ระบบป้องกันภัยทางอากาศเอส-75 ดวิน่าในสงครามเวียดนาม

ภาพระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75 Dvina ตั้งแสดงที่ Siberian Federal University เมือง Krasnoyarsk
(MaxBioHazard/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 3.0)

วันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ.1965 เครื่องบินขับไล่ F-4C Phantom II ของสหรัฐฯจำนวน 4 ลำขึ้นบินจากฐานทัพอากาศในจังหวัดอุบลราชธานี ออกปฏิบัติภารกิจคุ้มกันฝูงบินที่จะไปทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือ ช่วงที่ผ่านมาสหรัฐฯสามารถครองน่านฟ้าเหนือเวียดนามได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากกองทัพเวียดนามเหนือมีเพียงปืนกลหนักและปืนต่อสู้อากาศยานจากยุคสงครามโลกครั้งที่สองใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่สามารถทำอันตรายเครื่องบินรบสหรัฐฯที่บินในเพดานบินสูงได้ แต่สถานการณ์ครั้งนี้ต่างออกไป ขณะที่เครื่องบินขับไล่สหรัฐฯทั้งสี่ลำบินอยู่เหนือผืนป่าของเวียดนาม ทันใดนั้นนักบินก็สังเกตเห็นควันสีขาวพุ่งขึ้นมาเป็นทางจากพื้นอย่างรวดเร็ว นี่คือการเปิดตัวครั้งแรกของระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75 Dvina หรือที่ NATO เรียกว่า SA-2 Guideline ของสหภาพโซเวียตในสงครามเวียดนาม อ้างอิงจากข้อมูลฝั่งโซเวียต มี F-4 จำนวน 3 ลำไม่ได้กลับฐาน ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯระบุว่ามี F-4 ถูกยิงตกเพียงลำเดียว ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ก็ถือว่าหน่วยป้องกันภัยทางอากาศของเวียดนามเหนือได้รับชัยชนะครั้งสำคัญในวันนั้น

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75 Dvina เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1957 ทดแทนปืนต่อสู้อากาศยาน KS-19 ขนาด 100 มิลลิเมตรและ KS-30 ขนาด 130 มิลลิเมตร S-75 ใช้จรวดตระกูล V-750 มีความเร็วสูงสุด 3.5 มัค ระยะยิงไกลสุด 45 กิโลเมตร ยิงได้สูงที่สุด 25 กิโลเมตร สหภาพโซเวียตส่งออกระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้ให้จีน ใช้ยิงเครื่องบินสอดแนม Martin RB-57D Canberra ของไต้หวันตกเป็นครั้งแรกใกล้กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.1959 แต่ S-75 พึ่งจะเริ่มมีชื่อเสียงเมื่อเครื่องบินสอดแนม U-2 ของนักบินฟรานซิส แกรี พาวเวอร์ส (Francis Gary Powers) ถูกยิงตกเหนือสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1960 และต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ.1962 ก็ยิงเครื่องบินสอดแนม U-2 ของนักบินรูดอล์ฟ แอนเดอร์สัน (Rudolf Anderson) ตกเหนือคิวบา ต่อมาในปี ค.ศ.1965 สหภาพโซเวียตก็เริ่มส่ง S-75 ให้เวียดนามเหนือพร้อมยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยรุ่นอื่นๆเช่นเครื่องบินขับไล่ MiG-21 ใช้รับมือการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ

S-75 ชุดแรกถูกส่งมาถึงเวียดนามเหนือในเดือนเมษายน ค.ศ.1965 และออกรบครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมปีเดียวกัน ยิงเครื่องบินขับไล่ F-4 ของสหรัฐฯตก สหภาพโซเวียตส่งทหารประมาณ 1,000 นายมาช่วยฝึกทหารเวียดนามเหนือใช้งานระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากทหารเวียดนามเหนือส่วนใหญ่เป็นเพียงชาวนา ไม่มีความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีทางทหารระดับสูงมาก่อน (เป็นสาเหตุหนึ่งที่ช่วงแรกๆสหรัฐฯประมาท) ส่งผลให้การยิง S-75 ในช่วงแรกๆขาดความแม่นยำ และบางครั้งทหารโซเวียตต้องเป็นผู้ใช้งาน S-75 ด้วยตัวเอง โดยทหารเวียดนามเหนือคอยสังเกตการณ์ นักบินสหรัฐฯตั้งฉายาให้ S-75 ซึ่งจรวดมีความยาวถึง 10 เมตรว่าเสาโทรศัพท์บินได้ (flying telephone pole) ระหว่างปี ค.ศ.1965 – 1972 สหภาพโซเวียตส่ง S-75 ให้เวียดนามเหนือจำนวน 95 ระบบ พร้อมจรวดมากกว่า 7,658 ลูก ส่วนใหญ่วางกำลังบริเวณกรุงฮานอยและเมืองท่าไฮฟอง

ในช่วงแรกๆนักบินสหรัฐฯต่างตกตะลึงที่เวียดนามเหนือสามารถใช้งาน S-75 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สหรัฐฯก็หาทางรับมือ S-75 ได้อย่างรวดเร็ว โดยการคิดค้นท่าบินสำหรับหลบจรวดของ S-75 เรียกว่าการเต้นรำกับความตาย (Dancing with Death) ซึ่งเวียดนามเหนือแก้ทางโดยการยิงจรวดหลายลูกดักที่ระดับเพดานบินต่างๆกัน สหรัฐฯยังจัดตั้งฝูงบินพิเศษเรียกว่า Wild Weasels ใช้จรวด AGM-45 Shrike สำหรับทำลายฐานเรดาร์ของเวียดนามเหนือโดยเฉพาะ เปิดทางให้เครื่องบินรบลำอื่นๆเข้าโจมตีฐานยิง S-75 ซึ่ง “ตาบอด” ต่อไป วิธีเดียวที่เวียดนามเหนือสามารถใช้รับมือจรวด Shrike ได้คือต้องหันจานเรดาร์ไปทิศทางอื่นแล้วปิดการใช้งาน ซึ่งจะทำให้จรวด Shrike หาเป้าหมายไม่เจอแล้วพลาดเป้าในที่สุด แต่กระบวนการนี้ต้องทำภายในเวลาไม่ถึง 30 วินาทีเท่านั้น ต่อมาในปี ค.ศ.1967 สหรัฐฯเริ่มใช้ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์แจม S-75 ส่งผลให้การใช้งาน S-75 ยิ่งยากขึ้นไปอีก สหภาพโซเวียตจึงต้องเข้าแทรกแซง โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญมาทำการสอบสวนนักบินสหรัฐฯที่ถูกยิงตก เก็บข้อมูลไปช่วยเวียดนามเหนืออัพเกรด S-75 ให้สามารถป้องกันการแจมได้มากขึ้น นอกเหนือจากการปะทะกับ S-75 โดยตรง หลายครั้งนักบินสหรัฐฯก็จะใช้วิธีบินต่ำเพื่อหลบเรดาร์ของ S-75 แต่ก็จะส่งผลให้เครื่องบินรบสหรัฐฯเข้ามาอยู่ในระยะยิงของปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดนามเหนือ ตลอดสงครามเวียดนามมีเครื่องบินรบของสหรัฐฯมากกว่า 1,000 ลำที่ถูกปืนต่อสู้อากาศยานและจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า (MANPADS) ของเวียดนามเหนือยิงตกขณะพยายามบินต่ำหลบเรดาร์ของ S-75

เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปี ค.ศ.1972 คนอเมริกันก็เบื่อหน่ายสงครามเต็มที สหรัฐฯจึงต้องหาทางกดดันเวียดนามเหนือให้เข้าสู่โต๊ะเจรจา ด้วยการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 จำนวน 188 ลำ ขึ้นบินจากฐานทัพอากาศในประเทศไทยและเกาะกวม ทิ้งระเบิดกรุงฮานอยและเมืองท่าไฮฟองอย่างหนักในปฏิบัติการ Linebacker 2 ระหว่างวันที่ 18 – 31 ธันวาคม ค.ศ.1972 เวียดนามเหนือระดมระบบป้องกันภัยทางอากาศเกือบทั้งหมดมาตั้งรับ บางช่วงเวลาจะมีจรวดของ S-75 ถูกยิงขึ้นมาพร้อมกันถึง 20 ลูก แม้สหรัฐฯจะทำการติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ให้ B-52 แต่การที่ฝูงบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯมักจะบินเข้ามาปฏิบัติการในทิศทางและกำหนดเวลาเดียวกันซ้ำๆ ส่งผลให้เวียดนามเหนือจับทางได้ จากจำนวนจรวด S-75 ที่ถูกยิงออกมาจำนวน 266 ลูก สหรัฐฯอ้างว่ามี B-52 ถูกยิงตกจำนวน 15 ลำและเสียหายอย่างหนักอีก 5 ลำ อย่างไรก็ตามตัวเลขความสูญเสียที่แท้จริงของสหรัฐฯอาจสูงกว่านั้นมาก เนื่องจากสหรัฐฯไม่นับเครื่องบินที่ถูกยิงได้รับความเสียหายกลับมาประสบอุบัติเหตุขณะลงจอดว่าถูกข้าศึกยิงตก ยกตัวอย่างเช่นเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ที่ได้รับความเสียหายในเวียดนามกลับมาประสบอุบัติเหตุตกขณะลงจอดที่ประเทศไทย จะถูกจัดว่าเป็นความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ไม่นับว่าถูกยิงตก ข้อมูลของโซเวียตระบุว่ามี B-52 มากกว่า 31 ลำถูก S-75 ยิงตกระหว่างปฏิบัติการ Linebacker 2

ปัจจุบันระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75 ค่อยๆหมดอายุการใช้งานไปแล้ว แต่หน่วยป้องกันภัยทางอากาศของเวียดนามยังคงมี S-75 รุ่นอัพเกรดคือ S-75M Volga ประจำการอยู่ประมาณ 24 ระบบ มีจรวดประมาณ 65 – 280 ลูก

สวัสดี

20.12.2020

แสดงความคิดเห็น