Sosna-R ระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่ของรัสเซียที่จะมาแทนที่ Strela-10M

ภาพระบบป้องกันภัยทางอากาศ Sosna-R รุ่นติดตั้งบนรถสายพาน MT-LB
(Nickel nitride/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

แม้ระบบป้องกันภัยทางอากาศ 9K35 Streala-10 หรือ SA-13 Gopher จะยังคงมีใช้งานแพร่หลายทั้งในกองทัพรัสเซียและหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงมีการอัพเกรดต่อยอดออกมาหลายรุ่นเรียกรวมๆว่า Streala-10M และล่าสุดบริษัท Kalashnikov ก็พึ่งพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ 9M333 สำหรับระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นดังกล่าวออกมา แต่จนถึงปัจจุบัน Strela-10 ก็ถูกใช้งานมานานกว่า 40 ปี ถือว่าเก่ามากแล้ว บริษัท KBtochmash ของรัสเซียจึงทำการพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่คือ Sosna-R สำหรับทดแทน Strela-10M และเป็นตัวเลือกที่มีราคาถูกกว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 และ Tor

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Sosna-R สามารถเลือกติดตั้งบนตัวรถสายพาน MT-LB หรือรถรบทหารราบ BMP-3 (รัสเซียกำลังพิจารณาติดตั้ง Sosna-R บนตัวรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-82A และรถรบทหารพลร่ม BMD-4M เพิ่มเติม) รถฐานยิงคันหนึ่งใช้พลประจำรถ 2 นาย มีจรวด 12 ลูก ระยะยิง 10 กิโลเมตร สามารถทำการยิงขณะเคลื่อนที่ได้ ค้นหาเป้าหมายด้วยกล้องตรวจจับความร้อนและเลเซอร์ จรวดเป็นแบบยิงแล้วลืม (Fire and Forget) กล่าวคือเมื่อทำการยิงจรวดออกไปแล้ว จรวดจะพุ่งเข้าหาเป้าหมายด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องชี้เป้าให้อีก รถฐานยิงสามารถค้นหาเป้าหมายใหม่หรือถอนตัวจากพื้นที่ได้เลย

ภาพท่อยิงจรวดของระบบป้องกันภัยทางอากาศ Sosna-R
(Nickel nitride/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

รัสเซียเริ่มทำการทดสอบระบบป้องกันภัยทางอากาศ Sosna-R ระหว่างปี ค.ศ.2015 – 2017 และเปิดตัวสู่สาธารณชนครั้งแรกในงานแสดงอาวุธ Army 2018 กระทรวงกลาโหมรัสเซียตัดสินใจจัดหา Sosna-R เข้าประจำการในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2019 มีกำหนดส่งมอบในปี ค.ศ.2022 รัสเซียยังเสนอขายระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้ให้ลูกค้าต่างประเทศ รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ส่วนตัวผมมองว่า Sosna-R เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่น่าสนใจรุ่นหนึ่ง เนื่องจากเลือกติดตั้งบนรถฐานยิงได้หลากหลาย มีราคาไม่แพง ปฏิบัติการได้ด้วยตัวเองเป็นระบบสแตนด์อโลน สามารถติดตามไปคุ้มกันหน่วยทหารในแนวหน้าสุดได้ อย่างไรก็ตามการจะใช้งาน Sosna-R ให้เต็มประสิทธิภาพก็ควรวางกำลังประสานงานกับระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นอื่นๆเป็นเครือข่าย เนื่องจากจุดอ่อนของระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้ที่เน้นความคล่องตัวสูงคือไม่สามารถแบกเรดาร์ขนาดใหญ่ไปด้วยได้ ส่งผลให้ระยะตรวจจับไม่ไกล นอกจากนี้จุดอ่อนอีกข้อของระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ใช้ท่อยิงแนวราบคือสามารถทำการยิงเป้าหมายได้ทีละเป้าเท่านั้น แล้วจึงหันแท่นยิงไปหาเป้าหมายอื่นต่อไป ฝ่ายตรงข้ามสามารถอาศัยจุดบอดเหล่านี้มาโจมตีได้ แม้การใช้จรวดแบบยิงแล้วลืมจะช่วยให้เปลี่ยนเป้าหมายได้เร็วขึ้น แต่การประสานงานกับระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นอื่นๆก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าอยู่ดี เพราะไม่มียุทโธปกรณ์ชนิดไหนในโลกที่เป็นอาวุธวิเศษ สามารถปฏิบัติการทุกอย่างคว้าชัยชนะได้ด้วยตนเองตามลำพัง

สวัสดี

26.12.2020

แสดงความคิดเห็น