จุดกำเนิดปืนพ่นไฟในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ภาพพลปืนพ่นไฟของเยอรมันในแนวรบด้านตะวันตกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ.1917
(Bundesarchiv, Bild 183-R22888 / CC-BY-SA 3.0)

แม้อาวุธพ่นไฟจะถูกใช้งานมาตั้งแต่สมัยโบราณในจีน และในยุคกลางของยุโรปโดยจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งใช้อาวุธที่เรียกว่าไฟกรีก (Greek fire) ในยุทธนาวีช่วงคริตศตวรรษที่ 7 แต่ในสงครามสมัยใหม่ อาวุธพ่นไฟพึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกโดยกองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อราว 100 ปีก่อนนี้เอง

ปืนพ่นไฟในภาษาเยอรมันเรียกว่า Flammenwerfer ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Flamethrower ในภาษาอังกฤษ ถูกคิดค้นขึ้นโดย Richard Fiedler นำเสนอให้กองทัพเยอรมันพิจารณาในปี ค.ศ.1901 และเข้าประจำการในปี ค.ศ.1906 ปืนพ่นไฟของเยอรมันมี 2 แบบหลักๆคือปืนพ่นไฟขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก บรรจุเชื้อเพลิงไว้เพียงพอทำการยิงติดต่อกันนาน 40 วินาที ระยะยิงประมาณ 36 เมตร สำหรับใช้ป้องกันที่มั่นอยู่กับที่ ส่วนอีกแบบคือปืนพ่นไฟขนาดเล็กซึ่งสามารถให้ทหารราบพกพาไปโจมตีที่มั่นข้าศึกได้ มีระยะยิง 18 เมตร พลปืนพ่นไฟชุดแรกๆเกณฑ์มาจากนักดับเพลิง เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำงานคุ้นเคยกับไฟอยู่แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องย้อนแย้งมากที่นักดับเพลิงซึ่งปกติจะต้องช่วยชีวิตคนจากไฟ ต้องมาเป็นผู้ใช้ไฟล้างผลาญชีวิตคนอื่นเสียเอง โดยปืนพ่นไฟกระบอกหนึ่งจะใช้กำลังพลประมาณ 2 – 3 นายในการใช้งาน โดยกำลังพลนายหนึ่งจะแบกถังเชื้อเพลิงไว้ที่หลัง ส่วนที่เหลืออีก 1 – 2 นายจะเป็นผู้ใช้งานท่อฉีดไฟ

กองทัพเยอรมันนำปืนพ่นไฟมาใช้งานอย่างจำกัดเป็นครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในแนวรบด้านตะวันตก วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1915 ทหารเยอรมันใช้ปืนพ่นไฟเข้าตีที่มั่นของฝรั่งเศสใกล้แวร์เดิง (Verdun) ทหารฝรั่งเศสต่างก็เสียขวัญเมื่อเห็นเปลวเพลิงและควันไฟจากปืนพ่นไฟของเยอรมันเป็นครั้งแรก พากันวิ่งหนีออกมาจากสนามเพลาะมาอยู่ในที่โล่ง ตกเป็นเป้าปืนไรเฟิลและปืนกลของทหารราบเยอรมันที่ติดตามพลปืนไฟมาอย่างง่ายดาย ส่งผลให้ที่มั่นของฝรั่งเศสแตกภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที ต่อมาทหารเยอรมันก็ใช้ปืนพ่นไฟเข้าโจมตีที่มั่นของทหารอังกฤษเป็นครั้งแรกในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ.1915 ผลลัพธ์ออกมาประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน ความสำเร็จเหล่านี้ส่งผลให้กองทัพเยอรมันเริ่มใช้งานปืนพ่นไฟอย่างแพ่หลายมากขึ้น มีการจัดตั้งหน่วยพลปืนพ่นไฟในระดับกองพัน มีส่วนร่วมในสมรภูมิสำคัญๆเช่นที่แวร์เดิง (Battle of Verdun) ในปี ค.ศ.1916 ก่อนจะขยายหน่วยเป็นระดับกรมในเวลาต่อมา ได้รับตราหัวกะโหลกไขว้ (Totenkopf) เป็นสัญลักษณ์ ติดที่บริเวณแขนเสื้อด้านซ้าย เป็นที่ครั่นคร้ามหวาดกลัวของข้าศึก แต่ก็ส่งผลให้พลปืนพ่นไฟตกเป็นเป้าหมายแรกๆที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการกำจัดให้ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ถ้าพลปืนพ่นไฟถูกฝ่ายตรงข้ามจับตัวได้ก็มักจะถูกยิงทิ้งทันที พลปืนพ่นไฟจึงต้องได้รับการสนับสนุนจากทหารราบอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตลอดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กองทัพเยอรมันใช้ปืนพ่นไฟโจมตีที่มั่นฝ่ายตรงข้ามมากกว่า 600 ครั้ง ปฏิบัติการส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามความสูญเสียของฝ่ายตรงข้ามส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากปืนพ่นไฟโดยตรง แต่เกิดจากทหารฝ่ายตรงข้ามถูกปืนพ่นไฟไล่ต้อนออกมาจากสนามเพลาะและที่กำบัง ออกมาอยู่ในที่โล่ง ตกเป็นเป้าของปืนไรเฟิลและปืนกลมากกว่า

ความสำเร็จในการใช้งานปืนพ่นไฟของเยอรมัน ส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องพัฒนาปืนพ่นไฟของตัวเองออกมาบ้าง โดยกองทัพอังกฤษนำปืนพ่นไฟมาใช้งานอย่างจำกัดเป็นครั้งแรกในสมรภูมิลุ่มแม่น้ำซอมม์ (Battle of the Somme) พัฒนาโดยนายทหารช่างชื่อ William Howard Livens แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถพกพาได้ ปืนพ่นไฟของฝรั่งเศสประสบความสำเร็จมากกว่าและถูกส่งให้กองทัพอิตาลีใช้งานด้วย (อิตาลีอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) ขณะที่รัสเซียก็ผลิตปืนพ่นไฟออกมาใช้งานมากกว่า 10,000 กระบอกเช่นกัน

สวัสดี

20.02.2021

แสดงความคิดเห็น