
(Bundesarchiv, Bild 146-1976-071-36 / CC-BY-SA 3.0)
ถึงแม้ว่าตามแนวคิดยุทธวิธีสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) ของนายพลไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) ของเยอรมันจะต้องการให้หน่วยยานเกราะเยอรมันใช้รถถังกลาง 2 รุ่น เป็นกำลังรบหลักคือรถถัง Panzer III ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 37 หรือ 50 มิลลิเมตร สำหรับภารกิจต่อสู้รถถัง กับรถถัง Panzer IV ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรลำกล้องสั้น สำหรับภารกิจสนับสนุนทหารราบ แต่ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง จากปัญหาความล่าช้าในการผลิต ส่งผลให้กองทัพเยอรมันมีรถถังทั้งสองรุ่นไม่พอใช้แต่อย่างใด ต้องใช้งานรถถังรุ่นเก่าอย่าง Panzer I และ Panzer II ซึ่งใช้สำหรับการฝึก กับรถถังที่ยึดมาจากเชโกสโลวาเกียอย่าง Panzer 35(t) และ Panzer 38(t) มาใช้เป็นกำลังรบหลักตั้งแต่การบุกโปแลนด์ในปี ค.ศ.1939 ไปจนถึงการบุกสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1941 แต่รถถังเหล่านี้กลับไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก เมื่อเทียบกับรถถังรุ่นอื่นๆที่เข้าประจำการช่วงกลางถึงปลายสงคราม
ถ้าผู้อ่านนึกภาพไม่ออกว่ารถถัง Panzer I และ Panzer II มีความสำคัญต่อสงครามสายฟ้าแลบของเยอรมนี ผมขอยกตัวเลขขึ้นมาให้เห็นภาพ ในการบุกโปแลนด์ กองทัพเยอรมันใช้รถถังจำนวน 2,690 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถถัง Panzer I จำนวน 973 คันและ Panzer II จำนวน 1,127 คัน คิดเป็นจำนวนเกือบ 80% ของรถถังเยอรมันทั้งหมด แม้กระทั่งในการบุกสหภาพโซเวียต จากจำนวนรถถังเยอรมันประมาณ 3,500 คัน มีรถถัง Panzer I จำนวน 337 คัน, Panzer II จำนวน 890 คัน, Panzer 35(t) จำนวน 155 คันและ Panzer 38(t) จำนวน 625 คัน รวมกันคิดเป็นเกือบ 2 ใน 3 เลยทีเดียว อาจกล่าวได้ว่ารถถังเบาเหล่านีมีบทบาทสำคัญต่อชัยชนะของเยอรมนีในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง
รถถัง Panzer I

(DZGuymed/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
รถถัง Panzerkampfwagen I (PzKpfw I) หรือ Panzer I เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1934 ออกแบบมาใช้สำหรับการฝึกเป็นหลัก ระหว่างรอให้ Panzer III และ Panzer IV พัฒนาเสร็จ รถถัง Panzer I ใช้พลประจำรถ 2 นาย ติดอาวุธเพียงปืนกลขนาด 7.92 มิลลิเมตร 2 กระบอกเท่านั้น จึงไม่สามารถใช้ต่อสู้กับยานเกราะข้าศึกได้เลย ทำได้เพียงภารกิจลาดตระเวณและสนับสนุนทหารราบเท่านั้น
เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองสเปนในปี ค.ศ.1936 เยอรมนีได้ส่งรถถัง Panzer I ไปให้ฝ่ายชาตินิยม (Nationalists) ของนายพลฟรังโก (Francisco Franco) ตอบโต้ที่สหภาพโซเวียตส่งรถถังเบา T-26 และรถหุ้มเกราะ BA-10 มาช่วยฝ่ายสาธารณรัฐ (Republicans) เมื่อยานเกราะทั้งสองฝ่ายปะทะกัน ปรากฏว่า Panzer I ซึ่งติดอาวุธเพียงปืนกล แพ้ยานเกราะโซเวียตซึ่งติดปืนใหญ่ขนาด 45 มิลลิเมตรอย่างย่อยยับ ส่งผลให้ฝ่ายชาตินิยมต้องพยายามยึดรถถัง T-26 จากฝ่ายตรงข้ามมาใช้งานให้มากที่สุด แสดงให้เห็นว่า Panzer I นั้นล้าสมัยไปตั้งแต่ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก แต่ด้วยข้อจำกัดของเยอรมนี ส่งผลให้กองทัพเยอรมันต้องใช้งานรถถังรุ่นนี้ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง
รถถัง Panzer II

(Matthias Holländer/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
เยอรมนีเริ่มพัฒนารถถังเบา Panzerkampfwagen II (PzKpfw II) หรือ Panzer II ในปี ค.ศ.1934 และเข้าประจำการในปี ค.ศ.1936 เพื่อทดแทนรถถัง Panzer I ขัดตาทัพขณะรอรถถัง Panzer III และ Panzer IV เข้าประจำการ รถถังรุ่นนี้ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 20 มิลลิเมตร ซึ่งดัดแปลงมาจากปืนต่อสู้อากาศยาน มีอำนาจการยิงมากพอจะเจาะเกราะรถถังเบาและรถถังกลางส่วนใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930 ได้ รวมถึงมีอัตราการยิงสูง รถถัง Panzer II เข้าสู่สนามรบครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1939 ระหว่างการบุกโปแลนด์และใช้งานต่อเนื่องไปจนถึงช่วงการบุกสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1941
รถถัง Panzer 35(t)

(Pudelek/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 3.0)
รถถัง Panzerkampfwagen 35(t) หรือ Panzer 35(t) ออกแบบโดยเชโกสโลวาเกีย (ตัว t ย่อมาจาก tschechisch หรือเช็กในภาษาเยอรมัน) เข้าประจำการในปี ค.ศ.1936 ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตร มีอำนาจการยิงสูงกว่ารถถังเบาของเยอรมนี ผลิตออกมาทั้งหมด 434 คัน บางส่วนถูกขายให้ต่างประเทศ เมื่อเยอรมนียึดครองเชโกสโลวาเกียในปี ค.ศ.1939 ก็ยึดรถถังรุ่นนี้จำนวน 244 คันไปใช้งาน ตั้งแต่การบุกโปแลนด์ไปจนถึงการบุกสหภาพโซเวียต ก่อนจะปลดประจำการไปในปี ค.ศ.1942
รถถัง Panzer 38(t)

รถถัง Panzerkampfwagen 38(t) หรือ Panzer 38(t) ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตร ออกแบบโดยเชโกสโลวาเกีย เข้าสู่สายการผลิตช่วงปลายปี ค.ศ.1938 เมื่อเยอรมนีเข้ายึดครองก็นำรถถังรุ่นนี้ไปทดสอบ กองทัพเยอรมันพอใจขีดความสามารถของ Panzer 38(t) มาก ประกอบกับความล่าช้าในการผลิตรถถัง Panzer III และ Panzer IV จึงตัดสินใจสั่งรถถังรุ่นนี้เข้าประจำการ
Panzer 38(t) ออกรบครั้งแรกในโปแลนด์ และต่อมาก็เป็นกำลังรบสำคัญของกองพลยานเกราะที่ 7 (7th Panzer Division) หรือกองพลผี (Ghost Division) ของพลโทเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ระหว่างการบุกฝรั่งเศส กองทัพเยอรมันใช้งานรถถังรุ่นนี้จนถึงช่วงบุกสหภาพโซเวียต ถึงตอนนั้นเยอรมนีก็เผชิญหน้ากับรถถังกลาง T-34/76 และรถถังหนัก KV-1 ซึ่งขีดความสามารถของ Panzer 38(t) ไม่พอรับมืออีกต่อไป ในปี ค.ศ.1942 เยอรมนีจึงขายรถถัง Panzer 38(t) บางส่วนให้ชาติพันธมิตรเช่นฮังการีไปใช้งาน และนำที่เหลือไปดัดแปลงเป็นปืนใหญ่อัตตาจรและยานเกราะล่ารถถังเช่น Marder III และ Hetzer
สวัสดี
18.03.2021