
(Korea Aerospace Industries/ Flickr)
มีข่าวจาก Janes และ Flight Global รายงานว่าเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา บริษัท Korea Aerospace Industries หรือ KAI ผู้ผลิตอากาศยานของเกาหลีใต้ ส่งจดหมายถึงเอกอัครราชทูตอาร์เจนตินา แสดงความเสียใจที่บริษัท KAI ไม่สามารถขายเครื่องบินขับไล่โจมตีเบา FA-50 Fighting Eagle ให้อาร์เจนตินาได้ เนื่องจากอังกฤษซึ่งมีมาตรการคว่ำบาตรอาร์เจนตินาอยู่ ไม่ให้สิทธิบัตรการส่งออกชิ้นส่วนสำคัญจำนวน 6 ชิ้นซึ่งผลิตในอังกฤษ ในจดหมายไม่ได้ระบุจำนวน FA-50 ที่อาร์เจนตินาจะจัดหา แต่ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่าอาร์เจนตินาต้องการจัดหา FA-50 จากเกาหลีใต้จำนวน 8 ลำ
การที่อังกฤษไม่ให้สิทธิบัตรการส่งออกชิ้นส่วนเครื่องบินรบให้อาร์เจนตินา แทบจะส่งผลให้อาร์เจนตินาไม่สามารถจัดหาเครื่องบินรบค่ายตะวันตกได้เลย ไม่ใช่แค่ของเกาหลีใต้ เพราะเครื่องบินรบค่ายตะวันตกเกือบทั้งหมดรวมถึงเครื่องบินขับไล่ F-16 และ JAS-39 Gripen ล้วนแต่มีชิ้นส่วนที่ผลิตในอังกฤษทั้งสิ้น ตอนนี้ตัวเลือกเครื่องบินรบใหม่ของอาร์เจนตินาจึงน่าจะเป็นเครื่องบินรบค่ายรัสเซียและจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองประเทศก็เคยเสนอขายเครื่องบินรบให้อาร์เจนตินามาแล้ว อ้างอิงข้อมูลจากสื่อ Express อาร์เจนตินาเคยเจรจาจัดหาเครื่องบินโจมตี Su-24 Fencer จากรัสเซียจำนวน 12 ลำ ก่อนจะยกเลิกโครงการหันไปเจรจาจัดหาเครื่องบินขับไล่ JF-17 Thunder จากจีนจำนวน 20 ลำแทนในปี ค.ศ.2015 (ขณะเดียวกันก็มีบทความใน China Daily เชียร์ให้อาร์เจนตินาจัดหาเครื่องบินขับไล่ J-10) แต่หลังจากนั้นข่าวก็เงียบไป ต่อมาปี 2017 ก็มีข่าวจากสื่อ TASS รายงานว่าอาร์เจนตินาสนใจจัดหาเครื่องบินขับไล่ MiG-29 จากรัสเซีย แล้วข่าวก็เงียบหายไปอีก แม้ในสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศปัจจุบัน เครื่องบินรบค่ายรัสเซียและจีนอาจเหมาะสมกับอาร์เจนตินามากกว่า แต่กองทัพอากาศอาร์เจนตินาไม่เคยมีประสบการณ์ใช้งานเครื่องบินรบค่ายรัสเซียและจีนมาก่อน เรียกว่าต้องวางระบบสนับสนุน จัดหาอะไหล่และยุทโธปกรณ์ใหม่หมด ซึ่งต้องใช้งบประมาณมาก แม้เครื่องบินรบรัสเซียและจีนจะมีราคาถูกกว่าของตะวันตก แต่งบประมาณของอาร์เจนตินามีจำกัดมาก อาจรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวอยู่ดี อาจเป็นสาเหตุที่อาร์เจนตินาหันไปหาผู้ผลิตรายอื่นๆที่ผลิตอาวุธค่ายตะวันตกเหมือนกันเช่นเกาหลีใต้ แต่ก็ยังเจอตออีกเพราะผู้ผลิตเหล่านี้ก็ต้องใช้ชิ้นส่วนจากอังกฤษอยู่ดี ต้องติดตามต่อไปว่าอาร์เจนตินาจะมีแนวทางพัฒนาศักยภาพกองทัพอากาศต่อไปอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศปัจจุบันและงบประมาณที่มีจำกัด
สวัสดี
03.11.2020