เมียนมาร์จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 ,โดรนและเรดาร์จากรัสเซีย

ภาพ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 (SA-22 Greyhound) ของรัสเซีย ในงานแสดงอาวุธ ARMY-2015 ที่สนามซ้อมรบ Alabino ใกล้กรุงมอสโก รัสเซีย วันที่ 18 มิถุนายน 2015 Credit : Igor Dolgov/123rf.com

สื่อ TASS รายงานว่าเมียนมาร์จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1, โดรนตรวจการณ์ Orlan-10E และเรดาร์ไม่ระบุรุ่นจากรัสเซีย ถือเป็นการจัดหาอาวุธล็อตใหญ่จากรัสเซียโดยเมียนมาร์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ตลอดช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เมียนมาร์ก็ได้จัดหาอาวุธจากรัสเซียจำนวนมากเช่นเครื่องบินขับไล่ MiG-29 จำนวน 30 ลำ, เครื่องบินฝึก Yak-130 จำนวน 12 ลำ, เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-24 และ Mi-35 จำนวน 10 ลำ, ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pechora-2M จำนวน 8 ระบบ เป็นต้น และล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้เมียนมาร์ก็ได้จัดหาเครื่องบินขับไล่ Su-30SME จำนวน 6 ลำด้วย

คลิประบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 ของรัสเซียจาก Zvezda

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 หรือชื่อ NATO คือ SA-22 Greyhound พัฒนาต่อยอดมาจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ 2K22 Tunguska เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้ ติดอาวุธจรวดพื้นสู่อากาศจำนวน 12 ลูก ระยะยิง 20 กิโลเมตรและปืนต่อสู้อากาศยานระยะยิง 4 กิโลเมตร มีใช้งานในประเทศรัสเซีย แอลจีเรีย อิรัก เซอร์เบีย ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ ราคาระบบละประมาณ 13.5 – 14.67 ล้านเหรียญหรือราว 400 ล้านบาทเศษๆ

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 ออกแบบมาสำหรับใช้งานร่วมกับระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลเช่น S-300 และ S-400 วางกำลังร่วมกันเป็นเครือข่าย โดย Pantsir-S1 จะคอยป้องกัน S-300 และ S-400 จากภัยคุกคามในระยะประชิด รวมถึงรับหน้าที่จัดการกับเป้าหมายขนาดเล็ก ราคาถูกเช่นโดรนและจรวดร่อน ซึ่งไม่คุ้มค่าที่จะใช้จรวดพิสัยไกลราคาแพงในการจัดการ ขณะเดียวกัน Pantsir-S1 ก็จะอาศัยเรดาร์ของ S-300 และ S-400 ในการตรวจจับและแจ้งเตือนภัยคุกคามตั้งแต่อยู่ในระยะไกล เพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้า สำหรับจุดอ่อนของ Pantsir-S1 เช่นเดียวกับระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้ส่วนใหญ่คือระยะตรวจจับเรดาร์ของตัวเองค่อนข้างสั้น ขณะที่ท่อยิงจรวดแม้จะมีจำนวนมากแต่เป็นท่อยิงแนวราบ หมายความว่า Pantsir-S1 สามารถหมุนป้อมปืนไปยิงเป้าหมายได้ทีละเป้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ถ้า Pantsir-S1 ออกปฏิบัติการแบบเดี่ยวๆแยกกัน โดยไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นอื่นๆสนับสนุน ก็มีโอกาสที่อากาศยานของฝ่ายตรงข้ามจะอาศัยจุดอ่อนเหล่านี้บินวนรอบ Pantsir-S1 จากระยะที่ปลอดภัย แล้วหาโอกาสเข้ามาโจมตีทำลายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กีดขึ้นในลิเบีย แต่ในกรณีของเมียนมาร์ถือว่าต่างออกไปครับ เมียนมาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศมากที่สุดในอาเซียน มีทั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ KS-1A จากจีน, Kvadrat-M จากเบลารุส, Pechora-2M จากรัสเซีย เป็นต้น เมื่อได้ Pantsir-S1 มาเพิ่มก็จะยิ่งเสริมให้เครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศของเมียนมาร์แน่นหนามากขึ้น ตอนนี้เรียกได้ว่าขาดแค่ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลเช่น S-300 และ S-400 เท่านั้นเอง

ภาพโดรน Orlan-10 ของรัสเซีย (Mike 1979 Russia/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 3.0)

สำหรับ Orlan-10E ก็เป็นรุ่นส่งออกของ Orlan-10 ซึ่งเป็นโดรนตรวจการณ์อเนกประสงค์ของรัสเซีย เข้าประจำการเมื่อปี ค.ศ.2010 ใช้ได้ทั้งในภารกิจลาดตระเวณตรวจการณ์ ค้นหากู้ภัย และชี้เป้าให้ปืนใหญ่ ผ่านสมรภูมิมาแล้วทั้งในดอนบาส ซีเรีย และนาร์กอโน-คาราบัค

คลิปทหารรัสเซียใช้โดรน Orlan-10 ชี้เป้าให้จรวดหลายลำกล้อง BM-21

การจัดหาอาวุธของเมียนมาร์ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเมียนมาร์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างเมียนมาร์และรัสเซียด้วย น่าสนใจติดตามโครงการเรือดำน้ำของเมียนมาร์ด้วยว่าจะจัดหาเรือดำน้ำ Kilo มือหนึ่งจากรัสเซียมาใช้งานเมื่อไหร่ หลังจากล่าสุดได้ Kilo มือสองจากอินเดียมาใช้งานแล้ว

สวัสดี

22.01.2021

แสดงความคิดเห็น