เมื่อกล่าวถึงบทบาทของสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่สอง หลายคนจะนึกถึงกองทัพบกโซเวียตเป็นหลัก เนื่องจากมีบทบาทสำคัญตั้งแต่การยึดครองโปแลนด์ในเดือนกันยายน ค.ศ.1939 สงครามฤดูหนาวกับฟินแลนด์ ในช่วงรอยต่อปี ค.ศ.1940 ไปจนถึงมหาสงครามรักชาติ (The Great Patriotic War) ค.ศ.1941 – 1945 กับเยอรมนี ซึ่งจบลงด้วยการที่กองทัพโซเวียตบุกเข้ายึดครองกรุงเบอร์ลิน ในขณะที่เมื่อกล่าวถึงกองทัพเรือ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงกองทัพเรือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนีมากกว่า แต่ความจริงแล้วกองทัพเรือโซเวียตก็มีบทบาทในสงครามโลกครั้งที่สองเช่นเดียวกัน ในบทความนี้เราจะมารู้จักความเป็นมาของกองทัพเรือโซเวียตและบทบาทในสงครามโลกครั้งที่สองอย่างคร่าวๆ ก่อนที่จะลงรายละเอียดเรือรบแต่ละลำในบทความต่อๆไปครับ
จุดกำเนิดกองทัพเรือโซเวียต
อาจกล่าวได้ว่าเรือรบลำแรกของกองทัพเรือโซเวียตคือเรือลาดตระเวนออโรร่า (Aurora) ซึ่งยิงปืนใหญ่ ส่งสัญญาณให้ฝ่ายบอลเชวิกเริ่มการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution) เข้ายึดครองสถานที่สำคัญในกรุงเปโตรกราด (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเลนินกราด ปัจจุบันคือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) อย่างไรก็ตามจิตวิญญาณการปฏิวัติสามารถย้อนไปได้ถึงการก่อกบฏของลูกเรือเรือประจัญบานปาโทมคิน (Potemkin) ในปี ค.ศ.1905 และการก่อกบฏของลูกเรือกองเรือทะเลดำในปี ค.ศ.1917

(Sailor of Imperial Russian Navy/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
กองทัพเรือโซเวียตช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
หลังการปฏิวัติรัสเซีย ได้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลบอลเชวิกและฝ่ายรัสเซียขาวยืดเยื้อไปจนถึงปี ค.ศ.1923 ส่งผลให้ในช่วงแรกๆรัฐบาลบอลเชวิกต้องให้ความสำคัญกับการจัดตั้งกองทัพบก หรือกองทัพแดง (Red Army) ขึ้นมาต่อสู้เพื่อความอยู่รอดก่อน กว่าจะเริ่มหันมาให้ความสนใจกองทัพเรือก็ต้องรอถึงปี ค.ศ.1921 เมื่อบอลเชวิกพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามกลางเมืองแล้ว (ประเทศสหภาพโซเวียตพึ่งจะก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1922 หลังการปฏิวัติรัสเซียนานถึง 5 ปี)
ในปี ค.ศ.1921 รัฐบาลโซเวียตตัดสินใจจัดตั้งกองทัพเรือขึ้นมาใหม่ มีความพยายามรวบรวมเรือรบเก่าจากสมัยจักรวรรดิรัสเซียกลับมาฟื้นฟูสภาพ แต่เนื่องจากเรือรบส่วนใหญ่ถูกปล่อยปละละเลยมานาน ประกอบกับอู่เรือเกือบทั้งหมดล้วนถูกทำลายไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ ส่งผลให้รัฐบาลโซเวียตต้องยุบเรือรบมากกว่า 75% ทิ้งเป็นเศษเหล็ก อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.1922 โซเวียตก็สามารถจัดตั้งกองเรือบอลติก (Baltic Fleet) ประกอบด้วยเรือประจัญบานชั้น Marat จำนวน 1 ลำ เรือลาดตระเวน 1 ลำ เรือพิฆาต 8 ลำ และเรือดำน้ำ 9 ลำ กับกองเรือทะเลดำ (Black Sea Fleet) ประกอบด้วยเรือลาดตระเวน 1 ลำ เรือพิฆาต 2 ลำ และเรือดำน้ำ 2 ลำ

(Архив фотографий кораблей русского и советского ВМФ/ Public Domain)
ในปี ค.ศ.1926 เมื่อสหภาพโซเวียตเริ่มฟื้นฟูอู่เรือได้แล้ว กองทัพเรือโซเวียตก็ได้รับมอบเรือรบที่ฟื้นสภาพกลับมาเพิ่มเติม ประกอบด้วยเรือประจัญบาน 2 ลำ เรือลาดตระเวน 1 ลำ เรือพิฆาต 13 ลำ และเรือดำน้ำ 14 ลำ ในปีนี้ยังมีการนำแผนพัฒนากองทัพเรือ 5 ปีฉบับแรกมาใช้งานด้วย โดยตามแผนนี้โซเวียตจะต่อเรือดำน้ำเพิ่มอีก 12 ลำ เรือยามฝั่ง 18 ลำ และเรือตอร์ปิโด 36 ลำรวมถึงปรับปรุงเรือลาดตระเวน 2 ลำ เรือพิฆาต 4 ลำ และเรือรบอื่นๆอีกจำนวนหนึ่งให้ทันสมัย ต่อมาในปี ค.ศ.1929 แผนฉบับนี้ได้ถูกแก้ไขใหม่ กำหนดให้ต่อเรือดำน้ำอีก 10 ลำ เรือตอร์ปิโด 16 ลำ และเรือตรวจการณ์ลำน้ำ 2 ลำ ขณะเดียวกันก็เตรียมศึกษาการต่อเรือประจัญบานและเรือลาดตระเวนควบคู่กันไปด้วย สังเกตว่าแผนพัฒนากองทัพเรือโซเวียตมุ่งเน้นไปที่การใช้เรือรบขนาดเล็กและเรือดำน้ำในการป้องกันชายฝั่งเป็นหลัก
ในปี ค.ศ.1933 โซเวียตเริ่มใช้งานแผนพัฒนากองทัพเรือ 5 ปี ฉบับที่สอง ซึ่งยังคงมุ่งเน้นไปที่เรือรบขนาดเล็กและเรือดำน้ำเป็นหลัก โดยตามแผนฉบับนี้โซเวียตจะต่อเรือดำน้ำถึง 355 ลำ เรือตอร์ปิโด 194 ลำ เรือตรวจการณ์ลำน้ำ 4 ลำ และเรือพิฆาต 30 ลำ ถือเป็นแผนการที่ทะเยอทะยานมาก อย่างไรก็ตามภายหลังโซเวียตได้เปลี่ยนเป้าหมายของแผนฉบับนี้ใหม่เป็นการต่อเรือดำน้ำ 155 ลำ เรือตอร์ปิโด 248 ลำ เรือพิฆาต 58 ลำ และเรือลาดตระเวนหนัก 4 ลำ เน้นไปที่เรือผิวน้ำมากขึ้น อุปสรรคสำคัญคือโซเวียตขาดองค์ความรู้ในการต่อเรือรบขนาดใหญ่ ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และเยอรมนี (ก่อนหน้าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ Adolf Hitler จะขึ้นสู่อำนาจ โซเวียตและสาธารณรัฐไวมาร์ Weimar Republic มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างดี เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถูกโดดเดี่ยวเหมือนกัน)
ในปี ค.ศ.1938 โซเวียตเริ่มใช้งานแผนพัฒนากองทัพเรือ 5 ปี ฉบับที่สาม เป็นแผนที่ทะเยอทะยานกว่าฉบับก่อนๆมาก มีความพยายามต่อเรือรบขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อให้โซเวียตกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลเทียบเท่าประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ตามแนวคิดของอิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) สวนทางกับยุทธศาสตร์เดิมของคณะนายทหาร (ซึ่งถูกกวาดล้างไปแล้ว) ที่มุ่งเน้นการป้องกันชายฝั่งเป็นหลัก โดยตามแผนฉบับนี้โซเวียตจะต่อเรือประจัญบาน 19 ลำ เรือลาดตระเวน 20 ลำ เรือพิฆาต 163 ลำ เรือดำน้ำ 341 ลำ เรือตอร์ปิโด 514 ลำ และเรือตรวจการณ์ลำน้ำ 44 ลำ แต่ทว่าในปี ค.ศ.1939 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นเสียก่อน ส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนได้
กองทัพเรือโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1941 ขณะนั้นกองทัพเรือโซเวียตมีกำลังรบประกอบด้วยเรือประจัญบาน 3 ลำ เรือลาดตระเวน 7 ลำ เรือพิฆาต 59 ลำ เรือดำน้ำ 218 ลำ เรือตอร์ปิโด 269 ลำ เรือตรวจการณ์ 22 ลำ เรือกวาดทุ่นระเบิด 88 ลำ เรือเร็วปราบเรือดำน้ำ 77 ลำ และเรือขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเรือรบที่กำลังต่ออยู่อีก 219 ลำ ในจำนวนนี้มีเรือประจัญบาน 3 ลำ เรือลาดตระเวนหนัก 2 ลำ เรือลาดตระเวนเบา 7 ลำ เรือพิฆาต 45 ลำ และเรือดำน้ำ 91 ลำ ส่วนที่เหลือเป็นเรือขนาดเล็ก สังเกตว่าเรือรบขนาดใหญ่จำนวนมากในแผนพัฒนากองทัพเรือ 5 ปี ฉบับที่สาม ล้วนแต่ยังต่อไม่เสร็จ ต้องพึ่งพาเรือตอร์ปิโดและเรือดำน้ำเป็นกำลังรบหลัก ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือขณะนั้นโซเวียตมีกองเรือดำน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีเรือดำน้ำมากกว่าเยอรมนีเสียอีก อย่างไรก็ตาม แม้โซเวียตจะมีกองเรือรบขนาดใหญ่ แต่การที่กองทัพเยอรมันสามารถทำการรุกเข้ายึดเมืองต่างๆของโซเวียตได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเมืองท่าที่เป็นฐานทัพของกองเรือโซเวียตด้วย ในช่วงต้นปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) ส่งผลให้กองทัพเรือโซเวียตสูญเสียฐานปฏิบัติการส่วนหน้าไปมาก ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้สะดวก ส่งผลให้มีบทบาทค่อนข้างจำกัด

ปฏิบัติการของกองเรือบอลติก
หลังจากกลุ่มกองทัพภาคเหนือ (Army Group North) ของเยอรมนีสามารถยึดครองรัฐบอลติกและเข้าปิดล้อมเมืองเลนินกราดได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ฐานทัพของกองเรือบอลติกถูกจำกัดอยู่ที่เลนินกราดและครอนสตัดท์ในอ่าวฟินแลนด์เท่านั้น เยอรมนีและฟินแลนด์ร่วมกันวางทุ่นระเบิดปิดล้อมอ่าวไม่ให้กองเรือโซเวียตออกปฏิบัติการได้สะดวก บทบาทของเรือรบผิวน้ำโซเวียตจึงจำกัดอยู่ที่การยิงปืนเรือสนับสนุนการป้องกันเมืองเลนินกราดจากการปิดล้อมของเยอรมนีเท่านั้น ขณะที่เรือดำน้ำโซเวียตมีบทบาทมากกว่าในการรบกวนเส้นทางลำเลียงของฝ่ายอักษะในทะเลบอลติก แต่ก็ประสบความสูญเสียอย่างหนักเช่นกัน
ปฏิบัติการของกองเรือทะเลดำ
ในทางทฤษฎีกองทัพเรือโซเวียตควรที่จะครองทะเลดำได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากกองทัพเรือของโรมาเนียและบัลแกเรียมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับกองเรือทะเลดำของโซเวียต ขณะที่กองทัพเรือเยอรมันและอิตาลีก็ถูกกองทัพเรืออังกฤษปิดล้อมให้อยู่แต่ในทะเลเหนือและทะเลเมดิเตอเรเนียนตามลำดับ แต่ทว่าในปี ค.ศ.1941 กองทัพอากาศเยอรมันสามารถครองน่านฟ้าได้อย่างสมบูรณ์ กองเรือทะเลดำจึงสูญเสียความได้เปรียบไป ประกอบกับกลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) ของเยอรมนีสามารถยึดครองยูเครนได้ในปี ค.ศ.1941 และต่อมาในปี ค.ศ.1942 ก็ยึดครองไครเมียได้อีก ส่งผลให้กองเรือทะเลดำสูญเสียฐานทัพและอู่เรือสำคัญไป ต้องอพยพไปใช้ท่าเรือในจอร์เจีย ซึ่งขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสนับสนุนปฏิบัติการของเรือรบ บทบาทของกองเรือทะเลดำจึงจำกัดอยู่ที่การยิงปืนเรือสนับสนุน และการลำเลียงทหารบริเวณเมืองชายฝั่งต่างๆเท่านั้น
ปฏิบัติการของกองเรือภาคเหนือ
กองเรือภาคเหนือ (Northern Fleet) ของโซเวียตมีบทบาทช่วยคุ้มกันขบวนคอนวอยของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ลำเลียงยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ อังกฤษ และแคนาดามาสนับสนุนโซเวียตตามโครงการยืม-เช้า (Lend-Lease)
ปฏิบัติการของกองเรือแปซิฟิก
กองเรือแปซิฟิก (Pacific Fleet) ของโซเวียตไม่มีบทบาทมากนักจนถึงช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากโซเวียตมีสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับญี่ปุ่นจนถึงปี ค.ศ.1945 ระหว่างนี้โซเวียตจึงย้ายเรือพิฆาตหลายลำจากกองเรือแปซิฟิกไปสนับสนุนภารกิจของกองเรือภาคเหนือ ในการคุ้มกันขบวนคอนวอยจากการโจมตีของเรือดำน้ำเยอรมัน ต่อมาเมื่อโซเวียตประกาศสงครามกับญี่ปุ่น กองเรือแปซิฟิกก็มีบทบาทสนับสนุนปฏิบัติการในแมนจูเรียและการยกพลขึ้นบกที่หมู่เกาะคูริล จริงๆแล้วโซเวียตมีแผนจะยกพลขึ้นบกที่ฮอกไกโดด้วยแต่ญี่ปุ่นยอมแพ้เสียก่อนจึงยกเลิกไป

(RIA Novosti archive, image #834147 / Haldei / CC-BY-SA 3.0)
ปฏิบัติการของกองเรือแคสเปียน
กองเรือแคสเปียน (Caspian Flotilla) มีบทบาทในการลำเลียงกำลังพลและยุทโธปกรณ์สนับสนุนกองทัพโซเวียตในสมรภูมิสตาลินกราด (ผ่านทางแม่น้ำโวลกา) และเทือกเขาคอเคเซัส
บทสรุป
ในสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเรือโซเวียตแม้จะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศ ส่งผลให้มีบทบาทถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การสนับสนุนปฏิบัติการของเหล่าทัพอื่นโดยเฉพาะกองทัพบกเท่านั้น ส่งผลให้ได้รับการกล่าวถึงน้อยมากเมื่อเทียบกับกองทัพเรือของประเทศอื่นๆที่มีบทบาทมากกว่าเช่นสหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น และเยอรมนี
สวัสดี
27.02.2021