ข่าวเมียนมาร์จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 จากรัสเซีย ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในอาเซียนซึ่งสื่อไทยและเวียดนามหลายสำนักได้ลงข่าวนี้โดยพร้อมเพรียงกัน แน่นอนว่าสื่อบางสำนักก็หยิบยกประเด็นที่ Pantsir-S1 ถูกทำลายในซีเรียและลิเบียโดยโดรนของอิสราเอลและตุรกีขึ้นมาวิเคราะห์ด้วย ส่วนตัวผมมองว่าแม้ประเด็นดังกล่าวจะมีประโยชน์ แต่ก็ขาดภาพรวมที่สำคัญไปคือ Pantsir-S1 เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ออกแบบมาใช้งานร่วมกับระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นอื่นๆ วางกำลังร่วมกันเป็นเครือข่าย การประเมินขีดความสามารถ Pantsir-S1 ของเมียนมาร์รวมถึงการหาวิธีรับมือจึงไม่สามารถใช้เหตุการณ์ในซีเรียและลิเบียมาวิเคราะห์โดดๆได้ แต่ต้องพิจารณาร่วมกับขีดความสามารถระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นอื่นๆของเมียนมาร์ด้วย ในบทความนี้ผมจะมาแนะนำผู้อ่านให้รู้จักกับระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นต่างๆที่เมียนมาร์มีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เท่าที่มีข้อมูลเปิดเผยออกมา
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75M3 Volga-2 (SA-2 Guideline)
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75M3 Volga-2 เป็นรุ่นอัพเกรดของ S-75 Dvina หรือ SA-2 Guideline ของสหภาพโซเวียต ซึ่งมีชื่อเสียงมากจากสงครามเวียดนาม เมียนมาร์จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้มาในปี ค.ศ.2008 จำนวน 48 แท่นยิง พร้อมจรวด 250 ลูก

(Haruno Sakura from Team-7/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pechora-2M (SA-3 Goa)
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pechora-2M เป็นรุ่นส่งออกของระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-125 Neva ของสหภาพโซเวียต มีระยะยิง 35 กิโลเมตร เมียนมาร์จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้จากรัสเซียจำนวน 8 ระบบ มีรถฐานยิงรวม 30 คัน แต่ละคันมีจรวด 2 ลูก

(Haruno Sakura from Team-7/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Kvadrat-M
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Kvadrat-M เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่เบลารุสพัฒนาต่อยอดมาจาก 2K12 Kub หรือ SA-6 Gainful ของสหภาพโซเวียต ซึ่งเข้าประจำการช่วงยุค 70 สามารถใช้จรวดร่วมกับระบบป้องกันภัยทางอากาศ Buk ของรัสเซียได้ มีระยะยิงไกลสุด 45 กิโลเมตรขึ้นกับรุ่นของจรวด เมียนมาร์เป็นลูกค้าต่างประเทศรายแรกของ Kvadrat-M นอกจากรุ่นอัพเกรดแล้ว ข้อมูลบางแหล่งยังระบุว่าเมียนมาร์มี 2K12 Kub ตัวต้นฉบับใช้งานอยู่ด้วยเช่นกัน

(Haruno Sakura from Team-7/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ KS-1A และ KS-1M
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ KS-1A ผลิตโดยประเทศจีน มีขีดความสามารถใกล้เคียงกับระบบป้องกันภัยทางอากาศ MIM-23 Hawk ของสหรัฐฯ แต่สามารถใช้ป้องกันขีปนาวุธได้ด้วย มีระยะยิง 50 กิโลเมตร เมียนมาร์มีใช้งานอยู่ 6 ระบบ และสามารถผลิตได้เองในประเทศด้วย รุ่นที่เมียนมาร์ผลิตเองมีชื่อว่า KS-1M เปิดตัวเมื่อปี ค.ศ.2016 ผลิตออกมาแล้วอย่างน้อย 1 ระบบ ระบบป้องกันภัยทางอากาศตระกูล KS-1 ไทยก็มีใช้งานอยู่เช่นกัน เป็นรุ่น KS-1C ระยะยิง 70 กิโลเมตร ไกลกว่าของเมียนมาร์

(KMK from Myanmar/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 4.0)
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ 2K22M Tunguska (SA-19 Grison)
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ 2K22 Tunguska เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1982 เป็นรุ่นก่อนหน้าของ Pantsir-S1 ของรัสเซีย Tunguska ติดอาวุธจรวดพื้นสู่อากาศจำนวน 8 ลูก ระยะยิง 8 – 10 กิโลเมตร และปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 30 มิลลิเมตร ระยะยิง 4 กิโลเมตร เมียนมาร์จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้จากรัสเซียจำนวน 38 ระบบ ระหว่างปี ค.ศ.2004 – 2007 และต่อมาก็จัดหาจากยูเครนเพิ่มอีก 3 ระบบในปี ค.ศ.2019

(Haruno Sakura from Team-7/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
จะเห็นได้ว่าเมียนมาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศมากที่สุดในอาเซียน ถ้าพิจารณาเฉพาะระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้และกลางอาจกล่าวได้ว่าเมียนมาร์มีขีดความสามารถเหนือกว่าเวียดนามด้วยซ้ำ ถ้าได้ Pantsir-S1 มาเสริมก็จะยิ่งส่งผลให้เครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศของเมียนมาร์เข้มแข็งมากขึ้นไปอีก ขาดแค่ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้เมียนมาร์จะยังไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300, S-400 หรือ HQ-9 แต่ก็มีข้อมูลบางแหล่งระบุว่าเมียนมาร์เคยจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-200 หรือ SA-5 Gammon จากเกาหลีเหนือ แต่ปัจจุบันน่าจะหมดอายุการใช้งานไปแล้ว หรือต่อให้ยังใช้ได้ก็ถือว่าไม่น่ากลัวมากนัก เนื่องจาก S-200 เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตตั้งแต่ปี ค.ศ.1967 ออกแบบมาสำหรับยิงเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่เช่น B-52 Stratofortress ของสหรัฐฯ จรวดมีขนาดใหญ่มาก ขาดความคล่องตัวไม่เหมาะสำหรับใช้ยิงเครื่องบินขับไล่หรือโดรน ช่วงหลายปีที่ผ่านมา S-200 ของซีเรียเคยยิงเครื่องบินขับไล่ F-16I ของอิสราเอลตกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ถึงแม้เมียนมาร์จะยังไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลที่มีประสิทธิภาพ แต่เฉพาะระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศที่เข้มแข็งที่สุดในอาเซียนแล้ว การหาวิธีรับมือ Pantsir-S1 ที่เมียนมาร์จัดหามาใหม่นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นอื่นๆของเมียนมาร์ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
สวัสดี
23.01.2021