
(U.S. Navy Photo/ PH1(AW) Michael Larson)
สื่อ Al-Masdar News รายงานว่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศของรัฐสภาอิรัก เรียกร้องให้รัฐบาลอิรักจัดหาอาวุธจากหลายแหล่งให้กองทัพอิรักใช้งาน ไม่พึ่งพาอาวุธจากผู้ผลิตรายเดียว ถือว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีหน่วยงานและบุคคลสำคัญของอิรักออกมาเรียกร้องให้ลดการพึ่งพาอาวุธจากสหรัฐฯ ให้จัดหาอาวุธจากหลายแหล่งมากขึ้น
เมื่อสหรัฐฯและพันธมิตรโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซนในปี ค.ศ.2003 ยุทโธปกรณ์ค่ายโซเวียตและจีนที่กองทัพอิรักใช้อยู่เดิมได้ถูกทำลายไปเกือบหมด สหรัฐฯได้จัดการเปลี่ยนกองทัพอิรักที่จัดตั้งขึ้นใหม่ให้หันไปใช้ยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯแทนเช่นรถถัง M1A1 Abrams, รถสายพานลำเลียง M113, เครื่องบินขับไล่ F-16 เป็นต้น แม้อิรักจะยังมียุทโธปกรณ์ค่ายโซเวียตใช้งานอยู่บ้างเช่นรถถัง T-72M แต่ก็เป็นการจัดหาจากประเทศยุโรปตะวันออก ซึ่งปัจจุบันเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ อาจกล่าวได้ว่าหลังซัดดัมถูกโค่นล้มไปแล้ว อิรักได้เลิกใช้ยุทโธปกรณ์จากรัสเซียและจีน หันไปใช้ยุทโธปกรณ์จากประเทศ NATO เกือบทั้งหมด แต่สถานการณ์ก็ค่อยๆเปลี่ยนไปจากปัจจัยทั้งภายในภายนอก ปัจจัยภายในคือยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯมีราคาแพงและมีความซับซ้อน ต้องการการบำรุงรักษามาก ซึ่งทหารอิรักมีขีดความสามารถไม่เพียงพอ นอกจากนี้การโค่นล้มซัดดัมก็ส่งผลให้เกิดสุญญากาศในอิรัก เปิดทางให้อิหร่านแผ่อิทธิพลเข้ามา มีการจัดตั้งกองกำลังนิกายชีอะห์เช่น Popular Mobilization Forces ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามกลุ่ม IS และความพยายามประกาศเอกราชของกองกำลังชาวเคิร์ด Peshmerga การที่กองกำลังชีอะห์ซึ่งอิหร่านสนับสนุนมีบทบาทมากขึ้น ได้เข้าถึงยุทโธปกรณ์ผลิตในสหรัฐฯเช่นรถถัง M1A1 Abrams ส่งผลให้สหรัฐฯไม่พอใจ ระงับการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ของอิรัก เป็นปัจจัยหนึ่งให้อิรักต้องเริ่มจัดหายุทโธปกรณ์จากแหล่งอื่น สำหรับปัจจัยภายนอก เนื่องจากสหรัฐฯไม่ต้องการให้อิรักมีขีดความสามารถทางทหารเป็นคู่แข่งกับพันธมิตรอื่นๆในภูมิภาคเช่นอิสราเอลและตุรกี จึงขายอาวุธให้อิรักสำหรับใช้รับมือผู้ก่อการร้ายภายในประเทศเท่านั้น เช่นเครื่องบินขับไล่ F-16 ของอิรักไม่มีจรวดอากาศสู่อากาศพิสัยไกล AIM-120 AMRAAM แต่อย่างใด ส่งผลให้ที่ผ่านมาอากาศยานรบของประเทศอื่นๆสามารถล้ำน่านฟ้าอิรักได้อย่างเสรี โดยที่อิรักไม่สามารถตอบโต้อะไรได้เลย ยกตัวอย่างเช่นตุรกีทำการโจมตีทางอากาศกองกำลังชาวเคิร์ดในอิรักซึ่งตุรกีมองว่าเป็นพวกเดียวกับผู้ก่อการร้าย PKK ในตุรกี หรือกรณีร้ายแรงมากคือสหรัฐฯใช้โดรนลอบสังหารนายพลสุไลมานีของอิหร่านกลางกรุงแบกแดด ส่งผลให้อิหร่านตอบโต้โดยการยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพสหรัฐฯในอิรัก เป็นต้น ยิ่งกดดันให้อิรักต้องจัดหายุทโธปกรณ์จากแหล่งอื่นเพื่อเสริมขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ
หนึ่งในประเทศที่อิรักหันไปจัดหายุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็คือรัสเซีย ซึ่งเริ่มกลับมามีบทบาทในตะวันออกกลางจากปฏิบัติการในซีเรีย อิรักได้จัดหาเครื่องบินโจมตี Su-25, เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-28, ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1, ระบบจรวดเพลิง TOS-1A และรถถัง T-90S จากรัสเซีย (มีหน่วยยานเกราะของอิรักหลายหน่วยซึ่งเดิมใช้รถถัง M1A1 Abrams ได้เปลี่ยนไปใช้รถถัง T-90S แทน) ล่าสุดช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาก็มีข่าวจาก Asharq Al-Awsat รายงานว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิรักได้เดินทางเยือนรัสเซีย หนึ่งในประเด็นที่หารือกันก็คือการจัดหายุทโธปกรณ์
นอกจากรัสเซียแล้ว สื่อ Al-Monitor รายงานว่าอิหร่านก็ต้องการขายอาวุธให้อิรักเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากมาตรการคว่ำบาตรด้านอาวุธต่ออิหร่านของสหประชาชาติได้หมดอายุไปแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก มีอุปสรรคจากอิทธิพลของสหรัฐฯ และอิหร่านเองก็ถูกคว่ำบาตรมานาน มีเทคโนโลยีทางทหารที่จะเสนอขายให้อิรักได้ค่อนข้างจำกัด
สวัสดี
06.12.2020