
มีข่าวจากสื่อ TASS นายวลาดิมีร์ ไซเน็ตดินอฟ (Vladimir Zainetdinov) โฆษกองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (Collective Security Treaty Organization หรือ CSTO) เปิดเผยว่าสมาชิก CSTO ตกลงที่จะพัฒนาความร่ววมือด้านการวิจัยและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงการกระจายสายการผลิตในกลุ่มประเทศสมาชิก ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจแต่ในข่าวไม่ได้ลงรายละเอียดเป็นรูปธรรมมากนัก
กลุ่ม CSTO ปัจจุบันมีสมาชิก 6 ประเทศได้แก่รัสเซีย อาร์เมเนีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน มีข้อตกลงคือถ้ามีประเทศสมาชิกถูกรุกรานจากภายนอก ก็จะถือว่าประเทศสมาชิกทั้งหมดถูกรุกรานด้วย พูดง่ายๆคือเป็น NATO ฉบับรัสเซียนั่นเอง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา CSTO ไม่ค่อยมีบทบาทมากนักในการเมืองระหว่างประเทศ รัสเซียมักจะดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงของตัวเองตามลำพังมากกว่า ขณะที่ CSTO และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union หรือ EAEU) มีไว้เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเป็นหลัก
สำหรับความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ CSTO พึ่งหารือกันไปนั้น ส่วนตัวผมก็มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียต เนื่องจากปัจจุบันประเทศต่างๆมีทางเลือกในการจัดหายุทโธปกรณ์มากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่นก่อนหน้านี้รัสเซียไม่ขายขีปนาวุธ Iskander-E ให้เบลารุส เบลารุสจึงหันไปร่วมมือกับจีนพัฒนาจรวดหลายลำกล้อง Polonez แทน นอกจากเบลารุสแล้ว คาซัคสถานก็จัดหาโดรนจากจีนและอิสราเอลหลายรุ่นมาใช้งาน สาเหตุหนึ่งเพราะเทคโนโลยีโดรนของรัสเซียยังตามหลังอยู่ (เทคโนโลยีโดรนหลายรุ่นของรัสเซียมาจากอิสราเอล) เป็นต้น ดังนั้นเพื่อรักษาความร่วมมือกับประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ถ่วงดุลอิทธิพลจากภายนอก รัสเซียจึงต้องเทคโนโลยีทางทหารกับประเทศเหล่านี้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็ต้องกระจายสายการผลิตชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์ต่างๆออกไป แต่ก็มีความเสี่ยงในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเหล่านี้ ก็อาจซ้ำรอยยูเครนได้ เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ดี
สวัสดี
27.11.2020