เหตุใดญี่ปุ่นจึงใช้การโจมตีแบบบันไซในสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพทหารญี่ปุ่นเปล่งเสียงร้องบันไซ (ทรงพระเจริญ) ระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่น วันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1937
(China Incident Photograph Album Volume 2(Shina Jihen Shashin Zenshu Vol. 2), published in 1938 by Asahi Shimbun.)

เมื่อกล่าวถึงกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง หลายคนจะนึกเห็นภาพที่ทหารญี่ปุ่นพากันกรูออกมาจากที่กำบัง เข้าโจมตีที่มั่นทหารสหรัฐฯซึ่งๆหน้าด้วยดาบปลายปืนหรือดาบคาตานะ พร้อมกับตะโกนเปล่งเสียง “Tennōheika Banzai!” (พระจักรพรรดิทรงพระเจริญ!) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อการโจมตีแบบบันไซ (Banzai charge) ก่อนจะถูกทหารสหรัฐฯซึ่งมียุทโธปกรณ์เหนือกว่ายิงล้มตายเป็นใบไม้ร่วง แล้วก็สงสัยว่าเหตุใดญี่ปุ่นจึงใช้ยุทธวิธีที่ล้าสมัยและเปล่าประโยชน์ ส่งผลให้สูญเสียทหารจำนวนมากไปโดยเปล่าประโยชน์ ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงที่มาของการใช้การโจมตีแบบบันไซของญี่ปุ่นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วมันเปล่าประโยชน์จริงหรือไม่

ก่อนอื่นผมอยากให้ผู้อ่านทำความเข้าใจก่อนว่า ยุทธวิธีคลื่นมนุษย์ที่ใช้ดาบปลายปืนชาร์จเข้าหาฝ่ายตรงข้ามนี่เป็นยุทธวิธีพื้นฐานที่แม้แต่มหาอำนาจตะวันตกก็เคยใช้มาเป็นเวลาหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยที่การรบยังเป็นแบบสุภาพบุรุษ ตั้งแถวเดินเข้าหากันแล้วผลัดกันยิงล้มกันทีละแถว (ความจริงสาเหตุไม่ได้เป็นเพราะเรื่องสุภาพบุรุษหรอกครับ แต่เป็นเพราะปืนไรเฟิลในยุคแรกๆขาดความแม่นยำ เลยต้องเอาจำนวนเข้าช่วย) หลังจากทั้งสองฝ่ายยิงกันได้สักระยะหนึ่งแล้วขยับแนวเข้ามาอยู่ใกล้กันแล้ว ก็จะใช้ดาบปลายปืนชาร์จเข้าหากัน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วไม่ค่อยจะได้ปัดซ้าย ปัดขวา แทงใกล้ แทงไกล ทรงตัว บังตัวกันเท่าไหร่หรอกครับ เพราะฝ่ายที่ขวัญกำลังใจย่ำแย่กว่ามักจะถอยหนีตั้งแต่ก่อนจะได้ประชิดตัวกันแล้ว เป็นเรื่องการวัดใจกันมากกว่า มหาอำนาจตะวันตกใช้ยุทธวิธีแบบนี้จนถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารใหม่ๆออกมา ส่งผลให้การใช้คลื่นมนุษย์โจมตีด้วยดาบปลายปืนใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป แต่ก็ต้องแลกมาด้วยบทเรียนที่เจ็บปวดเหมือนกัน เช่นในสงครามกลางเมืองอเมริกา ทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ก็เริ่มต้นรบกันแบบสุภาพบุรุษนี่แหละครับ แต่บังเอิญตอนนั้นปืนไรเฟิลมีความแม่นยำมากขึ้นแล้ว แถมยังมีอาวุธรุ่นใหม่ๆเช่นปืนกลแกตลิง (Gatling gun) อัตราการยิง 200 นัดต่อนาที เมื่อนำออกมาตั้งแถวยิงกันซึ่งๆหน้า ผลที่ออกมาเลยดูไม่จืดครับ ส่วนมหาอำนาจยุโรปก็ได้บทเรียนจากสงครามสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารราบถือปืนไรเฟิลติดดาบปลายปืนที่ตั้งแถวปีนขึ้นมาจากสนามเพลาะ สามารถถูกปืนกลและปืนใหญ่กวาดหายไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้ต้องมีความพยายามคิดค้นยุทธวิธีและเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้งาน เช่นฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยอังกฤษเริ่มมีการนำรถถังมาใช้งานอย่างแพร่หลาย ขณะที่ฝ่ายเยอรมันก็จัดตั้งหน่วยทหารขนาดเล็ก Stormtrooper แทรกซึมแนวรบฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น ซึ่งยุทธวิธีและเทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้ก็ถูกนำมาต่อยอดใช้งานในสงครามโลกครั้งที่สอง แทนที่ยุทธวิธีคลื่นมนุษย์ที่ใช้กันอยู่เดิมนั่นเอง

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่น ?

ถึงแม้สหรัฐฯและยุโรปจะเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เจ็บปวดว่ายุทธวิธีคลื่นมนุษย์นั้นใช้ไม่ได้ผลแล้วในสงครามสมัยใหม่ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียอย่างหนักโดยไม่จำเป็น แต่ประสบการณ์ของญี่ปุ่นนั้นตรงกันข้ามครับ กล่าวคือญี่ปุ่นใช้ยุทธวิธีนี้ทีไรก็ชนะตลอดเลย ในสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย ทหารญี่ปุ่นก็ใช้ยุทธวิธีคลื่นมนุษย์เข้าตีเมืองพอร์ตอาเธอร์ (Port Arthur) ของรัสเซีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศจีน) แม้ทหารญี่ปุ่นจะถูกปืนกลของรัสเซียยิงล้มตายเป็นใบไม้ร่วงจนศพกองพะเนิน แต่สุดท้ายญี่ปุ่นก็เป็นฝ่ายชนะสงคราม ต่อมาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ญี่ปุ่นจะเข้าร่วมสงครามอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร แต่บทบาทของญี่ปุ่นก็จำกัดอยู่แค่การยึดครองอาณานิคมของเยอรมันในเอเชีย เช่นเมืองท่าชิงเตา ที่เยอรมนีเช่าจากจีนเท่านั้น ญี่ปุ่นจึงไม่ได้เรียนรู้ประสบการณ์นองเลือดจากสงครามสนามเพลาะในยุโรปแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นเริ่มทำสงครามกับจีนช่วงยุค 30 ญี่ปุ่นก็ใช้ยุทธวิธีคลื่นมนุษย์นี่แหละในการเอาชนะทหารจีนได้ในหลายสมรภูมิ และยังใช้ได้ผลต่อเนื่องไปถึงช่วงต้นสงครามแปซิฟิก ที่ญี่ปุ่นสามารถบุกยึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะต่างๆในมหาสมุทรแปซิฟิกได้อย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าประสบการณ์ในสงครามสมัยใหม่ของญี่ปุ่นล้วนแล้วแต่ยืนยันตอกย้ำ ว่ายุทธวิธีคลื่นมนุษย์หรือที่นิยมเรียกกันว่าการโจมตีแบบบันไซนี่เป็นยุทธวิธีที่ได้ผล ช่วยให้ญี่ปุ่นคว้าชัยชนะได้อย่างต่อเนื่อง แล้วเหตุใดบรรดานายทหารญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่หยิ่งในศักดิ์ศรีและอนุรักษ์นิยมจะต้องเปลี่ยนยุทธวิธีด้วย

หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในยุทธนาวีมิดเวย์ (Battle of Midway) แล้วสหรัฐฯได้ยกพลขึ้นบกที่เกาะกัวดาลคานาล (Guadalcanal) ในหมู่เกาะโซโลมอน ในสมรภูมิแย่งชิงเกาะแห่งนี้ซึ่งยืดเยื้อนานถึง 6 เดือน ถือเป็นครั้งแรกๆเลยที่การโจมตีแบบบันไซใช้ไม่ได้ผล และญี่ปุ่นต้องประสบความสูญเสียอย่างหนัก ปัจจัยสำคัญมาจากการที่ญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมัน ส่งผลให้กองทัพเรือญี่ปุ่นไม่สามารถสนับสนุนกองทัพบกได้เต็มที่ แม้จะยังมีกำลังรบที่น่าเกรงขามรวมถึงเรือประจัญบานยามาโตะ (Yamato) และมูซาชิ (Musashi) อยู่ก็ตาม ส่งผลให้กองทัพบกญี่ปุ่นบนเกาะกัวดาลคานาลค่อยๆประสบความขาดแคลนต้องถอยทัพไปในที่สุด ในขณะที่ฝั่งสหรัฐฯนอกจากจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่แล้ว ทหารสหรัฐฯยังได้รับอาวุธกึ่งอัตโนมัติและปืนกลมาใช้งานมากขึ้น (ปืนไรเฟิล M1 Garand ของสหรัฐฯสามารถยิงกระสุนต่อเนื่องกันจนหมดแหนบทีเดียว 8 นัด ในขณะที่ประเทศอื่นๆยังใช้ปืนไรเฟิลลูกเลื่อนยิงทีละนัดอยู่เลย) ซึ่งอาวุธประเภทนี้เหมาะอย่างยิ่งในการสกัดการโจมตีแบบคลื่นมนุษย์

หลังสมรภูมิกัวดาลคานาล สหรัฐฯก็กลับเป็นฝ่ายรุก ไล่ตีทหารญี่ปุ่นไปทีละเกาะ เรียกว่ายุทธวิธีกบกระโดด (Leapfrogging หรือ Island hopping) กองทัพเรือญี่ปุ่นเริ่มพ่ายแพ้ในยุทธนาวีต่างๆ กำลังรบร่อยหรอลงเรื่อยๆ ส่งผลให้ทหารญี่ปุ่นที่ประจำอยู่บนเกาะต่างๆถูกปิดล้อม ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว การโจมตีแบบบันไซที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มักจะเกิดขึ้นจากความจนตรอก ผสมกับแนวคิดของทหารญี่ปุ่นที่มองว่าการตายในสนามรบถือเป็นเกียรติ ไม่อยากอับอายที่ต้องยอมแพ้ มากกว่าจะเกิดจากความคาดหวังในชัยชนะ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับยุทธวิธีของญี่ปุ่นแต่อย่างใด เพราะทหารญี่ปุ่นที่ทำการโจมตีแบบบันไซในตอนนี้ไม่ได้ต้องการจะชนะทหารอเมริกันตั้งแต่ต้นแล้ว แค่ต้องการตายอย่างมีเกียรติ พร้อมกับฆ่าทหารข้าศึกให้ตายตามกันไปให้มากที่สุดแค่นั้นเอง ยกตัวอย่างการโจมตีแบบบันไซครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงท้ายของสมรภูมิเกาะไซปัน (Saipan) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1944 นายพลโยชิสึคุ ไซโต (Yoshitsugu Saitō) รวบรวมกำลังพลที่เหลืออยู่ประมาณ 4,300 นาย (จากจำนวนทหารญี่ปุ่นที่ป้องกันเกาะในตอนแรกประมาณ 30,000 นาย) ในจำนวนนี้มีทหารที่บาดเจ็บและพลเรือนรวมอยู่ด้วย เข้าโจมตีที่มั่นทหารสหรัฐฯ แม้สุดท้ายทหารญี่ปุ่นจะเสียชีวิตเกือบทั้งหมด แต่ฝ่ายสหรัฐฯที่ถูกโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวก็สูญเสียทหารไปเกือบ 2,000 นาย

แม้การโจมตีแบบบันไซจะถือเป็นสัญลักษณ์และภาพจำหนึ่งเกี่ยวกับกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็มีนายทหารญี่ปุ่นบางส่วนที่ห้ามไม่ให้ทหารใช้การโจมตีแบบบันไซ เช่นนายพลทาดามิชิ คูริบายาชิ (Tadamichi Kuribayashi) ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นบนเกาะอิโวจิมา (Iwo Jima) ที่เลือกให้ทหารขุดอุโมงค์ ทำศึกยืดเยื้อกับทหารสหรัฐฯมากกว่า ส่งผลให้ทหารญี่ปุ่นประมาณ 21,000 นาย สามารถป้องกันเกาะอิโวจิมาจากการยกพลขึ้นบกของทหารสหรัฐฯมากกว่า 70,000 นายได้นานกว่าหนึ่งเดือน และสมรภูมิอิโวจิมาก็เป็นสมรภูมิแห่งเดียวในสงครามแปซิฟิกที่สหรัฐฯสูญเสียทหารทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันมากกว่าฝ่ายญี่ปุ่น สาเหตุหนึ่งที่คูริบายาชิไม่ให้ใช้การโจมตีแบบบันไซ เกิดจากการที่เขาเคยเป็นผู้ช่วยทูตทหารในสหรัฐฯมาก่อน และตระหนักถึงขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมของสหรัฐฯเป็นอย่างดี เขามองว่าถ้าทหารญี่ปุ่นกรูกันออกไปโจมตีทหารสหรัฐฯที่ชายหาดซึ่งๆหน้าก็มีแต่จะพากันตายอย่างเปล่าประโยชน์เท่านั้น น่าสังเกตว่านายทหารญี่ปุ่นที่มีแนวคิดก้าวหน้ามักจะเคยไปศึกษาต่อหรือปฏิบัติงานในต่างประเทศมาก่อน นอกจากคูริบายาชิแล้วก็มีตัวอย่างเช่นพลเรือเอก อิโซโรกุ ยามาโมโตะ (Isoroku Yamamoto) ซึ่งสนับสนุนการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินมากกว่าเรือประจัญบาน และเป็นผู้นำปฏิบัติการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ก็เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รวมถึงเคยเป็นทูตทหารเรือในสหรัฐฯมาก่อน เป็นต้น

สวัสดี

24.02.2021

แสดงความคิดเห็น