
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวจากสื่อ Global Times รายงานว่าจีนได้วางกำลังรถถังหลัก Type-99A ซึ่งเป็นรถถังรุ่นที่ทันสมัยที่สุดของจีนบริเวณเทือกเขาการาโกรัม (Karakoram) ติดกับชายแดนอินเดียและปากีสถาน สมทบกับรถถังเบา Type-15 รุ่นใหม่ที่หน่วยทหารในมณฑลซินเจียงพึ่งรับมอบเข้าประจำการไปเมื่อไม่นานนี้
รถถังหลัก Type-99A พัฒนาต่อยอดมาจากรถถังหลัก Type-99 เปิดตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกระหว่างการสวนสนามที่กรุงปักกิ่งในปี ค.ศ.2015 ใช้พลประจำรถ 3 นาย ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตร ซึ่งสามารถยิงจรวดต่อสู้รถถังจากในลำกล้องได้ทำนองเดียวกับของรัสเซีย, ปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 มิลลิเมตร และปืนกลหนักขนาด 12.7 มิลลิเมตร ระบบป้องกันตัวประกอบด้วยเกราะผลิตจากวัสดุคอมโพสิตและเกราะ ERA รุ่นใหม่ที่สามารถป้องกันหัวรบ Tandem ได้ ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1,500 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 600 กิโลเมตร (800 กิโลเมตรเมื่อติดตั้งถังน้ำมันสำรอง) ปัจจุบันจีนมีรถถังรุ่นนี้ประจำการอยู่ประมาณ 250 คัน
การวางกำลังรถถังหลัก Type-99A บริเวณชายแดนติดกับอินเดียส่งผลให้ดุลทางทหารของจีนเหนือกว่าอินเดีย เนื่องจากรถถังรุ่นนี้มีขีดความสามารถเหนือกว่ารถถังหลัก T-90S Bhishma และ T-72M1 Ajeya ที่อินเดียใช้งานอยู่มาก นอกจากนี้จีนยังมีรถถังเบา Type-15 ซึ่งออกแบบมาสำหรับการรบบนพื้นที่สูงโดยเฉพาะ ขณะที่อินเดียไม่มีรถถังเบาแต่อย่างใด แม้อินเดียจะเจรจาจัดหารถถังเบา Sprut SDM-1 จากรัสเซียอยู่ แต่รถถังเบาของรัสเซียออกแบบมาใช้งานคนละวัตถุประสงค์กับรถถังเบาของจีน โดยรัสเซียออกแบบ Sprut-SDM1 ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตร สำหรับยิงสนับสนุนทหารพลร่ม (รัสเซียจัด Sprut-SDM1 เป็นปืนใหญ่ต่อสู้รถถังอัตตาจร ไม่ใช่รถถังเบา) จึงจำเป็นต้องมีน้ำหนักเบาเพื่อให้สามารถส่งทางอากาศด้วยเครื่องบินลำเลียง Il-76 ได้ ส่งผลให้มีเกราะบาง แลกกับอำนาจการยิงระดับเดียวกับรถถังหลัก ขณะที่รถถังเบาของจีนแม้จะติดอาวุธเพียงปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตร แต่มีระบบป้องกันตัวดีกว่ามาก เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนัก ถ้าเกิดการปะทะกันในแถบเทือกเขาหิมาลัย รถถังเบาของจีนน่าจะได้เปรียบพอสมควร ถ้าอินเดียต้องการจะถ่วงดุลจีนในอนาคตก็อาจต้องจัดหารถถังหลักที่ทันสมัยขึ้นเช่นรถถังหลัก T-90MS หรือ T-14 Armata เป็นต้น
สวัสดี
08.02.2021