สหรัฐฯยืนยันไม่ขาย F-35 ให้ตุรกีจนกว่าจะทิ้ง S-400

ภาพระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของรัสเซีย ระหว่างการสวนสนามวันแห่งชัยชนะที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก 24 มิถุนายน 2020
(Viktor Karasev/ 123RF)

สื่อ Radio Free Europe และ Sputnik รายงานว่าโฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯหรือเพนตากอน จอห์น เคอร์บี (John Kirby) แถลงว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ยังคงยึดมั่นนโยบายของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ไม่ขายเครื่องบินขับไล่ F-35 ให้ตุรกี จนกว่าตุรกีจะกำจัดระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ที่จัดหาจากรัสเซียทิ้งไป สหรัฐฯยังกล่าวหาตุรกีด้วยว่ามีโอกาสที่จะจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ Patriot จากสหรัฐฯหลายครั้งตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ตุรกีกลับเลือกจัดหา S-400 จากรัสเซีย ซึ่งไม่สอดคล้องกับความรับผิดชอบของตุรกีในฐานะพันธมิตรของสหรัฐฯและสมาชิก NATO

ส่วนตัวผมมองว่าคำแถลงของนายเคอร์บีไม่มีรายละเอียดอะไรน่าสนใจ ยกเว้นว่าสหรัฐฯกำลังพูดเอาดีเข้าตัวเหมือนเดิม เพราะความจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าตุรกีมีโอกาสจัดหา Patriot แล้วไม่เอาแต่เลือกจัดหา S-400 ตรงกันข้าม ตุรกีเคยพยายามจัดหา Patriot จากสหรัฐฯมาก่อนหน้านั้นหลายครั้งแล้ว แต่สหรัฐฯไม่ยอมขายให้ สาเหตุหนึ่งเพราะตุรกีต้องการให้สหรัฐฯถ่ายทอดเทคโนโลยีของ Patriot ให้ตุรกี เพื่อที่ตุรกีจะได้พัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธของตัวเอง ให้สามารถพัฒนาและผลิตระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลได้เองในอนาคต แต่สหรัฐฯไม่ยอม ตุรกีจึงต้องหันไปหาผู้ผลิตรายอื่นแทน โดยตอนแรกตุรกีเลือกจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ FD-2000 จากจีน ซึ่งเป็นรุ่นส่งออกของ HQ-9 (S-300 made in China) แต่ก็ถูกสหรัฐฯและ NATO กดดันจนต้องยกเลิกโครงการไปในที่สุด ด้วยข้ออ้างทำนองเดียวกันว่าระบบอาวุธเข้ากันไม่ได้ ส่งผลให้ตุรกียังคงไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลสำหรับป้องกันตนเอง ทั้งที่เป็นหน้าด่านของ NATO อยู่ใกล้กับรัสเซียและอิหร่าน สุดท้ายในปี ค.ศ.2017 เมื่อตุรกีฟื้นสัมพันธ์กับรัสเซียแล้วรัสเซียเสนอขาย S-400 ให้ พร้อมกับแย้มว่าอาจถ่ายทอดเทคโนโลยีบางส่วนให้ตุรกีด้วย ก็เป็นธรรมดาที่ตุรกีจะต้องคว้าโอกาสเอาไว้ สหรัฐฯพึ่งจะมาเสนอขาย Patriot ให้ตุรกีอีกครั้งหลังตุรกีลงนามในสัญญาจัดหา S-400 ไปแล้ว โดยที่สหรัฐฯก็ไม่ยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ตุรกีเหมือนเดิม แล้วเหตุใดตุรกีจะต้องทิ้ง S-400 มาจัดหา Patriot ที่ราคาแพงกว่าและมีโปรโมชั่นไม่ครบตามที่ตุรกีต้องการแต่อย่างใด ไม่ต้องพูดถึงเครดิตและค่าปรับที่ตุรกีต้องเสียถ้ายกเลิกดีล S-400 อีก

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 พัฒนาโดยบริษัท Almaz-Antey เข้าประจำการในกองทัพรัสเซียเมื่อปี ค.ศ.2007 เรดาร์มีระยะตรวจจับไกลสุด 600 กิโลเมตร จรวดมีระยะยิงไกลสุด 400 กิโลเมตร (ขึ้นกับรุ่น) ระบบหนึ่งประกอบด้วยรถบัญชาการ 1 คัน รถเรดาร์ 2 คัน และรถฐานยิงประมาณ 8 คัน แต่ละคันบรรทุกจรวด 4 ลูก ปัจจุบันมีลูกค้าต่างประเทศได้แก่จีน ตุรกี และอินเดีย นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศที่กำลังเจรจาจัดหาอยู่เช่นเบลารุส

สวัสดี

07.02.2021

คลิประบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของรัสเซีย

แสดงความคิดเห็น