สื่ออาร์เมเนียวิจารณ์รัฐบาลว่าควรซื้อโดรนจากจีน แทนเครื่องบินขับไล่เปล่าๆจากรัสเซีย

ภาพเครื่องบินขับไล่ Su-30 ของอาร์เมเนียระหว่างการสวนสนามทางอากาศวันแห่งชัยชนะ 9 พฤษภาคม 2020
(Raffi Kojian/ Wikimedia Commons/ CC BY 4.0)

มีข่าวน่าสนใจจากสื่อ Bloomberg และ The EurAsian Times พลเอก Movses Hakobyan อดีตนายทหารในกองทัพอาร์เมเนียออกมาวิจารณ์โครงการจัดหาอาวุธของรัฐบาลว่า จัดหาเครื่องบินขับไล่ Su-30 จากรัสเซียโดยไม่ได้ซื้อจรวดมาด้วย มีแต่เครื่องเปล่าๆ ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ออกรบกับอาเซอร์ไบจานได้ นอกจากนี้ระบบป้องกันภัยทางอากาศ 9K33 Osa ของอาร์เมเนียก็เป็นของมือสองที่ซื้อต่อจากจอร์แดน แทนที่จะซื้อรุ่นล่าสุดจากรัสเซีย การที่ Su-30 ของอาร์เมเนียไม่สามารถใช้ทำการรบได้ ประกอบกับระบบป้องกันภัยทางอากาศล้าสมัย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้อาร์เมเนียแพ้อาเซอร์ไบจานในพื้นที่พิพาทแคว้นคาราบัก ประเด็นนี้ส่งผลให้สื่อและนักวิเคราะห์ทางทหารของอาร์เมเนียพากันออกมาวิจารณ์รัฐบาลว่าไม่ควรจัดหา Su-30 จากรัสเซียตั้งแต่แรก ควรนำงบประมาณที่มีจำกัดไปจัดหาโดรนจากจีนเช่น Wing Loong, CH-3 หรือ CH-4 ซึ่งมีราคาถูกกว่าแทน ถ้าอาร์เมเนียมีโดรนประเภทนี้สัก 30 – 40 ลำก็คงช่วยพลิกสถานการณ์ให้กองทัพอาร์เมเนียได้

ส่วนตัวผมมองว่าอาร์เมเนียกำลังหลงประเด็น เมื่อเห็นว่าตัวเองเสียเปรียบโดรนของอาเซอร์ไบจานที่จัดหาจากตุรกีและอิสราเอล ก็เลยคิดว่า “ถ้ารู้อย่างนี้” ตัวเองน่าจะจัดหาโดรนจากจีนมาบ้าง มองว่าโดรนเป็นอาวุธวิเศษช่วยให้ชนะสงครามได้ โดยไม่ดูปัจจัยอื่นเลย ผมขอย้ำอีกครั้งว่าโดรนไม่ใช่อาวุธวิเศษ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในการใช้งานโดรน ไม่ใช่ขีดความสามารถของโดรน แต่เป็นความสามารถของผู้ใช้ในการทดแทนโดรนที่สูญเสียไปต่างหาก ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วในสงครามลิเบีย ฝ่ายกองทัพแห่งชาติลิเบียก็ได้รับการสนับสนุนโดรน Wing Loong ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE จัดหามาจากจีน แต่สุดท้ายกองทัพฝ่ายรัฐบาลตริโปลีซึ่งได้รับการสนับสนุนโดรน Bayraktar TB2 จากตุรกีกลับสามารถครองน่านฟ้าได้ สาเหตุก็เพราะตุรกีเป็นผู้ผลิตโดรน Bayraktar TB2 เมื่อถูกยิงตกไปก็สามารถผลิตมาทดแทนได้ทันที ในขณะที่ Wing Loong เมื่อถูกยิงตก ก็ต้องรอผู้สนับสนุนไปจัดหาจากจีนเพิ่ม หามาทดแทนได้ช้ากว่า หลังจากทำศึกลดทอนกำลัง Attrition warfare กันไปสักพัก โดรนของตุรกีก็เป็นฝ่ายชนะ ในกรณีของอาร์เมเนียก็เช่นกัน ต่อให้อาร์เมเนียหาเงินมาซื้อโดรนจีนได้หลายสิบลำ สุดท้ายก็สู้อาเซอร์ไบจานที่มีเศรษฐกิจดีกว่า สายป่านยาวกว่า แถมได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากตุรกีไม่ได้อยู่ดี

ขีดความสามารถของระบบป้องกันภัยทางอากาศก็มีความสำคัญ ระบบป้องกันภัยทางอากาศหลักของอาร์เมเนียประกอบด้วย 9K33 Osa ซึ่งเป็นของเก่าจากยุค 70 และ S-300PS ซึ่งเป็น S-300 รุ่นเก่าเข้าประจำการในกองทัพโซเวียตตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 มีระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่ๆเช่น Buk-M2 อยู่ไม่กี่ระบบเท่านั้น ไม่แปลกที่จะไม่สามารถรับมือฝูงโดรนรุ่นใหม่ๆของอาเซอร์ไบจานได้ อย่างไรก็ตามแม้ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอาร์เมเนียจะล้าสมัย ก็ยังสอยโดรนของอาเซอร์ไบจานลงมาได้หลายลำ ดังนั้นจะบอกว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศเมื่อถูกโจมตีด้วยโดรนแล้วถึงกับอับจนหนทางก็คงไม่ถูกต้องนัก จุดชี้ขาดอยู่ที่อาเซอร์ไบจานสามารถทดแทนโดรนที่สูญเสียไปได้เร็วกว่าอาร์เมเนียทดแทนระบบป้องกันภัยทางอากาศ ในทางตรงกันข้ามถ้าอาร์เมเนียใช้โดรนจีนโจมตีทางอากาศกองทัพอาเซอร์ไบจาน โดรนของอาร์เมเนียก็จะต้องเจอกับระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ทันสมัยของอาเซอร์ไบจานทั้ง S-300PMU2, Buk-MB และ Tor-M2E นอกจากนี้อาเซอร์ไบจานยังมีเครื่องบินขับไล่ MiG-29 ด้วย ไหนจะเครื่องบินขับไล่ F-16 ของตุรกีที่อาจเข้ามาผสมโรงอีก ดังนั้นต่อให้อาร์เมเนียมีโดรนจีนเป็นสิบๆลำก็จบไม่สวยอยู่ดีครับ

ศึกนี้ผมมองว่าอาร์เมเนียแพ้ตั้งแต่ขอบเขตการรบถูกจำกัดอยู่แค่ในพื้นที่พิพาทแล้ว เพราะเท่ากับว่ากองทัพอาร์เมเนียซึ่งมีขีดความสามารถด้อยกว่ากองทัพอาเซอร์ไบจานทั้งด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ต้องปะทะกับฝ่ายตรงข้ามซึ่งๆหน้า ไม่สามารถใช้อาวุธ equalizer เช่นขีปนาวุธ Iskander-E มาช่วยถ่วงดุลได้เลย อาร์เมเนียเป็นประเทศ Land Locked ไม่มีทางออกทะเล มีประชากรเพียงสามล้านคน ขณะที่อาเซอร์ไบจานมีประชากรสิบล้านคน ตั้งอยู่ติดทะเลแคสเปียนซึ่งมีแหล่งน้ำมัน มีรายได้มาจัดหายุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ๆจากทั้งรัสเซีย ตุรกี และอิสราเอล ขณะที่ยุทโธปกรณ์ของอาร์เมเนียเกือบทั้งหมดเป็นของเก่าจากยุคโซเวียต เวลาอาร์เมเนียจะจัดหาอาวุธรุ่นใหม่ๆก็ต้องขอบริจาคหรือกู้เงินจากรัสเซีย ดูภาพรวมถ้าสองประเทศนี้ปะทะกันซึ่งๆหน้าโดยไม่มีตัวช่วย อย่างไรอาร์เมเนียก็แพ้ ได้โดรนจีนมาก็ไม่ช่วยอะไร

สวัสดี

20.11.2020

แสดงความคิดเห็น