
สื่อ Defense News และ Daily Sabah รายงานว่าสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐฯจากทั้งพรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครต ได้ร่วมกันเสนอร่างกฎหมายกำหนดให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯต้องดำเนินการคว่ำบาตรตุรกีตามกฎหมาย Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act หรือ CAATSA จากการที่ตุรกีได้จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 จากรัสเซียและพึ่งทำการทดสอบยิงไปเมื่อไม่นานนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯต้องคว่ำบาตรตุรกีภายใน 30 วันหลังร่างกฎหมายผ่านสภาคองเกรส และจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรได้ต่อเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปีและจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตุรกีไม่มี S-400 ในครอบครองแล้ว ถ้าร่างกฎหมายผ่านสภาคองเกรสภายในสัปดาห์นี้ โดนัลด์ ทรัมป์ก็จะต้องคว่ำบาตรตุรกีก่อนพ้นวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ถ้าร่างกฎหมายผ่านหลังจากนี้ ภาระดังกล่าวก็จะเป็นของนายโจ ไบเดนซึ่งจะรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.2021
สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมาย CAATSA เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2017 ห้ามไม่ให้ประเทศต่างๆจัดหายุทโธปกรณ์จากรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ไม่อย่างนั้นจะถูกสหรัฐฯคว่ำบาตร ทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ มองว่าจำกัดทางเลือกในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯเองมากเกินไป แต่ไม่สามารถขัดสภาคองเกรสได้ เป้าหมายของสภาคองเกรสในขณะนั้นคือป้องกันไม่ให้ทรัมป์ฟื้นสัมพันธ์กับรัสเซียตามที่หาเสียงไว้ได้ อาจกล่าวได้ว่ากฎหมาย CAATSA ใช้ได้ผลพอสมควร ส่งผลให้หลายประเทศต้องคิดหนักมากขึ้นเวลาจัดหาอาวุธจากรัสเซีย เช่นส่งผลให้คูเวตระงับการจัดหารถถัง T-90MS จำนวน 146 คัน และส่งผลให้โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ Su-35 จำนวน 11 ลำของอินโดนีเซียคาราคาซังมาถึงปัจจุบัน แต่ความท้าทายได้เกิดขึ้นช่วงปลายปี ค.ศ.2017 เมื่อตุรกีฟื้นสัมพันธ์กับรัสเซีย และลงนามจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 จากรัสเซียจำนวน 4 ระบบ มูลค่าประมาณ 2,500 ล้านเหรียญ
ตุรกีเป็นประเทศสมาชิกสำคัญของ NATO มีกองทัพขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในหมู่ประเทศสมาชิกรองจากสหรัฐฯ และมีที่ตั้งคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือช่องแคบดาร์ดะเนลส์และบอสฟอรัส ซึ่งเป็นทางเข้าออกทะเลดำ ถ้าสหรัฐฯกดดันตุรกีมากเกินไปจนตุรกีย้ายข้าง ก็จะส่งผลต่อดุลอำนาจการเมืองระหว่างประเทศมาก แต่ถ้าสหรัฐฯไม่ทำอะไรเลย ก็จะส่งผลต่อฐานะของสหรัฐฯ กฎหมาย CAATSA จะไม่ศักดิ์สิทธิ์และประเทศอื่นๆจะเอาอย่างตามตุรกีได้ สหรัฐฯเรียกร้องให้ตุรกียกเลิกโครงการจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 แต่ไม่เป็นผล เมื่อตุรกีรับมอบ S-400 จากรัสเซียในปี ค.ศ.2019 สหรัฐฯจึงขับไล่ตุรกีออกจากโครงการเครื่องบินขับไล่ F-35 อ้างว่าถ้าตุรกีใช้งาน S-400 ร่วมกับ F-35 รัสเซียจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของ F-35 ผ่านทาง S-400 ได้ อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวเป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยของ F-35 เท่านั้น จนถึงขณะนี้สหรัฐฯก็ยังไม่ได้คว่ำบาตรตุรกีตามกฎหมาย CAATSA แต่อย่างใด นอกจากจะไม่คว่ำบาตรแล้ว รัฐบาลทรัมป์ยังคอยหาข้ออ้างให้ด้วยเช่นบอกว่าถ้าตุรกีไม่เปิดใช้งาน S-400 ตั้งเป็นหุ่นไล่กาไว้เฉยๆ ก็จะไม่คว่ำบาตร (จากเดิมที่ก่อนหน้านั้นบอกให้ตุรกียกเลิกโครงการหรือส่ง S-400 คืนให้รัสเซีย) แต่สุดท้ายตุรกีก็ได้ทดสอบยิง S-400 ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้ตุรกีจะล้ำเส้นที่สหรัฐฯขีดไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า กฎหมาย CAATSA ก็ยังไม่ถูกนำออกมาใช้เสียที จนทรัมป์ใกล้จะหมดวาระแล้ว ส.ส.สายเหยี่ยวจากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตจึงต้องร่วมมือกันออกกฎหมายมัดมือทรัมป์อีกครั้งหนึ่ง ทำนองเดียวกับคราวที่ออกกฎหมาย CAATSA แต่คราวนี้กำหนดกรอบเวลาแน่นอนไม่ให้หลีกเลี่ยงบ่ายเบี่ยงได้เลย ต้องติดตามต่อไปว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านสภาคองเกรสหรือไม่ และถ้าผ่านแล้วจะเป็นทรัมป์หรือไบเดนที่ต้องบังคับใช้กฎหมายคว่ำบาตรตุรกี ที่แน่ๆความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและตุรกีคงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
สวัสดี
06.12.2020