ตุรกีทดสอบยิง S-400 ตั้งเงื่อนไขให้สหรัฐฯถ่ายทอดเทคโนโลยี Patriot

ภาพระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของรัสเซีย ระหว่างการซ้อมสวนสนามวันแห่งชัยชนะปี 2016 (Igor Dolgov/ 123RF)

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ตุรกีทดสอบยิงระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 จากรัสเซีย ที่เมือง Sinop ริมชายฝั่งทะเลดำ ทางภาคเหนือของตุรกี ผลการทดสอบไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ สื่อหลายสำนักรายงานข่าวแตกต่างกันไป สื่อ TASS ของรัสเซีย รายงานว่าตุรกีทดสอบยิง S-400 จำนวน 3 ลูก เข้าเป้าทั้งหมด ในขณะที่สื่อของกรีซเช่น Greek City Times รายงานว่า S-400 พลาดเป้า เนื่องจากคลิปวิดีโอการทดสอบที่มีเผยแพร่ออกมา มีเฉพาะตอนที่จรวดถูกยิงออกไปเท่านั้น ไม่มีคลิปตอนที่จรวดกระทบเป้า สื่อกรีซอ้างว่าสาเหตุเกิดจากตุรกีไม่ยอมให้ผู้เชี่ยวชาญจากรัสเซียเข้ามาให้คำแนะนำแก่ทหารตุรกีซึ่งยังไม่มีความชำนาญในการใช้ S-400 มากพอ (ตุรกีเคยประกาศจะไม่ให้รัสเซียเข้าถึง S-400 ในประเทศตุรกี เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับ NATO)

ไม่ว่าผลการทดสอบจริงๆจะเป็นอย่างไร แต่การทดสอบ S-400 ของตุรกีก็ถือเป็นการตบหน้าสหรัฐฯและ NATO เต็มๆ เพราะเท่ากับตุรกีได้เปิดใช้งาน S-400 ฝ่าฝืนคำขาดของสหรัฐฯที่ขู่ไม่ให้ตุรกีเปิดใช้งาน S-400 ให้ตั้งเป็นหุ่นไล่กาไว้เฉยๆ ไม่อย่างนั้นจะถูกคว่ำบาตรตามกฎหมาย Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act หรือ CAATSA นอกจากนี้การทดสอบดังกล่าวก็มีขึ้นก่อนหน้าการประชุม NATO เพียงไม่กี่วันเท่านั้น สื่อ Bloomberg รายงานว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของตุรกีประกาศว่าตุรกียังยืนยันตามข้อเรียกร้องเดิมให้สหรัฐฯถ่ายทอดเทคโนโลยี และตั้งสายการผลิตระบบป้องกันภัยทางอากาศ Patriot ร่วมกับตุรกี ในเมื่อสหรัฐฯเป็นผู้ผลิตอาวุธ อยากขายของ ก็ต้องหาทางจูงใจลูกค้า พูดง่ายๆว่าตุรกีกำลังใช้ S-400 แบล็คเมล์สหรัฐฯให้ขาย Patriot ให้ตุรกีในเงื่อนไขที่ตุรกีต้องการนั่นเอง

ทางด้านสหรัฐฯก็ออกมาประณามการทดสอบ S-400 ของตุรกี ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจยอมรับได้ในฐานะสมาชิก NATO เป็นภัยคุกคามต่อเครื่องบินขับไล่ F-35 และระบบอาวุธอื่นๆของสหรัฐฯและ NATO นักการเมืองสหรัฐฯหลายคนเรียกร้องให้คว่ำบาตรตุรกีตามกฎหมาย CAATSA ทันที อ้างอิงข่าวจาก Voice of America

จริงๆแล้วแรกเริ่มเดิมทีตุรกีต้องการจัดหา Patriot จากสหรัฐฯนะครับเพราะเป็นสมาชิก NATO แต่ตุรกีต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธของตัวเอง ไม่ต้องการเป็นผู้ซื้ออย่างเดียว จึงตั้งเงื่อนไขให้สหรัฐฯถ่ายทอดเทคโนโลยี Patriot ให้ด้วย แต่สหรัฐฯไม่ยอม เพราะไม่ต้องการให้ตุรกีพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลออกมาขายแข่ง (ก่อนหน้านี้สหรัฐฯเคยห้ามไม่ให้อิสราเอลเสนอขายระบบป้องกันภัยทางอากาศ David’s Sling ให้สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อไม่ให้เป็นคู่แข่ง Patriot) ตุรกีจึงหันไปจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ FD-2000 (รุ่นส่งออกของ HQ-9 หรือ S-300 made in China) จากจีนแทนในปี ค.ศ.2013 แต่ก็ถูกกดดันจนต้องยกเลิกโครงการไป สุดท้ายเมื่อตุรกีเริ่มฟื้นสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย จึงเลือกจัดหา S-400 จากรัสเซีย เซ็นสัญญาเมื่อปี ค.ศ.2017 รับมอบปี ค.ศ.2019 ส่งผลให้สหรัฐฯขับไล่ตุรกีออกจากโครงการ F-35 อ้างว่า S-400 สามารถเก็บข้อมูลของ F-35 ส่งให้รัสเซียได้ ถือเป็นภัยคุกคามต่อโครงการ F-35 แต่สหรัฐฯยังไม่ใช้กฎหมาย CAATSA คว่ำบาตรตุรกีแต่อย่างใด เพียงแต่ตั้งเงื่อนไขเอาเถิดเอาล่อกับตุรกีเท่านั้น ตอนแรกก็ขู่ให้ตุรกียกเลิกดีล S-400 พอตุรกีไม่ยกเลิก รับมอบ S-400 มาแล้ว สหรัฐฯก็เปลี่ยนเงื่อนไขว่าห้ามไม่ให้ตุรกีเปิดใช้งาน S-400 ให้ตั้งเป็นหุ่นไล่กาไว้เฉยๆ คราวนี้ตุรกีทดสอบยิง S-400 ให้เห็นจะๆแล้วก็ต้องรอดูต่อไปว่าสหรัฐฯจะเปลี่ยนเงื่อนไขอย่างไรอีก สาเหตุที่สหรัฐฯไม่กล้าคว่ำบาตรตุรกีเพราะตุรกีเป็นสมาชิกสำคัญของ NATO มีกองทัพใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มรองจากสหรัฐฯ แถมยังมีที่ตั้งคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ถ้ากดดันตุรกีมากเกินไป แล้วตุรกีถอนตัวจาก NATO ย้ายข้างไปอยู่ฝั่งรัสเซีย-จีนจะส่งผลต่อดุลอำนาจระหว่างประเทศมาก ทางด้านตุรกีก็รู้ว่าทั้งสหรัฐฯและรัสเซียต่างก็อยากได้ตัวเองเป็นพวก จึงดำเนินนโยบายหาผลประโยชน์จากทั้งสหรัฐนและรัสเซีย ขณะเดียวกันก็ค่อยๆสั่งสมอำนาจอิทธิพลของตัวเองในภูมิภาค พยายามตั้งตนเป็นผู้นำมุสลิมและชาวเติร์กเหมือนจักรวรรดิออตโตมันในอดีต

สวัสดี

22.10.2020

แสดงความคิดเห็น