เอส-125 ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่แพร่หลายที่สุดในอาเซียน

ภาพระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pechora-2M
(Vitaly Kuzmin/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 4.0)

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-125 Neva/ Pechora เข้าประจำการในกองทัพสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1961 ออกแบบมาสำหรับรับมืออากาศยานที่บินในเพดานบินต่ำ วางกำลังร่วมกับระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-25 Berkut และ S-75 Dvina ซึ่งออกแบบมาใช้กับอากาศยานที่บินในเพดานบินสูง จนถึงปัจจุบันระบบป้องกันภัยทางอากาศทั้งสามรุ่นก็มีอายุเกิน 60 ปี กองทัพรัสเซียได้ปลดประจำการไปหมดแล้ว โดยนำจรวดที่เหลืออยู่ในคลังไปดัดแปลงใช้เป็นเป้าซ้อม อย่างไรก็ตาม S-75 และ S-125 ก็ยังคงมีใช้งานอยู่ในหลายสิบประเทศทั่วโลก รวมถึงในอาเซียนซึ่งมีประเทศที่มีหรือเคยมี S-125 ใช้งานอยู่ถึง 4 ประเทศได้แก่เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา อาจกล่าวได้ว่า S-125 เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่แพร่หลายที่สุดในภูมิภาคนี้

เวียดนาม

เท่าที่มีภาพถ่ายปรากฏออกมา เวียดนามเหนือได้รับระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-125 จากสหภาพโซเวียตอย่างเร็วที่สุดประมาณปี ค.ศ.1972 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯกำลังถอนตัวจากสงครามเวียดนามแล้ว จึงไม่มีโอกาสได้ใช้กับเครื่องบินรบสหรัฐฯ สาเหตุที่สหภาพโซเวียตไม่ได้ส่ง S-125 ให้เวียดนามเหนือพร้อมกับ S-75 ในปี ค.ศ.1965 เนื่องจากขณะนั้นสหภาพโซเวียตขัดแย้งกับจีนซึ่งเป็นทางผ่านส่งยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ให้เวียดนามเหนือ สหภาพโซเวียตไม่ต้องการให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีของ S-125 จึงไม่ส่งให้เวียดนามเหนือดื้อๆเลย ประกอบกับขณะนั้นเวียดนามเหนือมองว่าภัยคุกคามหลักคือเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-52 Stratofortress ซึ่ง S-75 ถูกออกแบบมารับมืออยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องส่ง S-125 ให้ กลายเป็นว่าหลังจากเวียดนามรวมประเทศแล้ว โจทย์ของ S-125 ของเวียดนามกลับกลายเป็นเครื่องบินรบของจีนในช่วงสงครามสั่งสอนปี ค.ศ.1979 แทน แต่สุดท้ายการรบส่วนใหญ่กลับจำกัดอยู่เพียงทางบกเท่านั้น S-125 ของเวียดนามจึงไม่มีโอกาสได้แสดงผลงาน ต่างจาก S-75 ที่ยิงเครื่องบินรบของสหรัฐฯตกประมาณ 200 ลำระหว่างสงครามเวียดนาม

ปัจจุบันเวียดนามยังมี S-125 ใช้งานอยู่ประมาณ 24 ระบบ โดยระหว่างปี ค.ศ.2011 – 2017 เวียดนามได้ทำการอัพเกรด S-125 ที่ยังมีประจำการอยู่จากรุ่น S-125M เป็นรุ่น S-125-2TM หรือ Pechora-2TM ซึ่งมีขีดความสามารถในการรับมืออากาศยานขนาดเล็กรวมถึงโดรนในระดับเพดานบินต่ำ และระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ได้ดีขึ้น โดยใช้บริการบริษัท Tetraedr ของเบลารุส รวมถึงจัดหาบางส่วนเพิ่มเติมจากรัสเซียด้วย

ลาว

ลาวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตและเวียดนามมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ได้รับยุทโธปกรณ์หลายรายการมาใช้งาน รวมถึง S-125 ซึ่งกองทัพลาวยังคงใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน ปรากฏตัวในงานสวนสนามครบรอบ 70 ปีกองทัพลาวเมื่อปี ค.ศ.2019 ในส่วนของจำนวนและรุ่น S-125 ของลาวไม่มีข้อมูลแน่ชัด

เมียนมาร์

ช่วงประมาณปี ค.ศ.2010 เมียนมาร์ได้จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศจำนวนมากจากรัสเซียและจีน หนึ่งในนั้นคือ Pechora-2M ซึ่งก็คือ S-125 รุ่นที่ใช้ฐานยิงติดตั้งบนรถบรรทุก (รุ่นที่ฐานยิงตั้งอยู่กับที่ชื่อว่า Pechora-1M ส่งออกให้อิรักและยูโกสลาเวีย) ซึ่งรัสเซียปลดประจำการแล้ว นำมาดัดแปลงขายให้ลูกค้าต่างประเทศ โดยเมียนมาร์มีรถฐานยิงของ Pechora-2M ประมาณ 30 คัน แต่ละคันมีจรวด 2 ลูก

กัมพูชา

กัมพูชาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เคยมี S-125 ใช้งานอยู่ โดยมีจรวดอยู่ในคลังอย่างน้อย 33 ลูก แต่ได้ทำลายทิ้งไปหมดแล้ว แลกกับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ปัจจุบันอาวุธต่อสู้อากาศยานของกัมพูชามีเพียงปืนต่อสู้อากาศยานและจรวดพื้นสู่อากาศประทับบ่าหรือ MANPADS เท่านั้น

สวัสดี

09.01.2021

แสดงความคิดเห็น