
(Bundesarchiv, Bild 183-J14953 / CC-BY-SA 3.0)
แม้เยอรมนีและญี่ปุ่นจะอยู่ฝ่ายเดียวกันในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือด้านการทหารน้อยมาก แทบไม่มีการวางแผนยุทธศาสตร์ต่างๆร่วมกันเลย ยกตัวอย่างเช่นในปี ค.ศ.1939 ระหว่างที่ญี่ปุ่นกำลังปะทะกับสหภาพโซเวียตที่ฮาลฮิน โกล (Khalkhin Gol) บริเวณชายแดนมองโกเลีย เยอรมนีกลับไปทำสัญญาไม่รุกรานกันกับโซเวียต แบ่งโปแลนด์และยุโรปตะวันออกกัน เพื่อที่เยอรมนีจะได้เตรียมทำสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศส โดยไม่ต้องพะวงแนวรบด้านตะวันออก ต่อมาในปี ค.ศ.1941 เมื่อเยอรมนีเตรียมบุกโซเวียต ญี่ปุ่นก็ได้หันความสนใจไปยังแหล่งทรัพยากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตรียมทำสงครามกับสหรัฐฯแล้ว ไม่ได้คิดจะร่วมมือกับเยอรมนีบุกโซเวียตจากทิศตะวันออกแต่อย่างใด ส่งผลให้โซเวียตสามารถนำทหารที่อยู่ในไซบีเรียและภาคตะวันออกไกลมาตีโต้ขับไล่กองทัพเยอรมันถอยร่นไปจากกรุงมอสโกได้ในช่วงนาทีสุดท้าย เป็นต้น ความร่วมมือของเยอรมนีและญี่ปุ่นในสมัยนั้นจำกัดอยู่เพียงแค่การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทางทหารของเยอรมันกับทรัพยากรบางอย่างของญี่ปุ่น ที่เยอรมนีไม่สามารถหาได้ในยุโรปเช่นยางพารา โดยในช่วงแรกทั้งสองประเทศใช้เรือสินค้าในการลำเลียง แต่เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มครองทะเลและน่านฟ้าได้ ก็เปลี่ยนไปใช้เรือดำน้ำแทน โดยเรือดำน้ำญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่และมีระยะปฏิบัติการมากกว่าเรือดำน้ำหรือเรืออู (U-boat) ของเยอรมัน สามารถแล่นไปถึงเมืองท่าในยุโรปที่กองทัพเยอรมันยึดครองอยู่ได้เลย ในขณะที่เรืออูต้องมีการเติมเชื้อเพลิงระหว่างทางจึงจะแล่นไปถึงญี่ปุ่นได้ หลายครั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นจึงใช้วิธีนัดแนะให้เรือดำน้ำทั้งสองฝ่ายมาพบกันกลางทางในมหาสมุทรอินเดีย
หนึ่งในเทคโนโลยีทางทหารที่กองทัพบกญี่ปุ่นต้องการจากเยอรมนีคือรถถัง เนื่องจากหลังสงครามในจีนชะงักงัน และญี่ปุ่นตัดสินใจแผ่อิทธิพลในเอเชียแปซิฟิกแทน ทรัพยากรที่ญี่ปุ่นมีอยู่จำกัดส่วนใหญ่ถูกโยกไปให้กองทัพเรือ ส่งผลให้การพัฒนารถถังรุ่นใหม่ๆของกองทัพบกหยุดชะงักลง (เป็นสาเหตุหนึ่งที่รถถังญี่ปุ่นสู้ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ได้) นายพลฮิโรชิ โอชิมะ (Hiroshi Ōshima) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในเยอรมนีจึงทำเรื่องขอเข้าเยี่ยมชมสนามทดสอบรถถังเยอรมัน ชมการสาธิตขีดความสามารถของรถถังหนัก Tiger I ญี่ปุ่นประทับใจขีดความสามารถของรถถังรุ่นนี้ จึงส่งคณะนายทหารจำนวน 12 นายนำโดยพันเอกอิชิเดะ (Ishide) เดินทางไปเยอรมนีเพื่อทำการสั่งซื้อและทดสอบรถถังในปี ค.ศ.1943 ญี่ปุ่นสั่งซื้อรถถังจากเยอรมนี 4 รุ่นๆ ละ 1 คันได้แก่รถถังหนัก Tiger I, รถถังกลาง Panther และรถถังกลาง Panzer III อีก 2 รุ่นได้แก่ Panzer III รุ่น J ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 50 มิลลิเมตรลำกล้องยาวและ Panzer III รุ่น N ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรลำกล้องสั้น พร้อมเอกสารข้อมูลทางเทคนิคต่างๆเพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถผลิตรถถังเหล่านี้ได้เองในประเทศภายใต้สิทธิบัตร ปัญหาคือรถถังเหล่านี้โดยเฉพาะ Tiger I และ Panther มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะขนส่งโดยเรือดำน้ำที่ญี่ปุ่นมีอยู่ในตอนนั้นได้ แม้จะแยกชิ้นส่วนแล้วก็ตาม ต้องรอจนกว่าเรือดำน้ำ I-400 รุ่นใหม่ของญี่ปุ่นจะต่อเสร็จก่อน อย่างเร็วที่สุดก็เดือนธันวาคม ค.ศ.1944 จึงจะเริ่มขนส่งได้ แม้จะมีอุปสรรคมากแต่ญี่ปุ่นก็จ่ายเงินให้เยอรมนี ได้เป็นเจ้าของรถถังทั้ง 4 คันอย่างเป็นทางการ เยอรมนีนำรถถังเหล่านี้ไปเก็บไว้ที่เมืองท่าบอร์โดในฝรั่งเศส ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1944 รอเรือดำน้ำญี่ปุ่นมารับไป แต่ทว่าวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี สถานการณ์ของเยอรมนีค่อยๆเลวร้ายลง เยอรมนีต้องการรถถังทุกคันที่ใช้ได้ จึงทำการเช่ารถถังที่ญี่ปุ่นซื้อไว้ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ.1944 ส่งไปให้ทหารเยอรมันใช้ และรถถังเหล่านี้ก็ถูกทำลายจนหมดในแนวรบด้านตะวันตก ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าในเบลเยียม ปิดตำนานรถถัง Tiger I ของญี่ปุ่น
คำถามที่เกิดขึ้นคือถ้าญี่ปุ่นสามารถขนส่งรถถัง Tiger I และรถถังเยอรมันรุ่นอื่นๆกลับประเทศได้ ผลของสงครามแปซิฟิกจะแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ ส่วนตัวผมมองว่าไม่แตกต่าง เพราะช่วงปลายสงครามญี่ปุ่นมีปัญหาขาดแคลนทรัพยากรทั้งเหล็กและน้ำมันซึ่งมีความจำเป็นสำหรับรถถัง ที่สำคัญคือช่วงปลายปี ค.ศ.1944 กองทัพเรือญี่ปุ่นสูญเสียกำลังรบไปเกือบทั้งหมดในยุทธนาวีทะเลฟิลิปปินส์ (Battle of the Philippine Sea) และยุทธนาวีอ่าวเลย์เต (Battle of Leyte Gulf) เรือดำน้ำสหรัฐฯทำการปิดล้อมญี่ปุ่น ดังนั้นต่อให้ญี่ปุ่นผลิตรถถังรุ่นใหม่ออกมาได้ ส่งไปประจำยังเกาะต่างๆ เรือลำเลียงรถถังเหล่านี้ก็มีโอกาสถูกจมระหว่างทาง หรือต่อให้รถถังไปถึงที่หมายได้ ก็มีโอกาสที่เรือลำเลียงน้ำมัน กระสุน และอะไหล่ต่างๆจะถูกสกัดระหว่างทาง ส่งผลให้รถถังใช้งานไม่ได้อีก ยิ่งรถถังเยอรมันมีความซับซ้อน ต้องการการปรนนิบัติบำรุงสูงด้วย แม้แต่กองทัพเยอรมันเองยังมีปัญหาเรื่องนี้ ญี่ปุ่นยิ่งไม่น่ารอด
สวัสดี
21.10.2020