
ในปี ค.ศ.1981 ตรงกับสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Regan) ของสหรัฐฯและ เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) ของสหภาพโซเวียต สงครามเย็นกำลังตึงเครียดหลังสหภาพโซเวียตเข้าแทรกแซงอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.1979 หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯจึงจัดทำโปสเตอร์ “Soviet Big 7” แสดงภาพและข้อมูลขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์สำคัญ 7 รุ่นของกองทัพโซเวียต ซึ่งสหรัฐฯมองว่า NATO มีโอกาสเผชิญหน้าด้วยมากที่สุดในขณะนั้น สำหรับใช้เป็นเครื่องมือช่วยฝึกทหาร ให้เกิดความคุ้นเคยกับยุทโธปกรณ์ของฝ่ายตรงข้าม สามารถระบุชื่อและขีดความสามารถเบื้องต้นได้ ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักยุทโธปกรณ์ทั้ง 7 รุ่น ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีใช้งานแพร่หลายทั่วโลกรวมถึงในอาเซียนด้วย อาจกล่าวได้ว่าโปสเตอร์ Soviet Big 7 นี้ยังคงมีประโยชน์อยู่แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 40 ปีแล้วก็ตาม
1. ปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-23-4 Shilka

ปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรขนาด 23 มิลลิเมตร 4 ลำกล้อง ZSU-23-4 Shilka เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตช่วงยุค 60 ออกแบบมาทดแทนปืนต่อสู้อากาศยาน ZSU-57-2 รุ่นเก่า มีอัตราการยิงสูงมากถึง 4,000 นัดต่อนาที (ลำกล้องละ 1,000 นัดต่อนาที) นอกจากใช้ต่อสู้อากาศยานแล้ว ยังสามารถใช้ยิงสนับสนุนภาคพื้นดินได้ด้วย ปัจจุบันยังมีใช้งานแพร่หลายทั่วโลก โดยบางรุ่นมีการอัพเกรดติดตั้ง MANPADS เพิ่มเติม เพื่อรับมืออากาศยานรุ่นใหม่ๆที่มีจรวดระยะยิงไกลขึ้น
2.รถถังหลัก T-72

รถถัง T-72 เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1973 ออกแบบมาใช้งานคู่กับรถถัง T-64 เนื่องจากรถถัง T-64 มีความซับซ้อนในการผลิตและมีราคาแพง ไม่เหมาะสำหรับจัดหาเข้าประจำการจำนวนมาก โซเวียตจึงต้องพัฒนารถถัง T-72 ซึ่งมีความซับซ้อนน้อยกว่าและราคาถูก เหมาะสำหรับผลิตจำนวนมาก ขึ้นมาใช้ควบคู่กัน รถถัง T-72 ใช้พลประจำรถ 3 นาย ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตร ปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 มิลลิเมตร และปืนกลหนักต่อสู้อากาศยานขนาด 12.7 มิลลิเมตร รถถัง T-72 รุ่นแรกๆใช้เครื่องยนต์ดีเซล V-12 ขนาด 780 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 840 แรงม้าในรุ่น T-72B และขนาด 1,130 แรงม้าในรุ่น T-72B3 ซึ่งเป็นกำลังรบหลักของกองทัพรัสเซียในปัจจุบัน
3.รถรบทหารราบ BMP-1

(Bundesarchiv, Bild 183-1988-1007-009 / CC-BY-SA 3.0)
รถรบทหารราบ BMP-1 เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1966 ใช้พลประจำรถ 3 นาย บรรทุกทหารได้ 8 นาย มีน้ำหนัก 13 ตัน ติดอาวุธปืนใหญ่ลำกล้องสั้นขนาด 73 มิลลิเมตร ปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 มิลลิเมตร และจรวดต่อสู้รถถัง AT-3 Sagger ใช้เครื่องยนต์ดีเซล UTD-20 ขนาด 300 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถเคลื่อนที่ในน้ำได้ด้วยความเร็ว 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีอำนาจการยิงและความคล่องตัวในการเคลื่อนที่สูง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการมีเกราะบาง โดยเกราะด้านหน้าสามารถป้องกันได้เพียงปืนกลหนักขนาด 12.7 มิลลิเมตรเท่านั้น สหภาพโซเวียตส่ง BMP-1 ให้ประเทศพันธมิตรใช้งานอย่างแพร่หลาย ต่อมาโซเวียตพบว่าปืนใหญ่ขนาด 73 มิลลิเมตรของ BMP-1 มีอัตราการยิงต่ำเกินไป รวมถึงขาดความแม่นยำ จึงมีการเปลี่ยนอาวุธหลักเป็นปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรในรุ่น BMP-2 ซึ่งเข้าประจำการในปี ค.ศ.1980 ปัจจุบันยังคงมีใช้งานอย่างแพร่หลาย
4.ปืนใหญ่อัตตาจร 2S1 Gvozdika (M-1974)

ปืนใหญ่อัตตาจร 2S1 Gvozdika เกิดจากการนำปืนใหญ่ขนาด 122 มิลลิเมตรรุ่น D-32 (ดัดแปลงมาจากปืนใหญ่ลากจูงรุ่น D-30) มาติดตั้งบนรถสายพาน MT-LB มีคุณสมบัติสะเทินน้ำสะเทินบก เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1971 แต่พึ่งเปิดตัวสู่สาธารณชนครั้งแรกในปี ค.ศ.1974 ในงานสวนสนามของกองทัพโปแลนด์ ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิก Warsaw Pact เป็นที่มาของชื่อ NATO ว่า M-1974 มีระยะยิงไกลสุด 15.2 กิโลเมตร บรรทุกกระสุน 40 นัด ปัจจุบันยังมีใช้งานในกองทัพประเทศต่างๆประมาณ 30 ประเทศเช่นรัสเซีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส บัลแกเรีย ฟินแลนด์ จอร์เจีย โปแลนด์ ซีเรีย ยูเครน เวียดนาม ฯลฯ
5.ปืนใหญ่อัตตาจร 2S3 Akatkiya (M-1973)

ปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 152 มิลลิเมตร 2S3 Akatsiya เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1971 มีระยะยิงไกลสุด 17.4 กิโลเมตร รูปร่างภายนอกคล้ายปืนใหญ่อัตตาจร M109 ของสหรัฐฯ ปัจจุบันยังมีใช้งานในประเทศต่างๆประมาณ 20 ประเทศเช่นรัสเซีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส จอร์เจีย ซีเรีย ยูเครน เวียดนาม ลาว ฯลฯ
6.ระบบป้องกันภัยทางอากาศ 9K33 Osa (SA-8 Gecko)

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ 9K33 Osa เข้าประจำการในปี ค.ศ.1971 เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้ ระยะยิง 9 กิโลเมตร ออกแบบมารับมืออากาศยานที่เพดานบินต่ำ Osa เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นแรกของโลกที่รวมเรดาร์และจรวดไว้บนรถฐานยิงคันเดียวกัน รถฐานยิงมีคุณสมบัติสะเทินน้ำสะเทินบก มีความคล่องตัวในการเคลื่อนที่สูง ปัจจุบัน Osa ยังคงมีใช้งานในกองทัพประเทศต่างๆประมาณ 20 ประเทศเช่นรัสเซีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน กรีซ ยูเครน อินเดีย ฯลฯ
7.เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-24 Hind

เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mil Mi-24 Hind เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1972 มีจุดเด่นที่แตกต่างจากเฮลิคอปเตอร์โจมตีทั่วไปคือสามารถใช้บรรทุกทหารจำนวน 8 นายได้ด้วย Mi-24 มีรุ่นย่อยหลายรุ่นรวมถึงรุ่นส่งออกอย่าง Mi-25 และ Mi-35 ปัจจุบันยังคงมีใช้งานในกองทัพประเทศต่างๆเกือบ 50 ประเทศทั่วโลก โดยในอาเซียนมีใช้งานในประเทศเมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย
สวัสดี
18.02.2021