เอส-25 แบร์คุท ระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นแรกของสหภาพโซเวียต

ภาพจรวด V-300 ของระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-25 Berkut หรือ SA-1 Guild
(Leonidl/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 3.0)

จากการศึกษาปฏิบัติการทิ้งระเบิดเยอรมนีและญี่ปุ่น โดยฝูงบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตพบว่าลำพังปืนต่อสู้อากาศยานไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการสกัดเครื่องบินทิ้งระเบิดที่บินในเพดานบินสูง จึงต้องมีการพัฒนาอาวุธต่อสู้อากาศยานชนิดใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็คือระบบป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งใช้จรวดพื้นสู่อากาศในการต่อตีอากาศยานข้าศึกนั่นเอง โดยระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นแรกของโซเวียตมีชื่อว่า S-25 Berkut หรือที่ NATO เรียกว่า SA-1 Guild

สหภาพโซเวียตเริ่มพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-25 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.1950 อิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) ผู้นำโซเวียตประกาศว่าการพัฒนาจรวดสำหรับป้องกันภัยทางอากาศจะต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่สุดท้ายกว่า S-25 จะเข้าประจำการก็ปี ค.ศ.1955 ในสมัยนิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) โดย S-25 ระบบหนึ่งประกอบด้วยแท่นยิงจรวดจำนวน 60 แท่น มีถนนเชื่อมถึงกัน เพื่อที่รถบรรทุกจรวดสำรองจะได้เข้าถึงแท่นยิงแต่ละแท่นได้สะดวก มีบังเกอร์ 10 แห่ง (1 แห่งต่อ 6 แท่นยิง) ไว้ใช้เตรียมการยิง นอกจากนี้ยังมีบังเกอร์สำหรับควบคุมสั่งการและเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่น B-200 หรือที่สหรัฐฯเรียกว่าเรดาร์ Yo-Yo แยกออกไปต่างหาก S-25 ใช้จรวดพื้นสู่อากาศรุ่น V-300 มีความเร็วสูงสุด 2.5 มัค ระยะยิงขึ้นกับชนิดของเป้าหมาย ถ้าใช้ยิงใส่เครื่องบินทิ้งระเบิดเช่น B-52 Stratofortress ของสหรัฐฯที่เพดานบินสูง จะมีระยะยิงไกลสุดประมาณ 30 กิโลเมตร เมื่อถึงปี ค.ศ.1959 สหภาพโซเวียตได้ผลิตจรวด V-300 ออกมามากกว่า 32,000 ลูก

ภายในปี ค.ศ.1958 สหภาพโซเวียตได้วางกำลังระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-25 จำนวน 56 ระบบ เป็นวงแหวน 2 ชั้นล้อมรอบกรุงมอสโก วงแหวนชั้นนอกประกอบด้วย S-25 จำนวน 34 ระบบ วางกำลังอยู่ห่างจากใจกลางเมือง รัศมีประมาณ 85 – 90 กิโลเมตร ส่วนวงแหวนชั้นในมีรัศมีประมาณ 45 – 50 กิโลเมตร ประกอบด้วย S-25 จำนวน 22 ระบบ โดยโซเวียตได้ทำการติดตั้งเรดาร์แจ้งเตือน A-100 ซึ่งมีระยะตรวจจับประมาณ 200 กิโลเมตร จำนวน 14 ระบบ เพื่อค้นหาเป้าหมายให้ S-25 ด้วย โดย 10 ระบบวางกำลังเป็นวงแหวนล้อมรอบกรุงมอสโกรัศมีประมาณ 400 กิโลเมตร และอีก 4 ระบบวางกำลังถัดเข้ามาด้านใน รัศมีประมาณ 25 – 30 กิโลเมตร

แม้การวางกำลัง S-25 ล้อมรอบกรุงมอสโกจะส่งผลให้น่านฟ้ามอสโก เป็นน่านฟ้ามีการป้องกันภัยทางอากาศแน่นหนาที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในสมัยนั้น แต่ระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้ก็มีข้อเสียคือฐานยิงมีลักษณะค่อนข้างถาวร ไม่สามารถเคลื่อนย้ายที่ตั้งได้สะดวก สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการตัดถนนและสร้างบังเกอร์ นอกจากนี้ระบบยังมีความซับซ้อน ต้องการการบำรุงรักษาสูง ส่งผลให้ S-25 ไม่เหมาะสมที่จะใช้วางกำลังในพื้นที่ต่างๆทั่วทั้งสหภาพโซเวียต ภายหลังจึงมีการพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75 Dvina หรือ SA-2 Guideline ซึ่งมีความซับซ้อนน้อยกว่าและเคลื่อนย้ายที่ตั้งได้สะดวกออกมาอีกรุ่นหนึ่งในปี ค.ศ.1957 สำหรับวางกำลังในพื้นที่ต่างๆทั่วสหภาพโซเวียต รวมถึงส่งให้ชาติพันธมิตรเช่นคิวบา เวียดนาม อียิปต์ ซีเรีย และประเทศในกลุ่มองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact)

สหภาพโซเวียตใช้ S-25 ป้องกันน่านฟ้ามอสโกจนถึงปี ค.ศ.1982 แล้วจึงปลดประจำการ ทดแทนด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300P แม้ S-25 จะไม่ได้ใช้ในภารกิจป้องกันภัยทางอากาศแล้ว แต่ปัจจุบันกองทัพรัสเซียก็ยังใช้งาน S-25 เป็นเป้าซ้อมยิงให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่ๆอยู่ โดยที่ผ่านมาได้ทำการยิงไปแล้วประมาณ 11,000 ลูก

สวัสดี

30.12.2020

แสดงความคิดเห็น