
มีข่าวจากสื่อ Daily Sabah และ Al-Jazeera รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตุรกีเปิดเผยว่า ตุรกีเสนอให้มีการใช้ “ครีตโมเดล” ในการแก้ไขความขัดแย้งกับสหรัฐฯ กรณีที่ตุรกีจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 จากรัสเซีย โดยตุรกีเสนอให้ NATO เป็นคนกลางในการเจรจากับสหรัฐฯ
ครีตโมเดลคืออะไร ? ย้อนกลับไปช่วงปลายยุค 90 ไซปรัสพยายามจะจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300PMU1 จากรัสเซีย เพื่อถ่วงดุลตุรกีที่ยึดครองภาคเหนือของไซปรัสมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น แต่ทว่าก่อนที่รัสเซียจะส่งมอบ S-300PMU1 ให้ไซปรัส ข่าวก็รั่วออกไปเสียก่อน ส่งผลให้ตุรกีไม่พอใจขู่โจมตีไซปรัสก่อนจะมีโอกาสเปิดใช้งาน S-300PMU1 สุดท้ายจึงมีการทำข้อตกลงใหม่ โดยกรีซซึ่งเป็นสมาชิก NATO ได้รับซื้อ S-300PMU1 ไว้แทน โดยนำไปติดตั้งที่เกาะครีต และภายหลังกรีซก็ได้จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ Tor-M1 และปืนต่อสู้อากาศยาน ZU-23-2 จากรัสเซียเพิ่มเติมด้วย นำมาจัดตั้งเป็นเครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศ อย่างไรก็ตามกรีซไม่ได้บูรณาการเครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียเข้ากับระบบ NATO แต่อย่างใด แถมยังเปิดใช้งานแค่นานๆครั้งด้วย ยกตัวอย่างเช่น S-300PMU1 ของกรีซพึ่งจะทดสอบยิงครั้งแรกในปี ค.ศ.2013 หลังจากประจำการมานานกว่า 14 ปี ตุรกีเสนอจะใช้โมเดลเดียวกันนี้ในการใช้งาน S-400 กล่าวคือตุรกีจะไม่บูรณาการ S-400 เข้ากับระบบของ NATO และจะเปิดใช้งาน S-400 เท่าที่จำเป็น เฉพาะเวลาที่มีภัยคุกคามเท่านั้น
แม้หลายคนจะมองว่าการแสดงท่าทีของตุรกีในครั้งนี้เป็นการยอมอ่อนข้อประนีประนอมกับสหรัฐฯ แต่ส่วนตัวผมมองว่าท่าทีของตุรกียังไม่เปลี่ยนไปแต่อย่างใดครับ เพราะตุรกียังยืนยันจะเก็บ S-400 ไว้เหมือนเดิม แค่จำกัดการใช้งานและมีการประสานงานกับสหรัฐฯและ NATO มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ตุรกีเสนอมาตลอด ในขณะที่สหรัฐฯยื่นคำขาดให้ตุรกีต้องกำจัด S-400 ทิ้งไปเท่านั้น ไม่ว่าจะโดยการส่งคืนให้รัสเซียหรือขายต่อให้ต่างประเทศ (รวมถึงสหรัฐฯ) ก็ตาม ถึงตอนนี้หลายคนอาจคิดว่าตุรกีควรตัดปัญหาด้วยการทิ้ง S-400 ไปให้จบๆ แต่ ประเด็นคือการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์กับรัสเซีย
แม้ช่วงที่ผ่านมาตุรกีกับรัสเซียจะขัดแย้งกันหลายเรื่อง ถึงขนาดทำสงครามตัวแทนกันในซีเรีย ลิเบีย และล่าสุดก็นาร์กอโน-คาราบัค แต่ความจริงแล้วหลังฉากรัสเซียและตุรกีมีการประสานผลประโยชน์กันตลอดเวลา ทั้งสองประเทศไม่ได้มองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูแต่อย่างใด สงครามตัวแทนในภูมิภาคต่างๆเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือต่อรองผลประโยชน์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นในลิเบีย สาเหตุหนึ่งที่ตุรกีสามารถช่วยรัฐบาลลิเบียที่กรุงตริโปลีพลิกสถานการณ์ได้ ก็เพราะรัสเซียถอนทหารรับจ้างของตนออกจากแนวหน้าในช่วงเวลาสำคัญ ส่งผลให้กองทัพแห่งชาติลิเบียมีกำลังพลไม่พอที่จะรักษาแนวรบไว้ได้ ถูกตีโต้ถอยร่นออกจากพื้นที่รอบกรุงตริโปลีในที่สุด แต่เมื่อกองทัพแห่งชาจิลิเบียถอยร่นมาถึงเมืองเซอร์เตและฐานทัพอากาศจูฟรา ซึ่งรัสเซียขีดเส้นไว้ รัสเซียก็เสริมกำลังทั้งทางภาคพื้นดินคือหน่วยทหารรับจ้าง และกำลังทางอากาศคือเครื่องบินขับไล่ MiG-29 และเครื่องบินโจมตี Su-24 เข้าพื้นที่ ส่งผลให้ฝ่ายตุรกีต้องหยุดการรุก เป็นต้น
ส่วนตัวผมมองว่าตอนจบของประเด็น S-400 ของตุรกี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าตุรกีจะยอมตามสหรัฐฯหรือไม่ แต่ขึ้นกับว่าสหรัฐฯจะยอมผ่อนปรนให้ตุรกีหรือเปล่า ปัญหาคือสหรัฐฯก็อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะสหรัฐฯก็ออกตัวกับกฎหมาย Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act หรือ CAATSA ไว้แรงเหมือนกัน เพราะกฎหมายนี้กำหนดไว้ชัดเจนว่าประเทศไหนจัดหาอาวุธจากรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือจะถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรหมด ไม่มีช่องทางเจรจาต่อรองผลประโยชน์ใดๆเลย เป็นการอาศัยอำนาจอิทธิพลของสหรัฐฯมาบีบบังคับประเทศอื่นๆเท่านั้น แม้สภาคองเกรสซึ่งมัดมือชกอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้ออกกฎหมายนี้ออกมา จะให้อำนาจประธานาธิบดีงดเว้นมาตรการคว่ำบาตรเป็นรายกรณีได้ แต่คงไม่มีประธานาธิบดีคนไหนอยากถูกกล่าวหาว่าเป็นหุ่นเชิดรัสเซีย นอกจากนี้ถ้ามีประเทศหนึ่งได้รับการงดเว้น ประเทศอื่นๆก็คงจะตั้งคำถามกับสหรัฐฯเช่นกัน สุดท้ายก็ต้องงดเว้นให้ทุกประเทศ กฎหมาย CAATSA ก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์
สวัสดี
11.02.2021