สงครามจำกัดขอบเขตมีส่วนช่วยให้การใช้งานโดรนของตุรกีประสบความสำเร็จ

ภาพโดรน Bayraktar TB2 ของตุรกี (Bayhaluk/ Wikimedia Commons)

ปัจจุบันโดรนติดอาวุธหรือ UCAV เป็นยุทโธปกรณ์ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดประเภทหนึ่ง โดยเฉพาะโดรนของตุรกีเช่น Bayraktar TB2 ซึ่งถูกใช้งานในหลายสมรภูมิ ประสบความสำเร็จมาก เช่นในจังหวัดอิดลิบของซีเรีย ซึ่งตุรกีสามารถใช้โดรนสกัดการรุกของกองทัพรัฐบาลซีเรียได้สำเร็จ บีบให้รัฐบาลซีเรียและผู้สนับสนุนคือรัสเซียต้องยอมรับข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มกบฏที่ตุรกีสนับสนุน ไม่สามารถยึดอิดลิบได้อย่างเด็ดขาด ต่อมาตุรกีก็ส่งโดรนไปสนับสนุนกองกำลังฝ่ายรัฐบาลปรองดองแห่งชาติลิเบียที่กรุงตริโปลี สกัดการรุกของกองทัพแห่งชาติลิเบียของจอมพลฮาฟตาร์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศเช่นอียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซีย ฯลฯ จนสามารถพลิกสถานการณ์ให้ฝ่ายรัฐบาลลิเบียที่เกือบจะโดนตีตกทะเลเมดิเตอเรเนียนอยู่แล้ว กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ขับไล่กองทัพแห่งชาติลิเบียถอยร่นไปถึงเมืองเซอร์เตและจูฟรา จนอียิปต์เกือบต้องเข้าแทรกแซงสงครามลิเบีย ล่าสุดอาเซอร์ไบจานก็ใช้โดรนของตุรกีและอิสราเอลในพื้นที่พิพาทนาร์กอโน-คาราบัค สามารถทำลายยุทโธปกรณ์ของอาร์เมเนียได้จำนวนมาก ความสำเร็จของโดรนในสมรภูมิเหล่านี้ส่งผลให้หลายคนมองโดรนเป็นอาวุธเทพ อาวุธวิเศษหรือ Wunderwaffe แห่งสงครามสมัยใหม่ ที่จะทำให้ยุทโธปกรณ์อื่นๆทั้งหมดเช่นยานเกราะ รถถัง เครื่องบิน ฯลฯ ล้าสมัยหหมด ไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว ใช้แต่โดรนอย่างเดียวก็สามารถชนะสงครามได้แล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ปฏิบัติการทางทหารที่ประสบความสำเร็จล้วนเกิดจากการใช้ยุทโธปกรณ์หลากหลายประเภทร่วมกันให้มีขีดความสามารถสูงสุด ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน

ในส่วนของโดรนก็มีลักษณะอย่างหนึ่งคล้ายกับอากาศยานทั่วไป คือแม้ขีดความสามารถจะดีแค่ไหน แต่ตอนที่จอดอยู่บนพื้นดินก็เป็นเป้านิ่งให้ฝ่ายตรงข้ามทำลายได้ง่าย บางครั้งการขัดขวางปฏิบัติการทางอากาศของฝ่ายตรงข้ามอาจไม่จำเป็นต้องหาทางสอยตัวอากาศยานลงมาด้วยซ้ำ แค่ทำให้ฐานทัพอากาศหรือสนามบินใช้งานไม่ได้ก็พอแล้ว กรณีนี้โดรนอาจเปราะบางกว่าเครื่องบินรบที่มีนักบินเสียอีก เพราะเครื่องบินรบนั้นเมื่อขึ้นบินไปแล้ว ต่อให้สนามบินถูกทำลาย ก็สามารถปฏิบัติการต่อไปได้จนกว่าอาวุธและเชื้อเพลิงจะหมด แต่โดรนต่อให้ขึ้นบินไปแล้ว เมื่อศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินถูกทำลายก็จะไม่สามารถปฏิบัติการต่อไปได้อีก ความปลอดภัยของฐานบินโดรนจึงมีความสำคัญมาก และลักษณะการรบที่เป็นสงครามจำกัดขอบเขตในจังหวัดอิดลิบ, กรุงตริโปลี และแคว้นนาร์กอโน-คาราบัค ก็เอื้ออำนวยต่อประเด็นนี้เป็นอย่างดี

ในสมรภูมิจังหวัดอิดลิบนั้น รัสเซียต้องการจำกัดขอบเขตการสู้รบให้อยู่ระหว่างกองทัพซีเรียและกลุ่มกบฏเท่านั้น ไม่ต้องการปะทะกับตุรกี ทำนองเดียวกับที่รัสเซียห้ามซีเรียใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 ยิงใส่เครื่องบินรบอิสราเอล อนุญาตให้ใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้-กลางเช่น Pantsir-S1 ยิงสกัดจรวดที่อิสราเอลยิงมาเท่านั้น ในอิดลิบก็เช่นกัน โดรนของตุรกีสามารถขึ้นบินจากฐานบินในประเทศตุรกีเข้ามาโจมตีทางอากาศกองทัพซีเรียในอิดลิบได้อย่างสะดวกฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องกังวลว่าฐานบินโดรนจะถูกโจมตีแต่อย่างใด ทั้งที่กองทัพซีเรียก็พอจะมีเครื่องมือที่จะใช้โจมตีแนวหลังของตุรกีได้อยู่ เช่นจรวดหลายลำกล้อง BM-30 Smerch, ขีปนาวุธ Tochka-U, ขีปนาวุธ Scud และระบบป้องกันชายฝั่ง Bastion แต่ไม่สามารถใช้ได้ เพราะรัสเซียคอยกำกับอยู่นั่นเอง กรณีนี้แม้ผิวเผินจะดูเหมือนว่ารัสเซียจะสนใจแต่ผลประโยชน์ตัวเอง รักษาความสัมพันธ์กับตุรกีและอิสราเอล แต่ก็ต้องยอมรับว่ากำลังรบของกองทัพซีเรียได้ร่อยหรอลงไปมากจากการสู้รบนาน 9 ปี ไม่อยู่ในสภาพที่จะเปิดสงครามกับตุรกีและอิสราเอลได้ ดังนั้นการที่รัสเซียคอยจำกัดขอบเขตการรบให้กองทัพซีเรียอยู่ มองมุมหนึ่งก็เป็นผลดีเช่นกัน

ในสงครามลิเบีย แม้ตุรกีจะต้องยกกำลังข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนไปตั้งฐานบินโดรนที่สนามบินในกรุงตริโปลีซึ่งอยู่ใกล้กับแนวหน้า แต่อาวุธหลักของกลุ่มติดอาวุธในลิเบียทั้งสองฝ่าย รวมถึงกองทัพแห่งชาติลิเบีย มีเพียงรถกระบะติดอาวุธ มีอาวุธหนักเช่นรถถัง ปืนใหญ่ จรวดหลายลำกล้องน้อยมาก เครื่องบินรบก็มีแต่รุ่นเก่าเช่นเครื่องบินขับไล่ MiG-21 และเครื่องบินฝึก L-39 ไม่กี่ลำเท่านั้น เนื่องจากอาวุธหนักของลิเบียถูกทำลายไปเกือบหมดในปี ค.ศ.2011 ตอนที่ NATO ทำการโจมตีทางอากาศสนับสนุนกลุ่มกบฏโค่นล้มกัดดาฟี่ เท่ากับว่าฐานบินโดรนของตุรกีในลิเบียค่อนข้างปลอดภัย แม้จะอยู่ใกล้แนวหน้าก็ตาม เพราะกองทัพแห่งชาติลิเบียไม่มีขีดความสามารถมากพอที่จะทำให้สนามบินตริโปลีใช้งานไม่ได้ ขณะที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพแห่งชาติลิเบียก็มีเพียง Pantsir-S1 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งมาให้ เมื่อตุรกีจัดการ Pantsir-S1 ได้ ยุทโธปกรณ์อื่นๆของกองทัพแห่งชาติลิเบียก็กลายเป็นเป้านิ่ง

ล่าสุดในพื้นที่พิพาทนาร์กอโน-คาราบัค แม้อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานจะใช้อาวุธหนักทั้งยานเกราะ รถถัง ปืนใหญ่ จรวดหลายลำกล้อง ไปจนถึงขีปนาวุธซัดใส่กันเต็มที่ แต่การรบจำกัดอยู่แค่ในพื้นที่พิพาทเท่านั้น ไม่ได้ลุกลามไปเป็นสงครามเบ็ดเสร็จเต็มรูปแบบระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานแต่อย่างใด ส่งผลให้สถานการณ์คล้ายกับในอิดลิบ คืออาเซอร์ไบจานสามารถส่งโดรนขึ้นจากฐานบินภายในประเทศเข้าไปโจมตีกองกำลังอาร์เมเนียในนาร์กอโน-คาราบัคได้อย่างสะดวก ไม่ต้องกังวลว่าฐานบินโดรนจะถูกโจมตี ยกเว้นที่ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่าหลายเมืองในอาเซอร์ไบจานถูกอาร์เมเนียโจมตีด้วยขีปนาวุธ ส่วนตัวผมเชื่อว่าเป้าหมายหลักของอาร์เมเนียคือสนามบินและฐานบินโดรนของอาเซอร์ไบจานนั่นเอง ถ้าอาเซอร์ไบจานตอบโต้แล้วรัสเซียต้องเข้าแทรกแซงในฐานะสมาชิก CSTO ก็ถือเป็นผลพลอยได้ แต่ทว่าขีปนาวุธของอาร์เมเนียกลับพลาดเป้าไปตกในเขตที่อยู่อาศัยของพลเรือนรอบๆสนามบินที่เป็นเป้าหมายนั่นเอง พอข่าวเผยแพร่ออกมา อาร์เมเนียก็คงถูกกดดันจนต้องยกเลิกปฏิบัติการดังกล่าวไปในที่สุด แล้วโดรนของอาเซอร์ไบจานก็สามารถปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในนาร์กอโน-คาราบัคต่อไปได้อย่างสะดวก โดยที่อาร์เมเนียทำได้เพียงตั้งรับเท่านั้น ที่สำคัญระบบป้องกันภัยทางอากาศของอาร์เมเนียส่วนใหญ่ก็เป็นของเก่าจากยุค 80 รวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300PS ซึ่งเป็น S-300 รุ่นแรกๆเข้าประจำการในกองทัพโซเวียตตั้งแต่ปี ค.ศ.1985

จะเห็นได้ว่าลักษณะของการสู้รบในจังหวัดอิดลิบ กรุงตริโปลี และแคว้นนาร์กอโน-คาราบัค ซึ่งเป็นสงครามจำกัดขอบเขต มีส่วนในความสำเร็จของโดรนของตุรกีและอาเซอร์ไบจานซึ่งขึ้นบินจากฐานบินที่ปลอดภัยนอกพื้นที่สู้รบ โจมตีทางอากาศกองกำลังฝ่ายตรงข้ามที่มีขีดความสามารถด้อยกว่า ขาดเครื่องบินรบและเครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ทันสมัย ตกเป็นเป้าได้ง่าย อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ ที่ผ่านมาก็มีโดรนของตุรกีและอาเซอร์ไบจานถูกยิงตกไปหลายสิบลำเช่นกัน แต่เนื่องจากตุรกีเป็นประเทศผู้ผลิตโดรนจึงสามารถผลิตลำใหม่ออกมาทดแทนลำที่สูญเสียไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งความจริงแล้วความสามารถในการจัดหาโดรนลำใหม่มาทดแทนลำที่สูญเสียไปอาจมีความสำคัญมากกว่าขีดความสามารถของโดรนเองเสียอีก ส่วนตัวผมมองว่าขีดความสามารถและหลักนิยมของโดรนยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนา จำเป็นที่จะต้องมีการทดสอบในสมรภูมิจริง นำบทเรียนมาพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะการปฏิบัติการร่วมกับยุทโธปกรณ์อื่นๆในสงครามเบ็ดเสร็จเต็มรูปแบบกับฝ่ายตรงข้ามที่มีขีดความสามารถใกล้เคียงกันหรือเหนือกว่า

สวัสดี

31.10.2020

แสดงความคิดเห็น