
(Srđan Popović/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 4.0)
ในช่วงต้นสงครามเย็น สหภาพโซเวียตมีระบบป้องกันภัยทางอากาศที่เป็นกำลังรบหลักอยู่ 3 รุ่น รุ่นแรกคือ S-25 Berkut หรือ SA-1 Guild ออกแบบมาใช้กับอากาศยานที่บินในเพดานบินสูง ทดแทนปืนต่อสู้อากาศยานสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่ขีดความสามารถไม่เพียงพอ เข้าประจำการในปี ค.ศ.1955 อย่างไรก็ตาม S-25 มีข้อเสียคือมีราคาแพง ซับซ้อน และฐานยิงมีลักษณะถาวร เคลื่อนย้ายที่ตั้งไม่สะดวก ไม่เหมาะกับพื้นที่กว้างใหญ่ของสหภาพโซเวียต สุดท้าย S-25 จึงถูกใช้ในการป้องกันน่านฟ้ากรุงมอสโกเท่านั้น และต่อมาในปี ค.ศ.1957 ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75 Dvina หรือ SA-2 Guideline ก็เข้าประจำการ ระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้ออกแบบมาใช้กับอากาศยานที่เพดานบินสูงเช่นเดียวกับ S-25 แต่มีความซับซ้อนน้อยกว่า รวมถึงเคลื่อนย้ายที่ตั้งได้สะดวก เหมาะสำหรับใช้วางกำลังในพื้นที่ต่างๆของสหภาพโซเวียต รวมถึงส่งให้ประเทศพันธมิตรในกลุ่มองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) และประเทศอื่นๆเช่นจีน คิวบา อียิปต์ ซีเรีย เวียดนาม ฯลฯ การปรากฏตัวของระบบป้องกันภัยทางอากาศทั้งสองรุ่น ส่งผลให้กองทัพอากาศฝ่ายตรงข้ามต้องเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ จากเดิมที่สมัยสงครามโลก เครื่องบินรบจะพยายามบินให้สูงที่สุดเพื่อให้พ้นระยะยิงของปืนต่อสู้อากาศยาน ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาบินในระดับเพดานบินต่ำแทน สหภาพโซเวียตจึงพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศอีกรุ่นหนึ่งเพื่อใช้กับอากาศยานที่เพดานบินต่ำคือ S-125 Neva/Pechora (Neva คือรุ่นที่โซเวียตใช้เองส่วน Pechora คือรุ่นส่งออก) หรือ SA-3 Goa เข้าประจำการในปี ค.ศ.1961 ใช้จรวดตระกูล V-600 มีระยะยิง 35 กิโลเมตร
จะเห็นได้ว่าแนวคิดการวางกำลังระบบป้องกันภัยทางอากาศหลายๆรุ่นรวมกันเป็นเครือข่ายมีมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศเลย โดยสหภาพโซเวียตจะใช้ S-25 และ S-75 กับอากาศยานที่เพดานบินสูง และใช้ S-125 รับมืออากาศยานที่เพดานบินต่ำ เป็นการปิดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน คำถามที่ตามมาคือแล้วเหตุใดในปี ค.ศ.1965 ระหว่างสงครามเวียดนาม สหภาพโซเวียตจึงส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เวียดนามเหนือเฉพาะรุ่น S-75 เท่านั้น ไม่ได้ส่ง S-125 มาพร้อมกันด้วย ทั้งที่ประเทศในตะวันออกกลางอย่างอียิปต์ ซีเรีย และอิรักต่างก็ได้รับ S-125 ไปใช้งานกันถ้วนหน้า คำตอบคือสหภาพโซเวียตกลัวว่าเทคโนโลยีของ S-125 จะตกไปอยู่ในมือของประเทศทางผ่านคือจีนนั่นเอง
ในช่วงต้นสงครามเย็น ทั้งสหภาพโซเวียตและจีนต่างก็ร่วมมือกันสนับสนุนเวียดนามเหนือเต็มที่ ยุทโธปกรณ์จำนวนมากถูกส่งข้ามชายแดนจีน เข้ามาสู่เวียดนามเหนือทางบก และอีกส่วนหนึ่งขนมาทางทะเลขึ้นฝั่งที่เมืองท่าไฮฟอง โดยยุทโธปกรณ์ของโซเวียตที่ส่งมาทางบกผ่านทางจีนนั้น มักจะถูกจีนยักยอกส่วนหนึ่งไปใช้เอง แล้วส่งของก็อปผลิตในจีนมาให้เวียดนามเหนือใช้ทดแทน ช่วงแรกๆเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหามากนัก เพราะยุทโธปกรณ์ที่สหภาพโซเวียตส่งให้เวียดนามเหนือส่วนใหญ่ก็เป็นรุ่นเก่าที่เคยส่งให้จีนแล้วก่อนหน้านั้น ที่สำคัญตอนนั้นทั้งสหภาพโซเวียตและจีนต่างก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศไปในทำนองเดียวกัน จีนยอมรับสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำของโลกคอมมิวนิสต์ ปัญหามาเกิดช่วงยุค 60 เมื่อทั้งสองประเทศเริ่มขัดแย้งกันมากขึ้น โลกคอมมิวนิสต์แตกแยก โดยจีนพยายามจะขึ้นมาเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์แทนที่สหภาพโซเวียต ส่งผลให้สหภาพโซเวียตตกที่นั่งลำบาก เพราะด้านหนึ่งก็ต้องส่งยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลืออื่นๆให้เวียดนามเหนือไม่ให้น้อยหน้าจีน ขณะที่อีกด้านก็กลัวว่าถ้าส่งยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยผ่านทางจีนแล้ว เทคโนโลยีจะตกไปอยู่ในมือจีน สุดท้ายในปี ค.ศ.1965 โซเวียตจึงส่งเฉพาะระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75 ให้เวียดนามเหนือเท่านั้น ใช้ป้องกันเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 Stratofortress ของสหรัฐฯซึ่งเวียดนามเหนือมองเป็นภัยคุกคามหลัก ระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้โซเวียตเคยส่งให้จีนแล้ว โดยจีนใช้ยิงเครื่องบินสอดแนม RB-57D Canberra ของไต้หวันตกเมื่อปี ค.ศ.1959 โซเวียตจึงไม่ต้องกังวลเรื่องเทคโนโลยีจะรั่วไหลแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกับ S-125 ที่โซเวียตไม่เคยส่งให้จีนมาก่อน
การปรากฏตัวของ S-75 ในสงครามเวียดนามส่งผลให้สหรัฐฯถึงกับตกตะลึง ต้องหาวิธีการต่างๆมารับมือ หนึ่งในนั้นคือเครื่องบินรบของสหรัฐฯพยายามบินต่ำเพื่อหลบ S-75 ซึ่งออกแบบมาใช้กับอากาศยานที่เพดานบินสูง แม้เวียดนามเหนือจะไม่มี S-125 สำหรับรับมืออากาศยานที่เพดานบินต่ำ แต่เวียดนามเหนือมีปืนต่อสู้อากาศยานและเครื่องยิงจรวดประทับบ่า (MANPADS) จำนวนมาก สามารถใช้ทดแทนได้ ตลอดสงครามเวียดนามมีเครื่องบินรบของสหรัฐฯมากกว่า 1,000 ลำถูกยิงตกขณะพยายามบินต่ำหลบ S-75
เวียดนามเหนือพึ่งจะได้รับระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-125 จากสหภาพโซเวียตอย่างเร็วที่สุดก็ปี ค.ศ.1972 เท่าที่มีภาพถ่ายปรากฏออกมา ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่สหรัฐฯเริ่มถอนตัวออกจากเวียดนามแล้ว เวียดนามเหนือจึงไม่มีโอกาสใช้ S-125 กับเครื่องบินรบของสหรัฐฯแต่อย่างใด จนกระทั่งเวียดนามรวมประเทศได้สำเร็จในปี ค.ศ.1975 ต่อมาเมื่อเวียดนามขัดแย้งกับจีน สหภาพโซเวียตก็ส่งยุทโธปกรณ์จำนวนมากรวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เวียดนามทางเรือและทางอากาศ แต่สุดท้ายการสู้รบส่วนใหญ่ในสงครามสั่งสอนปี ค.ศ.1979 กลับจำกัดอยู่แค่ทางบกเท่านั้น S-125 ของเวียดนามจึงไม่มีโอกาสได้แสดงผลงาน
ปัจจุบันหน่วยป้องกันภัยทางอากาศของเวียดนามก็ยังคงใช้งาน S-125 รุ่นอัพเกรดคือ Pechora-2TM อยู่ พึ่งทำการอัพเกรดไปเมื่อปี ค.ศ.2015
สวัสดี
01.01.2021