
(Vietnam People’s Army museum/ Wikimedia Commons)
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ฝรั่งเศสกลับเข้ามาปกครองอาณานิคมในอินโดจีนอีกครั้งหนึ่ง แต่ถูกต่อต้านโดยกองกำลังเวียดมินห์ (Viet Minh) ซึ่งใช้วิธีการรบแบบกองโจร แทรกซึมเข้ามายึดพื้นที่ในลาวและทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามได้มาก ฝรั่งเศสพยายามปราบเวียดมินห์อยู่นาน มีการเปลี่ยนตัวนายทหารคนแล้วคนเล่าแต่ก็ไม่สำเร็จสักที ประกอบกับปัญหาทางการเมืองภายในประเทศฝรั่งเศส สุดท้ายฝรั่งเศสจึงตัดสินใจว่าต่อให้ท้ายที่สุดแล้วฝรั่งเศสจะต้องถอนตัวออกจากอินโดจีน ก็ขอถอนตัวออกไปอย่างผู้ชนะ จึงต้องหาทางทำศึกตัดสินกับเวียดมินห์ เพื่อสร้างเงื่อนไขในการเจรจาซึ่งฝรั่งเศสจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ ซึ่งฝรั่งเศสใช้คำว่า “ทางออกทางการเมืองอันมีเกียรติ”
ช่วงปลายปี ค.ศ.1953 ฝรั่งเศสตัดสินใจเปิดศึกตัดสินกับเวียดมินห์ โดยการส่งทหารพลร่มไปวางกำลัง สร้างที่มั่นที่เมืองเดียนเบียนฟู ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางหุบเขา เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญคุมเส้นทางลำเลียงระหว่างเวียดนามและลาว ถ้าฝรั่งเศสยึดเดียนเบียนฟูได้ เวียดมินห์ก็จะถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางส่งกำลังบำรุงยืดยาวออกไป นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังจะสามารถคุกคามไร่ฝิ่นซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเวียดมินห์ด้วย จะเห็นได้ว่าฝรั่งเศสต้องการบีบให้เวียดมินห์ออกมารบด้วย เปลี่ยนสภาพการรบจากสงครามกองโจรมาเป็นการรบตามแบบ ซึ่งฝรั่งเศสเชื่อว่าตัวเองจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ เมื่อเวียดมินห์ออกมาอยู่ในที่แจ้งแล้ว ฝรั่งเศสก็จะใช้ปืนใหญ่และกำลังทางอากาศที่ฝรั่งเศสมีเหนือกว่าจัดการเวียดมินห์ให้สิ้นซาก ปัญหาคือสภาพภูมิประเทศของเดียนเบียนฟูที่เป็นหุบเขา มีลักษณะคล้ายชามข้าว โดยที่มั่นของฝรั่งเศสอยู่ที่ก้นชาม ถ้าเวียดมินห์ยึดพื้นที่สูงโดยรอบ เปรียบเสมือนปากชามข้าวไว้ได้ แล้วใช้อาวุธหนักยิงถล่มลงมาใส่ที่มั่นฝรั่งเศส ก็จะเป็นหายนะ แต่ฝรั่งเศสเชื่อว่าผู้สนับสนุนของเวียดมินห์ คือจีนคงจะไม่สนับสนุนอาวุธหนักรวมถึงปืนใหญ่ให้เวียดมินห์ หรือต่อให้จีนสนับสนุน เวียดมินห์ก็คงไม่สามารถลำเลียงปืนใหญ่ขึ้นไปบนภูเขาได้ ความประมาทนี้เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในที่สุด
เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1953 พลร่มฝรั่งเศส 9,000 นายกระโดดร่มลงที่เดียนเบียนฟู พร้อมรถดันดินสำหรับสร้างรันเวย์ ฝรั่งเศสใช้เวลาสามวันในการลำเลียงพลร่มเข้าพื้นที่ ลงสู่จุดโดดร่มสามจุดคือนาตาชา (Natasha), อ็อกตาวี (Octavie) และซีมอน (Simone) ฝ่ายเวียดมินห์ส่งกรมทหารราบอิสระที่ 148 เข้าโจมตีตอบโต้ แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากกำลังพลส่วนใหญ่ของหน่วยดังกล่าว (3 จาก 4 กองพัน) ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ฝรั่งเศสจึงสามารถลำเลียงกำลังเสริมและสัมภาระเข้ามาโดยสะดวก เมื่อถึงเดือนธันวาคม ฝรั่งเศสก็มีทหารอยู่ที่เดียนเบียนฟูประมาณ 10,800 นาย เมื่อรวมกับกำลังเสริมที่จะเข้ามาสมทบอีกภายหลัง ฝรั่งเศสก็จะมีกำลังพลในสมรภูมินี้ทั้งหมดราว 16,000 นาย พร้อมปืนใหญ่ประมาณ 60 กระบอกและรถถังเบา M24 Chaffee จำนวน 10 คัน อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพันเอกคริสตีย็อง เดอ กัสทรี (Christian de Castries) ทหารฝรั่งเศสทำการดัดแปลงพื้นที่รอบเดียนเบียนฟูเป็นป้อมปราการ มีการสร้างที่มั่นขึ้น 8 แห่งชื่อ อูว์แก็ต (Huguette) โกลดีน (Claudine) ดอมินิก (Dominique) อาน-มารี (Anne-Marie) เบอาทริส (Beatrice) กาบรีแยล (Gabrielle) เอลียาน (Eliane)และอีซาแบล (Isabelle) ทหารฝรั่งเศสแซวกันว่าชื่อที่มั่นทั้ง 8 แห่งตั้งตามชื่อภรรยาลับของเดอ กัสทรี
การแต่งตั้งพันเอกเดอ กัสทรีเป็นผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู ถือเป็นความผิดพลาดอีกข้อหนึ่งของฝรั่งเศส เนื่องจากเดอ กัสทรีเป็นนายทหารม้า ไม่ชำนาญการรบแบบสงครามสนามเพลาะ เป็นการใช้คนไม่เหมาะสมกับงาน

ทางด้านเวียดมินห์ได้ระดมกำลังเข้ามาทำศึกตัดสินกับฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูถึง 50,000 นาย เมื่อรวมกับกำลังเสริมที่มาสมทบภายหลัง ก็จะมีกำลังพลถึง 80,000 นาย นอกจากนี้เวียดมินห์ยังเกณฑ์ชาวบ้านกว่า 300,000 คนมาช่วยตัดถนน ขุดอุโมงค์ ลำเลียงปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานจำนวนมากเข้าสู่พื้นที่เนินเขารอบเดียนเบียนฟู โดยไม่ถูกขัดขวางจากฝรั่งเศสแต่อย่างใด เมื่อถึงเดือนมกราคม ค.ศ.1954 เวียดมินห์ก็มีปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้องรวมกันมากกว่า 200 กระบอกวางกำลังอยู่ในพื้นที่สูงล้อมที่มั่นของฝรั่งเศส มีจำนวนมากกว่าปืนใหญ่ของฝรั่งเศสถึง 4 เท่า ขณะที่ทหารเวียดมินห์ก็ค่อยๆขุดสนามเพลาะเข้าประชิดที่มั่นของฝรั่งเศส ใช้เวลาค่อยๆกระชับวงล้อมนานถึงสองเดือน
เวียดมินห์เปิดฉากยิงปืนใหญ่ถล่มที่มั่นของฝรั่งเศสอย่างรุนแรงในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.1954 ป้อมเบอาทริสแตกภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง สองวันต่อมาก็ยึดป้อมกาบรีแยลและอาน-มารีได้ ฝรั่งเศสพยายามโจมตีตอบโต้เพื่อยึดป้อมกาบรีแยลคืนแต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นการรุกของเวียดมินห์ก็สงบไปประมาณสองสัปดาห์ขณะที่ทหารเวียดมินห์ค่อยๆกระชับวงล้อมที่มั่นของฝรั่งเศสที่เหลืออยู่ ถึงตอนนี้พันเอกเดอ กัสทรีเริ่มหมดอาลัยตายอยาก เก็บตัวอยู่แต่ในบังเกอร์ ฝรั่งเศสส่งผู้บังคับบัญชาคนใหม่เดินทางมาจากฮานอย แต่เครื่องบินถูกปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ยิงขัดขวางไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ ส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศขึ้นในสายบังคับบัญชาของฝรั่งเศสอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ระหว่างนี้ฝรั่งเศสพยายามส่งกำลังเสริมและสัมภาระมาที่เดียนเบียนฟูทางอากาศ เครื่องบินลำเลียงของฝรั่งเศสถูกปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ยิงตกจำนวนมาก จนฝรั่งเศสต้องออกคำสั่งให้เครื่องบินทิ้งร่มจากระดับความสูงอย่างน้อย 2,000 เมตรเพื่อลดความสูญเสีย สถานการณ์การส่งกำลังบำรุงของฝรั่งเศสดีขึ้นบ้างในวันที่ 28 มีนาคมเมื่อทหารฝรั่งเศสทำการโจมตีที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ สามารถทำลายปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ได้ 17 กระบอก
เวียดมินห์เปิดฉากโจมตีที่มั่นของฝรั่งเศสอีกครั้งในวันที่ 30 มีนาคม สามารถยึดพื้นที่ป้อมดอมินิกและเอลียานได้บางส่วน แต่ก็ถูกทหารฝรั่งเศสตอบโต้อย่างรุนแรง การโจมตีทางอากาศและการระดมยิงปืนใหญ่ของฝรั่งเศสส่งผลให้เวียดมินห์สูญเสียกำลังพลไปจำนวนมาก จนต้องหยุดการรุกไว้ชั่วคราวในวันที่ 6 เมษายน ทหารเวียดมินห์บางส่วนขวัญกำลังใจตกต่ำถึงขนาดปฏิเสธคำสั่งไม่ยอมสู้รบต่อไป สาเหตุหนึ่งมาจากเวียดมินห์ไม่มีระบบรักษาพยาบาลทหารที่บาดเจ็บดีพอ จนต้องนำกำลังเสริมจากลาวมาทดแทน อย่างไรก็ตามฝ่ายฝรั่งเศสก็สูญเสียทหารไปจำนวนมากเช่นกัน โดยที่ไม่สามารถส่งกำลังมาทดแทนทางอากาศได้เพียงพอ เนื่องจากถูกขัดขวางโดยปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ ส่งผลให้กำลังพลของฝรั่งเศสค่อยๆร่อยหรอลง

(Wikimedia Commons/ Public Domain)
เวียดมินห์เริ่มเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ แทนที่จะบุกเข้าตีที่มั่นทหารฝรั่งเศสโดยตรง ก็เปลี่ยนเป็นการค่อยๆขุดอุโมงค์และสนามเพลาะแบ่งแยกที่มั่นทหารฝรั่งเศสแต่ละแห่งออกจากกัน ไม่ให้สามารถติดต่อช่วยเหลือกันได้ ป้อมอีซาแบลซึ่งอยู่ทางใต้สุด ถูกแบ่งแยกอยู่โดดเดี่ยว พอถึงช่วงปลายเดือนเมษายน น้ำและกระสุนก็ร่อยหรอลงจนเกือบหมด ต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม เวียดมินห์ก็หันไปโจมตีป้อมเอลียานด้วยจรวดหลายลำกล้องคาตูช่า (Katyusha) ก่อนจะส่งทหารราบเข้าตี ฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่ยิงสกัดการโจมตีระลอกแรกของเวียดมินห์ได้ เวียดมินห์จึงเปลี่ยนไปใช้วิธีการวางระเบิดทำลายป้อมเอลียานแทน และสามารถบุกเข้ายึดได้ในที่สุด ถึงตอนนี้ฝรั่งเศสเหลือทหารที่ยังทำการรบได้อยู่เพียง 3,000 นายเท่านั้น วันรุ่งขึ้นเวียดมินห์จึงใช้กำลังพล 25,000 นายบุกเข้าตีที่มั่นฝรั่งเศสที่เหลืออย่างเต็มกำลัง พันเอกเดอ กัสทรีจึงตัดสินใจยอมแพ้ในที่สุด
ในสมรภูมิเดียนเบียนฟูมีทหารฝรั่งเศสเสียชีวิตประมาณ 2,000 นาย สูญหายประมาณ 1,700 นาย และตกเป็นเชลยเกือบ 12,000 นาย (ในจำนวนนี้บาดเจ็บเกือบ 4,500 นาย) เชลยศึกที่แข็งแรงถูกบังคับให้เดินแถวเป็นระยะทางกว่า 400 กิโลเมตรไปยังค่ายเชลยศึก หลายร้อยนายเสียชีวิตด้วยโรคระบาดระหว่างทาง ส่วนเชลยศึกที่บาดเจ็บได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนจะส่งต่อให้กาชาดสากล ซึ่งรับตัวผู้บาดเจ็บออกไปประมาณ 800 นาย ที่เหลือถูกส่งต่อไปยังค่ายเชลยศึก เชลยศึกชาวฝรั่งเศสจำนวนมากถูกเฆี่ยนตีและขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้สี่เดือนต่อมามีผู้รอดชีวิตถูกส่งกลับประเทศประมาณ 3,000 นายเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเชลยศึกชาวเวียดนามที่อยู่ฝ่ายฝรั่งเศสอีกประมาณ 3,000 นายที่ยังไม่ทราบชะตากรรม ขณะที่ฝ่ายเวียดมินห์มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,000 นายและบาดเจ็บประมาณ 9,000 นาย ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในสมรภูมิเดียนเบียนฟูนำไปสู่การประชุมที่เจนีวา ส่งผลให้ฝรั่งเศสตัดสินใจถอนตัวออกจากอินโดจีน และเป็นแบบอย่างให้อาณานิคมอื่นๆของฝรั่งเศสเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชต่อไป

สมรภูมิเดียนเบียนฟูเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่ถูกลืม ไม่มีผู้กล่าวถึงมากนัก สาเหตุหนึ่งเพราะถูกบดบังโดยสงครามเวียดนาม แต่ในสมรภูมิแห่งนี้มีบทเรียนที่มีค่ามากมาย เริ่มจากความผิดพลาดของฝรั่งเศสที่ประมาท ประเมินขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้ามต่ำเกินไป ไม่คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศและการส่งกำลังบำรุง รวมถึงเลือกใช้นายทหารที่ไม่มีความชำนาญ ขณะที่เวียดมินห์สามารถใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิประเทศอย่างเต็มที่ สามารถปรับเปลี่ยนพลิกแพลงยุทธวิธี รวมถึงเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากมาช่วยในการส่งกำลังบำรุง ส่งผลให้เป็นฝ่ายชนะในที่สุด
สวัสดี
20.12.2020