV แม้จะมีขีดความสามารถสูง แต่มีเกราะบางพอจะป้องกันพลประจำรถจากอาวุธประจำกายทหารราบเท่านั้น เหมาะสำหรับใช้ซุ่มโจมตีจากระยะไกล อีกรุ่นหนึ่งคือ Ferdinand ใช้ตัวรถของรถถัง Tiger Porsche หรือ Tiger P ซึ่งไม่ผ่านการทดสอบในโครงการรถถัง Tiger I แต่ผู้ผลิตลักไก่ผลิตออกมาล่วงหน้าแล้วกว่า 100 คัน จึงต้องหาทางใช้ประโยชน์โดยนำมาดัดแปลงเป็นยานเกราะล่ารถถัง ออกรบครั้งแรกในสมรภูมิคูร์ส (Kursk) มีขีดความสามารถสูง สามารถทำลายรถถังโซเวียตได้จากระยะไกล หุ้มเกราะหนา ส่งผลให้มีจุดอ่อนคือน้ำหนักมาก ขาดความคล่องตัว สะพานส่วนใหญ่ในสหภาพโซเวียตไม่สามารถรองรับน้ำหนักของ Ferdinand ได้ ที่สำคัญคือ Ferdinand ไม่มีปืนกลไว้ป้องกันตัว ส่งผลให้ถูกทหารราบโซเวียตรุมทำลายได้ในระยะประชิด ภายหลังจึงมีการติดปืนกลเพิ่มเข้าไปแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Elefant จากจุดอ่อนเหล่านี้เองส่งผลให้เยอรมนีต้องพัฒนายานเกราะล่ารถถังรุ่นใหม่คือ Jagdpanther เข้าสู่สายการผลิตช่วงปลายปี ค.ศ.1943
ยานเกราะล่ารถถัง Jagdpanther ใช้ตัวรถของรถถัง Panther ซึ่งติดปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรมาถอดป้อมปืนออก ติดปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง PaK-43 ขนาด 88 มิลลิเมตรเข้าไปแทน หุ้มเกราะด้านหน้าหนา 80 มิลลิเมตร เกราะด้านข้างหนา 50 มิลลิเมตร เกราะด้านหลังหนา 40 มิลลิเมตร มีน้ำหนัก 45.5 ตัน ความเร็วสูงสุด 46 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 200 กิโลเมตร พลประจำรถ 5 นาย
กองทัพเยอรมันรับมอบยานเกราะล่ารถถัง Jagdpanther ชุดแรกในเดือนธันวาคม ค.ศ.1943 การผลิตเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรและภาวะขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้มี Jagdpanther ถูกผลิตออกมาเดือนละไม่กี่คันก่อนที่อัตราการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 10 คันในเดือนเมษายน ค.ศ.1944 จากเดิมที่เยอรมนีวางแผนจะจัดหา Jagdpanther จำนวน 160 คันภายในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1944 เพื่อจัดตั้งกองพันยานเกราะล่ารถถัง 3 กองพัน และแบ่งบางส่วนไว้ใช้ในการฝึก แต่ทว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมี Jagdpanther ถูกผลิตออกมาจริงเพียง 46 คันเท่านั้น พอจัดตั้งกองพันยานเกราะล่ารถถังได้กองพันเดียว ต่อมาเยอรมนีได้เพิ่มจำนวนแรงงานในการผลิต Jagdpanther ส่งผลให้อัตราการผลิตเพิ่มเป็นเดือนละ 20 คันในเดือนกันยายน ค.ศ.1944 หลังจากนั้นก็มีการเพิ่มจำนวนโรงงานส่งผลให้ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1944 สามารถผลิต Jagdpanther ออกมาได้ถึง 67 คัน รวมจำนวน Jagdpanther ที่ถูกผลิตออกมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองทั้งหมด 415 คัน
ยานเกราะล่ารถถัง Jagdpanther ออกรบครั้งแรกในสมรภูมินอร์มังดี วันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ.1944 ใกล้ St. Martin des Bois โดย Jagdpanther จำนวน 3 คันจากกองพันยานเกราะล่ารถถังที่ 654 สามารถทำลายรถถัง Churchill ของอังกฤษจำนวน 11 คันได้ภายในเวลาเพียง 2 นาที ก่อนที่จะถูกรถถังอังกฤษอีกชุดหนึ่งยิงใส่จากด้านข้างส่งผลให้สายพานของ Jagdpanther จำนวน 2 คันได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ พลประจำรถจึงต้องสละรถ หลังสมรภูมินอร์มังดี Jagdpanther ก็ถูกใช้งานในการรุกที่ป่าอาร์เดนส์หรือ Battle of the Bulge รวมถึงในแนวรบด้านตะวันออกกับสหภาพโซเวียต แม้ Jagdpanther จะมีขีดความสามารถสูง แต่กองทัพเยอรมันมีปัญหาขาดแคลนอะไหล่และน้ำมัน ส่งผลให้หลายครั้งพลประจำรถต้องทำลาย Jagdpanther ของตัวเองทิ้งเพื่อไม่ให้ถูกข้าศึกยึดไปได้ ยกตัวอย่างเช่นในเดือนมกราคม ค.ศ.1945 กองพันยานเกราะล่ารถถังที่ 563 สามารถทำลายยานเกราะข้าศึกได้ถึง 53 คันโดยสูญเสียเพียง Jagdpanther 1 คันและ Jagdpanzer IV 4 คันเท่านั้น แต่ต่อมากลับต้องทำลาย Jagdpanther ถึง 12 คันและ Jagdpanzer อีก 17 คันทิ้งด้วยตัวเอง เพื่อไม่ให้ถูกข้าศึกยึด
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง กองทัพฝรั่งเศสยังคงใช้งานยานเกราะล่ารถถัง Jagdpanther และรถถัง Panther ที่ยึดได้ ต่อไปจนถึงยุค 50
สวัสดี
19.10.2020