วันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1939 เยอรมนีบุกโปแลนด์ เปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเยอรมันนำหลักนิยมสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก บดขยี้กองทัพโปแลนด์อย่างรวดเร็ว และภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ก็เข้าประชิดกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ แม้สถานการณ์จะสิ้นหวังสำหรับกองทัพโปแลนด์ที่ต้องเผชิญหน้ากับกองทัพที่มีแสนยานุภาพเหนือกว่าตามลำพัง โดยที่อังกฤษและฝรั่งเศสไม่ได้มาช่วยตามที่สัญญาไว้แต่อย่างใด แม้จะประกาศสงครามกับเยอรมนีแล้วก็ตาม แต่ทหารโปแลนด์ก็ต่อสู้อย่างกล้าหาญในหลายสมรภูมิ หนึ่งในนั้นคือยุทธการวิซนา (Battle of Wizna) ซึ่งทหารโปแลนด์หน่วยเล็กๆหน่วยหนึ่งสามารถตั้งรับการโจมตีจากทหารเยอรมันที่มีกำลังพลมากกว่าถึง 60 ต่อ 1 ได้นานถึงสามวัน

(Apoloniusz Zawilski (1972) “Bitwy Polskiego Września” (“Battles of Polish September”), Warsaw: Nasza Księgarnia ISBN 83-218-0817-4 (current edition))
หมู่บ้านวิซนา (Wizna) ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของโปแลนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงวอร์ซอ บริเวณที่แม่น้ำสองสายคือ Nareva และ Biebrza ตัดกัน ห่างจากชายแดนปรัสเซียตะวันออกของเยอรมนี (ปัจจุบันคือคาลินินกราดของรัสเซีย) เพียง 34 กิโลเมตร ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ กองทัพโปแลนด์เริ่มสร้างแนวป้องกันบริเวณริมฝั่งแม่น้ำตั้งแต่ปี ค.ศ.1938 หลังเยอรมนีผนวกออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย แนวป้องกันตามแผนของโปแลนด์จะประกอบด้วยบังเกอร์ 60 แห่ง เป็นแนวยาว 9 กิโลเมตร แต่ทว่ามีเพียง 16 แห่งที่สร้างเสร็จทันก่อนที่เยอรมนีจะบุกโปแลนด์ และในจำนวนนี้มีเพียง 6 แห่งที่ได้รับการติดตั้งปืนใหญ่ รวมถึงเสริมเกราะให้พอป้องกันกระสุนปืนใหญ่ได้
ในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1939 มีทหารโปแลนด์ประจำอยู่ที่วิซนาประมาณ 720 นาย อยู่ใต้บังคับบัญชาของร้อยเอก วลาดิสลาฟ รากินีส (Władysłav Raginis) มียุทโธปกรณ์ประกอบด้วยปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตร 6 กระบอก ปืนกลหนัก 24 กระบอก ปืนกลเบา 18 กระบอก และปืนไรเฟิลต่อสู้รถถัง 2 กระบอก กำลังพลแค่นี้ไม่พอรับมือกองทัพเยอรมันแน่นอน แต่ร้อยเอก รากินีสก็ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เขาออกคำสั่งให้ทหารทำการขุดสนามเพลาะ วางรั้วลวดหนาม กับระเบิด และสิ่งกีดขวางรถถัง รอรับการโจมตีจากกองทัพเยอรมัน
กองพลยานเกราะที่ 10 (10th Panzer Division) ของเยอรมันทำการรุกจากปรัสเซียตะวันออก มุ่งตรงมายังกรุงวอร์ซอจากทางเหนือ ทหารเยอรมันยึดหมู่บ้านวิซนาได้ในวันที่ 7 กันยายน ผลักดันให้ทหารโปแลนด์ล่าถอยไปยังแนวบังเกอร์ริมฝั่งแม่น้ำ แล้วระเบิดสะพานทิ้ง ทหารเยอรมันพยายามข้ามแม่น้ำหลายครั้ง แต่ถูกปืนกลของโปแลนด์ยิงสกัด สูญเสียอย่างหนักจนต้องหยุดการรุกไว้ชั่วคราว วันที่ 9 กันยายน กองทัพน้อยยานเกราะที่ 19 (XIX Panzer corps) ใต้บังคับบัญชาของไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) เดินทางมาสมทบกับกองพลยานเกราะที่ 10 ส่งผลให้ขณะนี้ฝ่ายเยอรมันมีกำลังพลมากกว่า 42,200 นาย รถถัง 350 คัน ปืนใหญ่วิถีโค้ง 108 กระบอก ปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง 195 กระบอก และปืนกลมากกว่า 1,000 กระบอก มากกว่าทหารโปแลนด์ 60 เท่า อำนาจการยิงของทหารเยอรมันยังมากกว่าโปแลนด์แบบเทียบกันไม่ติด

(Bundesarchiv, Bild 146-1976-071-36 / CC-BY-SA 3.0)
ช่วงเช้าวันที่ 9 กันยายน เครื่องบินรบเยอรมันโปรยใบปลิวเหนือที่มั่นของทหารโปแลนด์ เรียกร้องให้ทหารโปแลนด์ยอมแพ้ แต่ร้อยเอก รากินีส ไม่ยอม เขาปฏิญาณตนว่าจะต่อสู้จนตัวตาย กองทัพเยอรมันใช้รถถังข้ามแม่น้ำเข้าตีที่มั่นของโปแลนด์ แม้รถถังเยอรมันจะเจาะผ่านแนวป้องกันของโปแลนด์ไปได้ แต่ก็ไม่อาจเอาชนะอย่างเด็ดขาดได้อยู่ดี เนื่องจากรถถังเยอรมันในขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นรุ่น Panzer ติดอาวุธปืนกลขนาด 7.92 มิลลิเมตร 2 กระบอก และ Panzer II ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 20 มิลลิเมตร มีอำนาจการยิงไม่เพียงพอจะทำลายบังเกอร์ของโปแลนด์ซึ่งสร้างไว้อย่างแข็งแรง สามารถป้องกันได้แม้กระทั่งปืนใหญ่และระเบิดของเครื่องบินดำทิ้งระเบิด Ju-87 Stuka ทหารโปแลนด์ยังคงสามารถอาศัยบังเกอร์เป็นที่กำบังยิงสกัดทหารราบเยอรมันไม่ให้ติดตามรถถังเข้ามาประชิดที่มั่นของโปแลนด์ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถขับไล่รถถังเยอรมันให้ถอยไปได้เช่นกัน เพราะมีอาวุธต่อสู้รถถังไม่เพียงพอ
หลังจากพยายามเข้าตีอยู่หลายครั้ง ทหารเยอรมันก็พบจุดอ่อนในแนวป้องกันของโปแลนด์ คือบังเกอร์แต่ละแห่งแม้จะมีการป้องกันเข้มแข็ง แต่ตั้งอยู่ห่างกันเกินไป ไม่สามารถยิงสนับสนุนกันได้ทั่วถึง ทหารเยอรมันจึงเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ อาศัยการระดมยิงโดยรถถัง ปืนใหญ่ และทหารช่างเข้าไปลอบวางระเบิดทำลายบังเกอร์ของทหารโปแลนด์ทีละแห่ง ในที่สุดบังเกอร์แห่งสุดท้ายก็แตกในวันที่ 10 กันยายน ทหารเยอรมันเริ่มรุกเข้าประชิดกองบัญชาการของร้อยเอก รากินีส เมื่อร้อยเอก รากินิส เห็นว่าทหารของตนส่วนใหญ่ล้วนได้รับบาดเจ็บและมีกระสุนเหลือไม่พอที่จะสู้รบต่อไป จึงออกคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชายอมแพ้ ขณะที่ตัวเขาฆ่าตัวตายด้วยระเบิดมือตามที่ปฏิญาณไว้ จากจำนวนทหารโปแลนด์ประมาณ 720 นาย มีผู้รอดชีวิตเพียง 40 – 70 นาย ขณะที่ฝ่ายเยอรมันก็สูญเสียทหารไปถึง 900 นาย และมีรถถังถูกทำลาย 10 คัน แม้วีรกรรมของทหารโปแลนด์ที่วิซนาจะไม่สามารถป้องกันการยึดครองของเยอรมันได้ แต่ก็เป็นการฝากเรื่องราวความกล้าหาญไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ มีผู้เปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับกษัตริย์ลีโอไนดัส (Leonidas) และนักรบสปาร์ตัน 300 คน ยืนหยัดสู้กับกองทัพเปอร์เซียที่เทอร์มอพิลี (Battle of Thermopylae) ในยุคกรีกโบราณ
วง Sabaton ได้แต่งเพลงเกี่ยวกับยุทธการวิซนาชื่อเพลง 40:1 ในอัลบั้ม The Art of War ได้รับความนิยมมากในโปแลนด์ (ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้) โดย Sabaton ได้ประมาณตัวเลขทหารโปแลนด์ไว้ประมาณหนึ่งพันนายส่งผลให้อัตราส่วนกลายเป็น 40:1 แทนที่จะเป็น 60:1 นั่นเอง
สวัสดี
23.02.2021