พินอคคิโอพ่นไฟ: ระบบจรวดเพลิง TOS-1 บูราติโน่

ภาพ TOS-1A ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ.2010 ระหว่างการซ้อมสวนสนามวันแห่งชัยชนะ
(Vitaliy Ragulin/ Wikimedia Commons)

สหภาพโซเวียตและรัสเซียเป็นประเทศที่มีความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์ขันในการตั้งชื่ออาวุธยุทโธปกรณ์ สามารถใช้ชื่อสิ่งของทั่วไปในชีวิตประจำวัน ดอกไม้ ไปจนถึงคำที่ใช้เรียกอารมณ์ความรู้สึกมาตั้งชื่ออาวุธได้หมด แม้แต่ชื่อตัวละครในนิทานอย่างพินอคคิโอ ก็ถูกนำมาตั้งชื่ออาวุธสุดโหดอย่างระบบจรวดเพลิงหรือจรวดหลายลำกล้อง TOS-1 บูราติโน่ (Buratino)

ผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่าในเมื่อ TOS-1 มีชื่อเล่นว่าบูราติโน่ ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็ถือว่าน่าเกรงขามพอสมควร แล้วพินอคคิโอมาจากไหน ? คำตอบคือชื่อบูราติโน่มาจากชื่อตัวละครในนิทานของอเล็กเซย์ ตอลสตอย (Aleksey Tolstoy เป็นญาติห่างๆของเลโอ ตอลสตอย Leo Tolstoy) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากพินอคคิโอนั่นเอง เรื่องของเรื่องคือตอลสตอยเคยอ่านนิทานเรื่องพินอคคิโอในวัยเด็ก แล้วประทับใจมาก แต่ภายหลังได้ทำหนังสือนิทานดังกล่าวหายไป ต่อมาเมื่อเขาจะแต่งนิทานไว้เล่าให้ลูกฟัง จึงนำโครงเรื่องพินอคคิโอเท่าที่จำได้มาดัดแปลงใหม่ ตั้งชื่อตัวเอกซึ่งเป็นหุ่นเชิดไม้มีจมูกยาวเหมือนกันว่าบูราติโน่ จึงอาจกล่าวว่า TOS-1 ตั้งชื่อตามพินอคคิโอ

แม้ที่มาของชื่อจะดูน่ารักมุ้งมิ้ง แต่ขีดความสามารถของ TOS-1 ห่างไกลคำว่ามุ้งมิ้งมาก TOS-1 เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1988 รุ่นแรกมีจรวดขนาด 220 มิลลิเมตรจำนวน 30 ท่อยิง สามารถทำการยิงจรวดทุกลูกได้ภายในเวลา 15 วินาที จรวดใช้หัวรบเทอร์โมบาริค เป็นอาวุธเพลิงประเภทหนึ่ง แต่จะต่างจากปืนพ่นไฟหรือนาปาล์มตรงที่ไม่ได้ใช้ของเหลวฉีดไฟ แต่หัวรบเทอร์โมบาริคจะปล่อยสารเคมีแพร่ไปในอากาศ สามารถแทรกซึมเข้าไปในอาคารสิ่งปลูกสร้างรวมถึงถ้ำและสนามเพลาะ จากนั้นก็จะจุดระเบิดให้อากาศติดไฟ นอกจากจะทำให้เกิดการเผาไหม้แล้วยังส่งผลให้เกิดแรงดันอากาศอย่างรุนแรงด้วย เหมาะสำหรับใช้ทำลายที่มั่นข้าศึก กองทัพโซเวียตใช้งาน TOS-1 ครั้งแรกในอัฟกานิสถาน และต่อมารัสเซียก็ใช้ในสงครามเชชเนีย TOS-1 มีจุดอ่อนคือมีระยะยิงเพียง 3.5 กิโลเมตร ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะถูกฝ่ายตรงข้ามตอบโต้ได้ง่าย เป็นสาเหตุที่ท่อยิงจรวดรุ่นนี้ถูกติดตั้งบนตัวรถของรถถังหลัก T-72 แทนที่จะติดตั้งบนรถบรรทุกหรือรถสายพานทั่วไปที่มีเกราะบาง

ต่อมารัสเซียพัฒนา TOS-1A รุ่นใหม่ออกมา เพิ่มระยะยิงเป็น 6 กิโลเมตร (ล่าสุดมีการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ระยะยิง 10 กิโลเมตร) และลดจำนวนท่อยิงเหลือ 24 ท่อยิง สามารถทำการยิงจรวดครบทุกท่อได้ภายใน 6 วินาที มีชื่อเล่นภาษารัสเซียว่า Solntsepyok แปลได้ทำนองว่าดวงอาทิตย์ช่วงโชติ ซึ่งฟังดูเหมาะสมกว่าบูราติโน่เยอะเลย แต่เนื่องจากคำดังกล่าวออกเสียงหรือแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ยาก ส่งผลให้ชื่อบูราติโน่ยังเป็นที่นิยมต่อไป ปัจจุบันประเทศที่มี TOS-1A ใช้งานอยู่ได้แก่รัสเซีย แอลจีเรีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน ซาอุดิอาระเบีย อิรัก และซีเรีย ผ่านสมรภูมิมาแล้วทั้งในซีเรีย ดอนบาส อิรัก และนาร์กอโน-คาราบัค

สวัสดี

16.11.2020

คลิป TOS-1A ของกองทัพรัสเซีย
คลิป TOS-1A ของกองทัพรัสเซียทำการยิงระหว่างการซ้อมรบ Center-2019
คลิป TOS-1A ของกองทัพอิรัก

แสดงความคิดเห็น