
(DZGuymed/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
ช่วงทศวรรษ 1930 รัฐบาลจีนของจอมพลเจียง ไคเช็ก (Chiang Kai-shek) มีความพยายามจะปรับปรุงกองทัพจีนให้ทันสมัย มีการจัดหารถถังจากต่างประเทศหลายรุ่น หนึ่งในนั้นคือรถถัง Panzer I จำนวน 15 คันจากเยอรมนี เซ็นสัญญาช่วงปลายปี ค.ศ.1936 และรับมอบในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1937 ก่อนจะเกิดสงครามกับญี่ปุ่นเพียงเดือนเดียว
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสินค้าจากเยอรมนี แต่เมื่อรถถังเหล่านี้มาอยู่ในมือก๊กมินตั๋ง กลับไม่เหลือสภาพ deutsche Qualität แต่อย่างใด รายงานของที่ปรึกษาเยอรมันพบว่าในตัวรถถัง Panzer I ของจีนมีน้ำขัง ชิ้นส่วนขึ้นสนิม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศร้อนชื้น ฯลฯ นอกจากนี้จีนยังมีอะไหล่และกระสุนปืนกลของเยอรมันไม่พอด้วย ส่งผลให้รถถังหลายคันต้องเปลี่ยนไปใช้ปืนกล DP ผลิตในสหภาพโซเวียตแทน
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยึดครองเซี่ยงไฮ้ได้ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1937 และมุ่งหน้าสู่นานกิง เจียง ไคเช็กก็ระดมกำลังพลจำนวนมากรวมถึงรถถัง Panzer I ที่พึ่งรับมอบมาใหม่มาป้องกันนานกิงด้วยในสมรภูมินี้แม้ฝ่ายจีนจะมีกำลังพลมากกว่า 100,000 นาย ในขณะที่ช่วงแรกฝ่ายญี่ปุ่นมีกำลังพลประมาณ 50,000 นายเท่านั้น (ภายหลังญี่ปุ่นได้เสริมกำลังเข้ามาประมาณ 200,000 นาย) แต่ทหารจีนส่วนใหญ่พึ่งแตกพ่ายมาจากเซี่ยงไฮ้ ขวัญกำลังใจตกต่ำ ยุทโธปกรณ์ขาดแคลน ประกอบกับญี่ปุ่นมีรถถังที่มีประสิทธิภาพดีกว่า จำนวนมากกว่า แถมยังเป็นฝ่ายครองอากาศด้วย ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะในที่สุด
รถถัง Panzer I ของจีนส่วนใหญ่ถูกทำลายในนานกิง ที่เหลือถูกญี่ปุ่นยึดไปได้แล้วนำไปจัดแสดงที่กรุงโตเกียวและสนามกีฬาในเมืองนิชิโนมิยะ ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ค.ศ.1939 โดยญี่ปุ่นติดป้ายระบุว่ารถถังเหล่านี้ผลิตในสหภาพโซเวียต เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับเยอรมนีซึ่งขณะนั้นเป็นพันธมิตรอักษะร่วมกับญี่ปุ่นแล้วนั่นเอง
สวัสดี
18.03.2021