ตั้งชื่อปืนใหญ่ตามชื่อดอกไม้ สไตล์โหดสัสรัสเซีย

จรวดหลายลำกล้อง BM-13 Katyusha ของสหภาพโซเวียต เป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งชื่อตามหญิงสาวในเพลงพื้นบ้าน Katyusha (เป็นหนึ่งในชื่อเล่นของ Ekaterina) และต่อมา Katyusha ก็กลายเป็นชื่อเรียกรวมๆของอาวุธประเภทจรวดหลายลำกล้องจนถึงปัจจุบัน การตั้งชื่ออาวุธตามชื่อหญิงสาวถือว่าประหลาดมาก เพราะปกติการตั้งชื่ออาวุธนั้นถ้าไม่มีรหัสเฉพาะก็มักจะต้องตั้งชื่อให้ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามไว้ก่อน เช่นตั้งตามชื่อเมือง บุคคลสำคัญ หรือไม่ก็ตามชื่อผู้ผลิต แต่สหภาพโซเวียตและรัสเซียมีธรรมเนียมที่แตกต่างออกไป ยุทโธปกรณ์หลายรุ่นถูกตั้งชื่อตามสิ่งของในชีวิตประจำวันเช่นชื่อจรวดพื้นสู่อากาศประทับบ่า (MANPADS) รุ่น Igla แปลว่าเข็ม (needle) นอกจากนี้ปืนใหญ่อัตตาจรที่เข้าประจำการช่วงยุค 70 ทุกรุ่นยังตั้งชื่อตามชื่อดอกไม้ด้วย

ดอกคาร์เนชั่น: ปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 122 มิลลิเมตร 2S1 Gvozdika

ปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 122 มิลลิเมตร 2S1 Gvozdika เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1972 มีน้ำหนัก 16 ตัน ใช้พลประจำรถ 4 นาย ระยะยิงไกลสุด 15.2 กิโลเมตร อัตราการยิง 4 – 5 นัดต่อนาที บรรทุกกระสุน 40 นัด มีจุดเด่นคือมีคุณสมบัติสะเทินน้ำสะเทินบก สามารถเคลื่อนที่ในน้ำด้วยความเร็ว 4.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ขณะเคลื่อนที่ในน้ำจะสามารถบรรทุกกระสุนได้เพียง 30 นัด นอกจากนี้ยังสามารถขึ้นเครื่องบินลำเลียง Il-76 และ C-130 ได้ มีประจำการในรัสเซีย ยูเครน เบลารุส อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน จอร์เจีย ฟินแลนด์ เซอร์เบีย ซีเรีย โปแลนด์ เวียดนาม อิรัก อิหร่าน ลิเบีย ฯลฯ ผ่านสมรภูมิหลายแห่งทั่วโลก โดยปัจจุบันกองทัพรัสเซียยังมี Gvozdika ใช้งานอยู่ประมาณ 600 คัน

ภาพปืนใหญ่อัตตาจร 2S1 Gvozdika
(Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
คลิปปืนใหญ่อัตตาจร 2S1 Gvozdika ของเบลารุส

ดอกอาเคเชีย: ปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 152 มิลลิเมตร 2S3 Akatsiya

ปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 152 มิลลิเมตร 2S3 Akatsiya พัฒนาขึ้นมาถ่วงดุลกับปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 155 มิลลิเมตร M109 ของสหรัฐฯ เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1971 มีน้ำหนัก 28 ตัน ใช้พลประจำรถ 4 นาย ระยะยิงไกลสุด 24 กิโลเมตร อัตราการยิง 3 – 4 นัดต่อนาที บรรทุกกระสุน 40 นัด มีใช้งานในหลายประเทศทั่วโลกเช่นรัสเซีย เบลารุส ยูเครน อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย คาซัคสถาน ซีเรีย อิรัก คิวบา ลาว เวียดนาม ฯลฯ ผ่านสมรภูมิอัฟกานิสถาน สงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามอ่าวเปอร์เซีย เชชเนีย ออสเซเทียใต้ ลิเบีย ซีเรีย และดอนบาส โดยปัจจุบันกองทัพรัสเซียมี Akatsiya ใช้งานอยู่ประมาณ 900 คัน และมีสำรองไว้ในคลังอีกประมาณ 1,600 คัน ในอนาคตมีแผนจะทดแทนด้วยปืนใหญ่อัตตาจร 2S35 Koalitsiya-SV ขนาด 152 มิลลิเมตรรุ่นใหม่

ภาพปืนใหญ่อัตตาจร 2S3 Akatsiya
(Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
คลิปปืนใหญ่อัตตาจร 2S3 Akatsiya ของรัสเซียขณะซ้อมรบในทาจิกิสถาน

ดอกทิวลิป: ปืน ค. อัตตาจรขนาด 240 มิลลิเมตร 2S4 Tyulpan

ปืน ค. อัตตาจรขนาด 240 มิลลิเมตร 2S4 Tyulpan มีน้ำหนัก 30 ตัน มีพลประจำรถ 5 นาย อัตราการยิง 1 นัดต่อนาที ระยะยิงไกลสุด 19 กิโลเมตร เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1972 ออกแบบมาใช้ทำลายที่มั่นฝ่ายตรงข้ามที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ผ่านสมรภูมิอัฟกานิสถาน เชชเนีย และดอนบาส ปัจจุบันกองทัพรัสเซียมี Tyulpan ประจำการอยู่เพียง 40 คันเท่านั้น แต่มีสำรองไว้ในคลังมากกว่า 380 คัน ช่วงที่ผ่านมารัสเซีย (โซเวียต) ส่งออกปืน ค. ขนาด 240 มิลลิเมตรเฉพาะรุ่นลากจูง M240 ให้ซีเรีย อียิปต์ และประเทศยุโรปตะวันออกบางประเทศเท่านั้น ส่วนรุ่นอัตตาจรคือ Tyulpan นั้นกองทัพรัสเซียยังคงเป็นผู้ใช้รายเดียว อาวุธประเภทนี้ NATO ไม่มีใช้งาน เนื่องจากตามหลักนิยมของตะวันตก การทำลายที่มั่นแข็งแรงของข้าศึกจะใช้การโจมตีทางอากาศด้วยอาวุธนำวิถีเช่น JDAM เป็นหลัก ต่างจากรัสเซีย (โซเวียต) ที่ให้ความสำคัญกับปืนใหญ่มากกว่า

ภาพปืน ค. อัตตาจร 2S4 Tyulpan
(Dmottl/ Wikimedia Commons)
คลิปปืน ค. อัตตาจร 2S4 Tyulpan ของรัสเซีย

ดอกไฮยาซินธ์: ปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 152 มิลลิเมตร 2S5 Giatsint-S

ปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 152 มิลลิเมตร 2S5 Giatsint-S เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1978 ทดแทนปืนใหญ่ลากจูง M46 ขนาด 130 มิลลิเมตร ผ่านสมรภูมิอัฟกานิสถาน เชชเนีย และดอนบาส มีระยะยิงไกลสุด 40 กิโลเมตร อัตราการยิง 5 – 6 นัดต่อนาที บรรทุกกระสุน 30 นัด (มีรถบรรทุกกระสุนสำรองอีก 30 นัด) แม้สายการผลิตของ Giatsint-S จะปิดไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 แต่มันยังคงถูกใช้งานอยู่ในหลายประเทศเช่นรัสเซีย เบลารุส ยูเครน จอร์เจีย ฯลฯ ปัจจุบันกองทัพบกและนาวิกโยธินรัสเซียมี 2S5 ประจำการรวมกันประมาณ 570 คัน และมีสำรองไว้ในคลังอีกประมาณ 500 คัน

ภาพปืนใหญ่อัตตาจร 2S5 Giatsint-S
(One half 3544/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
คลิปปืนใหญ่อัตตาจร 2S5 Giatsint-S ของรัสเซีย

ดอกโบตั๋น: ปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 203 มิลลิเมตร 2S7 Pion

ปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 203 มิลลิเมตร 2S7 Pion เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1976 ผ่านสมรภูมิอัฟกานิสถาน เชชเนีย ออสเซเทียใต้ ดอนบาส และนาร์กอโน-คาราบัค มีระยะยิงไกลสุด 47.5 กิโลเมตร อัตราการยิง 1.5 นัดต่อนาที บรรทุกกระสุน 4 นัด (มีรถบรรทุกกระสุนสำรองอีก 4 นัด) มีประจำการในรัสเซีย เบลารุส ยูเครน จอร์เจีย และอาเซอร์ไบจาน โดยปัจจุบันกองทัพรัสเซียมีปืนใหญ่อัตตาจร 2S7M Malka รุ่นอัพเกรดใช้งานอยู่ประมาณ 60 คัน เพิ่มอัตราการยิงเป็น 2.5 นัดต่อนาทีและเพิ่มจำนวนกระสุนที่บรรทุกได้เป็น 8 นัด

ภาพปืนใหญ่อัตตาจร 2S7 Pion
(Nickel nitride/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
คลิปปืนใหญ่อัตตาจร 2S7 Pion และปืน ค. อัตตาจร 2S4 Tyulpan ของรัสเซีย

หลังจากผ่านยุค 70 ไปแล้ว สหภาพโซเวียตและรัสเซียเริ่มใช้ชื่อดอกไม้ในการตั้งชื่อปืนใหญ่น้อยลง เช่นปืนใหญ่ลากจูง 2A65 Msta-B และปืนใหญ่อัตตาจร 2S19 Msta ขนาด 152 มิลลิเมตร ตั้งชื่อตามแม่น้ำมึสต้า (Msta) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย ขณะที่ชื่อปืนใหญ่อัตตาจร 2S35 Koalitsiya-SV ก็มาจากคำว่า Coalition แต่ธรรมเนียมนี้ก็ยังไม่สูญหายไปไหน โดยปืน ค. อัตตาจรขนาด 120 มิลลิเมตรรุ่นใหม่ล่าสุดสำหรับหน่วยพลร่มรัสเซียคือ 2S42 Lotos ซึ่งพัฒนามาทดแทน 2S9 Nona ตั้งชื่อตามดอกบัว (Lotus)

สวัสดี

02.11.2020

แสดงความคิดเห็น