
(Kirill Borisenko/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 4.0)
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้เผยแพร่คลิปวิดีโอการทดสอบปฏิบัติการร่วมกันของรถถัง T-72 และรถรบสนับสนุนรถถัง BMPT Terminator สังกัดกองพลรถถัง ในมณฑลทหารภาคกลาง (Central Military District รับผิดชอบพื้นที่แถบเทือกเขาอูราลและไซบีเรีย) ถือว่าเป็นครั้งแรกๆเลยที่มีการเผยแพร่คลิปปฏิบัติการของ BMPT ออกมา ช่วยให้เราเห็นภาพการใช้งานยานเกราะชนิดนี้มากขึ้น
รัสเซีย (สหภาพโซเวียต) เริ่มพัฒนา BMPT จากประสบการณ์ในอัฟกานิสถานและสงครามเชชเนีย เนื่องจากปืนใหญ่รถถังมีอัตราการยิงและมุมก้ม-มุมเงย ไม่เหมาะสมสำหรับรับมือฝ่ายตรงข้ามซึ่งใช้อาวุธต่อสู้รถถังซุ่มโจมตีจากที่สูงเช่นบนภูเขาและอาคารต่างๆ หรือจากชั้นใต้ดิน เป็นต้น เบื้องต้นโซเวียตและรัสเซียแก้ปัญหาโดยการใช้รถรบทหารราบเช่น BMP-2 ซึ่งติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตร และปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรเช่น ZSU-23-4 Shilka และ 2K22 Tunguska มายิงสนับสนุนรถถัง (แนวคิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง) แต่ก็ติดปัญหาว่ายานเกราะเหล่านี้ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับรบประจัญบานในแนวหน้า มีเกราะบาง ถูกทำลายได้ง่าย (รถรบทหารราบ BMP และรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR ของโซเวียตออกแบบมาเน้นความคล่องตัวในการเคลื่อนที่เป็นหลัก มีคุณสมบัติสะเทินน้ำสะเทินบก จำเป็นต้องมีน้ำหนักเบา ไม่สามารถหุ้มเกราะหนามากได้) จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนายานเกราะประเภทใหม่ขึ้นมาก็คือรถรบสนับสนุนรถถัง BMPT นั่นเอง โดยเป็นการนำตัวรถของรถถัง T-72 หรือ T-90 มาถอดป้อมปืนใหญ่ออก แล้วติดป้อมปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรลำกล้องคู่และจรวดต่อสู้รถถังเข้าไปแทน โดยบางรุ่นจะมีเครื่องยิงลูกระเบิดอัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรเพิ่มเข้าไปด้วย เป็นยานเกราะที่สามารถยิงกดหัวทหารราบฝ่ายตรงข้ามได้ โดยที่มีเกราะป้องกันตัวระดับเดียวกับรถถังนั่นเอง ที่น่าสนใจคือยานเกราะชนิดนี้รัสเซียพัฒนาขึ้นมาใช้งานเป็นประเทศแรก ปัจจุบันมีลูกค้าต่างประเทศได้แก่คาซัคสถานและแอลจีเรีย ขณะที่จีนก็เลียนแบบโดยการดัดแปลงรถถัง Type-59 ติดปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรและจรวดต่อสู้รถถัง ชื่อรุ่น QN-506 (ของจีนยังไม่มีลูกค้าจัดหาไปใช้งาน) แต่ฝั่งสหรัฐฯและ NATO กลับไม่มีการพัฒนายานเกราะชนิดเดียวกันนี้ออกมาใช้งานแต่อย่างใด ทั้งที่มีประสบการณ์กับการรบนอกแบบทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? แล้วประเทศไทยมีความจำเป็นต้องจัดหายานเกราะแบบ BMPT มาใช้งานหรือไม่
ในส่วนของคำถามข้อแรก ผมมองว่าเราต้องย้อนไปดูที่มาของ BMPT ก่อน จะเห็นได้ว่า BMPT ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อกลบจุดอ่อนเรื่องเกราะของรถรบทหารราบ BMP และปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรของรัสเซีย (โซเวียต) แต่ในส่วนของฝั่ง NATO นั้น ไม่ได้เน้นคุณสมบัติเรื่องความคล่องตัวในการเคลื่อนที่มากเท่าฝั่งรัสเซีย ด้วยเหตุนี้รถรบทหารราบของค่าย NATO เช่น M2 Bradley ของสหรัฐฯและ Puma ของเยอรมนี จึงสามารถเสริมเกราะได้หนากว่า และสามารถปฏิบัติการใกล้ชิดกับรถถังในแนวหน้าสุดได้มากกว่ารถรบทหารราบ BMP ของรัสเซีย ยานเกราะแบบ BMPT จึงมีความจำเป็นสำหรับ NATO น้อยกว่ารัสเซีย ซึ่งผมคิดว่าถ้าเลือกได้ รัสเซียก็คงอยากได้รถรบทหารราบที่หุ้มเกราะหนาขึ้นมากกว่า BMPT เพราะมีอำนาจการยิงพอๆกันและสามารถบรรทุกทหารได้ด้วย สังเกตว่าแม้รัสเซียจะเปิดตัว BMPT รุ่นแรกตั้งแต่ปี 2011 แต่กระทรวงกลาโหมรัสเซียพึ่งจะตัดสินใจจัดหา BMPT เข้าประจำการในปี 2017 สาเหตุหนึ่งเพราะช่วงนั้นรัสเซียตั้งความหวังไว้กับรถรบทหารราบ T-15 Armata และ Kurganets-25 รุ่นใหม่ ซึ่งติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรและจรวดต่อสู้รถถัง Kornet มีอำนาจการยิงพอๆกับ BMPT หุ้มเกราะหนา (โดยเฉพาะ T-15 ซึ่งใช้ตัวรถแบบเดียวกับรถถัง T-14) และสามารถบรรทุกทหารได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องจัดหา BMPT ให้ซ้ำซ้อนกัน แต่ทว่าภายหลังโครงการ Armata ติดโรคเลื่อนและรัสเซียเองก็ขาดแคลนงบประมาณ ส่งผลให้ต้องอัพเกรดรถรบทหารราบ BMP-2 และ BMP-3 ใช้งานต่อไป เปิดโอกาสให้ BMPT ได้แจ้งเกิดในกองทัพรัสเซียนั่นเอง แม้รัสเซียจะมีโครงการพัฒนา BMPT รุ่นใหม่ซึ่งใช้ตัวรถ Armata แต่ผมมองว่าโครงการนี้ซ้ำซ้อนกับ T-15 ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด
สำหรับประเทศไทย ส่วนตัวผมมองว่าความจำเป็นของ BMPT ขึ้นอยู่กับว่าในอนาคตไทยจะจัดหารถถังตระกูล T-90 หรือ T-72 มาใช้งานหรือไม่มากกว่า เพราะการจัดหา BMPT หมายความว่าต้องมีการสำรองอะไหล่ตัวรถของรถถัง T-72 หรือ T-90 มาพร้อมกันด้วย เปรียบเสมือนการเพิ่มแบบรถถังขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง การจัดหา BMPT มาใช้งานแบบเพรียวๆสำหรับประเทศไทย ผมมองว่าเกินความจำเป็นไปมาก ในอนาคตอันใกล้ไทยควรให้ความสำคัญกับการจัดหารถสายพานลำเลียงหรือรถรบทหารราบมาทดแทนรถสายพานลำเลียง M113 และ Type-85 มากกว่า อย่างไรก็ตามถ้าเกิดในอนาคตมีการจัดหารถถัง T-90 มาใช้งาน (ส่วนตัวผมสนับสนุนรถถัง T-90 มาตั้งแต่โครงการ Oplot-M แต่ปัจจุบันถ้าเป็นไปได้ก็ควรไปต่อกับ VT-4 ให้ถึงที่สุดก่อน) แล้วจะพ่วง BMPT มาพร้อมกันด้วย ทำนองเดียวกับแอลจีเรียที่จัดหา BMPT-72 ไปใช้งานคู่กับรถถัง T-90S ผมก็สนับสนุน พูดง่ายๆคือสำหรับผม BMPT ควรจะต้องเป็นแพคเกจเสริมสำหรับรถถัง T-90 หรือ T-72 มากกว่าจะเป็นสินค้าหลักโดยตัวของมันเอง
สวัสดี
17.01.2021