จักรยานทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อพูดถึงยานพาหนะทางบกที่ใช้ในการลำเลียงกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงรถไฟ รถบรรทุก หรือรถม้า แต่ความจริงแล้วมีพาหนะพื้นฐานอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน และเป็นกุญแจสู่ชัยชนะในหลายสมรภูมิเลยทีเดียวคือจักรยาน

กองทัพของหลายประเทศทั่วโลกเช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ อิตาลี ฯลฯ เริ่มทดลองใช้งานจักรยานในทางทหารมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทั้งในภารกิจลาดตระเวณ, ส่งข่าว และขนส่ง ปัจจัยหนึ่งเกิดจากการที่ขณะนั้นเส้นทางคมนาคมและถนนหนทางต่างๆในยุโรปได้รับการพัฒนาขึ้นมาก เอื้อต่อการใช้งานจักรยาน ถึงขนาดมีแนวคิดที่จะนำจักรยานมาใช้แทนม้าเลยทีเดียว มีการใช้งานจักรยานในสมรภูมิจริงเป็นครั้งแรกระหว่างสงครามบัวร์ครั้งที่สอง (Second Boer War) ซึ่งทั้งฝ่ายอังกฤษและบัวร์ใช้จักรยานในภารกิจลาดตระเวณ ส่งข่าว และโจมตีฉาบฉวย ต่อมาในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) ทหารรัสเซียบางหน่วยใช้จักรยานในการลาดตระเวณตามแนวทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย เมื่อเวลาผ่านมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จักรยานก็ถูกใช้งานแพร่หลายในกองทัพแทบทุกประเทศต่อเนื่องมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยในเอเชีย ประเทศที่มีการใช้งานจักรยานในกองทัพมากที่สุดประเทศหนึ่งก็คือญี่ปุ่น

ในปี ค.ศ.1937 ระหว่างสงครามในจีน ญี่ปุ่นใช้ทหารขี่จักรยานมากกว่า 50,000 นาย ต่อมาเมื่อเกิดสงครามแปซิฟิกช่วงปลายปี ค.ศ.1941 กองทัพญี่ปุ่นก็ใช้จักรยานในการรุกคืบเข้าสู่มลายาและสิงคโปร์ จักรยานช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถเคลื่อนกำลังทหารหลายพันนายได้อย่างรวดเร็วโดยไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรแต่อย่างใด จักรยานมีความคล่องตัวสูง ไม่ต้องการการปรนนิบัติดูแลเหมือนกับม้า และไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงเหมือนรถบรรทุก ทหารญี่ปุ่นที่ขี่จักรยานยังสามารถบรรทุกสัมภาระได้มากกว่าทหารอังกฤษที่เดินเท้าด้วย โดยทหารอังกฤษที่เดินเท้าสามารถแบกสัมภาระได้เพียง 18 กิโลกรัม ขณะที่ทหารญี่ปุ่นที่ขี่จักรยานสามารถบรรทุกสัมภาระได้หนัก 36 กิโลกรัม ที่สำคัญคือทหารญี่ปุ่นไม่ต้องนำจักรยานติดตัวขึ้นเรือมาจากญี่ปุ่นแต่อย่างใด แต่อาศัยข่าวกรองว่าแถบมลายามีจักรยานที่เคยนำเข้าจากญี่ปุ่นจำนวนมาก แล้วทหารญี่ปุ่นก็มายึดเอาจักรยานจากพ่อค้าและประชาชนในพื้นที่ไปใช้งานแบบสบายๆหลังจากยกพลขึ้นบก นอกจากเรื่องความคล่องตัวแล้ว จักรยานยังให้ผลทางจิตวิทยาแบบไม่ได้ตั้งใจด้วย กล่าวคือเนื่องจากสมัยนั้นยางพาราขาดแคลน เวลายางล้อจักรยานรั่ว ทหารญี่ปุ่นก็จะถอดทิ้งแล้วขี่ต่อไปโดยไม่เปลี่ยนยางเส้นใหม่แต่อย่างใด ทีนี้เสียงขอบล้อจักรยานนั้นคล้ายกับเสียงรถถัง จึงสามารถข่มขวัญทหารอังกฤษได้ด้วย

ภาพทหารญี่ปุ่นขี่จักรยานระหว่างการบุกฟิลิปปินส์ ช่วงปลายปี ค.ศ.1941 ถึงต้นปี ค.ศ.1942
(Japanese military personnel/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

ในสมรภูมิยุโรปก็มีการใช้จักรยานอย่างแพร่หลายเช่นกัน เริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออิตาลีเข้ายึดครองแอลเบเนียในเดือนเมษายน ค.ศ.1939 ทหารอิตาลีก็ใช้จักรยานในการเคลื่อนพลบนถนนที่ไม่เหมาะสำหรับรถยนต์

ในสมรภูมิโปแลนด์ เดือนกันยายน ค.ศ.1939 กองทัพโปแลนด์ก็มีการใช้จักรยานอย่างแพร่หลาย โดยในกองพลทหารราบของโปแลนด์ จะมีหน่วยสอดแนมขี่จักรยานจำนวน 1 กองร้อย ซึ่งมีพาหนะประกอบด้วยจักรยาน 196 คัน รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง 1 คัน และรถม้าบรรทุกสัมภาระ 9 คัน

ฟินแลนด์ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ใช้จักรยานในกองทัพอย่างแพร่หลาย ทั้งในสงครามกับสหภาพโซเวียตและต่อมากับนาซีเยอรมนี โดยทหารราบฟินแลนด์ใช้จักรยานเป็นพาหนะช่วยให้เคลื่อนกำลังได้ทันกับยานเกราะ (ในฤดูหนาวจะเปลี่ยนไปใช้สกีแทน)

แม้แต่เยอรมนีซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องการใช้รถถังและรถกึ่งสายพานในสงครามสายฟ้าแลบหรือ Blitzkrieg (แต่ความจริงแล้วกองทัพเยอรมันใช้ม้าเป็นพาหนะหลัก) ก็มีการใช้จักรยานภายในกองทัพเช่นกัน โดยเฉพาะในหน่วยกำลังสำรองช่วงปลายสงคราม ซึ่งยานพาหนะและเชื้อเพลิงขาดแคลน

ภาพทหารเยอรมันขี่จักรยานบริเวณเมืองอาร์นเฮม เดือนกันยายน ค.ศ.1944 (Bundesarchiv, Bild 183-S73823 / CC-BY-SA 3.0)

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง จักรยานก็ถูกแทนที่ด้วยยานยนต์ และถูกใช้งานอย่างจำกัดในลักษณะของสงครามกองโจรเท่านั้น เช่นในสงครามเวียดนาม ซึ่งเวียดกงและทหารเวียดนามเหนือใช้จักรยานในการลำเลียงสัมภาระในเส้นทางสายโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh trail) เป็นต้น แม้จักรยานจะไม่ได้เป็นพาหนะหลักในทางทหารแล้ว แต่ในสถานการณ์ที่จำเป็นจริงๆ ถ้าใช้อย่างถูกวิธี จักรยานก็อาจช่วยพลิกสถานการณ์ในสงครามปัจจุบันก็ได้ เห็นได้จากหลายประเทศเช่นฟินแลนด์ก็ยังคงฝึกทหารให้ใช้งานจักรยานและสกีได้อย่างคล่องแคล่วมาจนถึงปัจจุบัน

สวัสดี

21.03.2021

แสดงความคิดเห็น