
(Bundesarchiv, Bild 101I-127-0391-21 / Huschke / CC-BY-SA 3.0)
ปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง Pak-36 ขนาด 37 มิลลิเมตร เป็นปืนใหญ่ต่อสู้รถถังมาตรฐานของกองทัพเยอรมันในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง พัฒนาโดยบริษัท Rheinmetall ในปี ค.ศ.1933 และเข้าประจำการในปี ค.ศ.1936 ถูกใช้งานในสนามรบครั้งแรกระหว่างสงครามกลางเมืองสเปน มีขีดความสามารถเพียงพอรับมือรถถังเบาทุกรุ่นในขณะนั้นเช่น Renault-FT ผลิตในฝรั่งเศส, BT-5 และ T-26 ผลิตในสหภาพโซเวียต เป็นต้น ส่งผลให้กองทัพเยอรมันจัดหาปืนรุ่นนี้เข้าประจำการจำนวนมาก โดยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง Pak-36 ถูกผลิตให้กองทัพเยอรมันมากกว่า 9,120 กระบอก และระหว่างสงครามอีก 5,339 กระบอก นอกจากนี้ยังส่งออกให้ต่างประเทศมากกว่า 6,000 กระบอกด้วย อย่างไรก็ตามแม้ Pak-36 จะมีผลงานดีในสงครามกลางเมืองสเปน แต่นายทหารเยอรมันบางส่วนก็เริ่มมองเห็นว่าขีดความสามารถของ Pak-36 ในระยะยาวไม่น่าจะเพียงพอ ยกตัวอย่างเช่นรถถัง Panzer III ซึ่งจะเป็นม้างานหลักในสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) รับภารกิจต่อกรกับรถถังฝ่ายตรงข้าม ตามแนวคิดของนายพลไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) ควรจะต้องติดปืนใหญ่ขนาด 50 มิลลิเมตรตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจากหน่วยสรรพาวุธเยอรมันมองว่าขณะนั้นกองทัพเยอรมันใช้ Pak-36 ขนาด 37 มิลลิเมตรเป็นอาวุธหลักอยู่แล้ว ไม่ควรต้องมาสำรองอะไหล่และกระสุนปืนใหญ่ขนาด 50 มิลลิเมตรเพิ่มเติมอีก ส่งผลให้ Panzer III รุ่นแรกๆยังติดอาวุธเพียงปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรเท่านั้น
เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ในเดือนกันยายน ค.ศ.1939 ปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง Pak-36 ก็แสดงผลงานเจาะเกราะรถถังเบาของโปแลนด์ได้อย่างสบาย แต่เมื่อเยอรมนีบุกยุโรปตะวันตกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1940 เผชิญหน้ากับรถถังที่หุ้มหนาขึ้นเช่นรถถัง Matilda II ของอังกฤษ รถถัง Somua S35 และ Char B1 ของฝรั่งเศส ขีดความสามารถของ Pak-36 ก็ไม่เพียงพอที่จะหยุดรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรอีกต่อไป จนได้ฉายาว่าเป็นเพียงเครื่องเคาะประตูของกองทัพ (Heeresanklopfgerät) หรือปืนใหญ่สำหรับเคาะประตูรถถัง (PanzerAnklopfKanone) เพราะมันทำได้เพียงแค่ทำให้รถถังที่ถูกยิงรู้ตัวว่ามีปืนใหญ่ต่อสู้รถถังอยู่ในพื้นที่เท่านั้นเอง สุดท้ายทหารเยอรมันไม่มีทางเลือกต้องนำปืนต่อสู้อากาศยาน Flak-36 ขนาด 88 มิลลิเมตร มาใช้ในภารกิจต่อสู้รถถังแบบเฉพาะกิจแทน เช่นระหว่างการรุกตอบโต้ของอังกฤษที่อาร์ราส (Battle of Arras) เป็นต้น หลังการรบในยุโรปตะวันตกสิ้นสุดลง กองทัพเยอรมันจึงค่อยๆทดแทน Pak-36 ด้วยปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง Pak-38 ขนาด 50 มิลลิเมตรและ Pak-40 ขนาด 75 มิลลิเมตรตามลำดับ อย่างไรก็ตามเนื่องจากความล่าช้าในการผลิต ส่งผลให้ทหารเยอรมันหลายหน่วยยังต้องใช้งาน Pak-36 ต่อเนื่องไปถึงปี ค.ศ.1942

(Bundesarchiv, Bild 101I-299-1831-26 / Hähle, Johannes / CC-BY-SA 3.0)
เมื่อเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียต วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1941 ทหารเยอรมันส่วนใหญ่ยังคงใช้ Pak-36 เป็นหลักอยู่ โชคดีที่ขณะนั้นรถถังโซเวียตส่วนใหญ่ยังเป็นรถถังเบาตระกูล BT และ T-26 เหมือนในสงครามกลางเมืองสเปน Pak-36 จึงมีโอกาสแก้ตัว สามารถทำลายรถถังเบาของโซเวียตหลายพันคันได้อย่างไม่ยากเย็น แต่เมื่อโซเวียตเริ่มนำรถถังกลาง T-34 และรถถังหนัก KV-1 มาใช้งานจำนวนมากขึ้น ฉายาปืนใหญ่สำหรับเคาะประตูรถถังก็กลับมาอีกครั้ง เนื่องจาก Pak-36 ยิงรถถังเหล่านี้ไม่เข้าเลย ยกเว้นจะจ่อยิงจากด้านข้างหรือด้านหลังในระยะเผาขนเท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยากและอันตรายมาก สุดท้ายกองทัพเยอรมันจึงค่อยๆทยอยปลดประจำการ Pak-36 ส่งให้กำลังสำรองหรือประเทศพันธมิตรเช่น โรมาเนีย ฮังการี ฟินแลนด์ ฯลฯ ใช้งานแทน การที่ประเทศพันธมิตรของเยอรมนีได้ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังตกรุ่นไปใช้งาน เป็นสาเหตุหนึ่งที่เยอรมนีพ่ายแพ้ที่สตาลินกราดในเวลาต่อมา เพราะกองทัพโซเวียตสามารถทำการรุกตามปฏิบัติการยูเรนัส (Operation Uranus) ตีกองทัพโรมาเนียที่คุ้มกันปีกสองข้างให้กองทัพเยอรมันแตกอย่างง่ายดาย แล้วโอบล้อมกองทัพที่ 6 ของเยอรมนีไว้ในเมืองสตาลินกราด
แม้ Pak-36 จะไม่ประสบความสำเร็จมากนักในยุโรป แต่กลับประสบความสำเร็จมากในจีน โดยทหารจีนสามารถใช้งาน Pak-36 ที่เคยสั่งซื้อจากเยอรมนี เจาะเกราะรถถังญี่ปุ่นทั้งรถถังเบา Type-95 Ha-Go และรถถังกลาง Type-97 Chi-Ha ซึ่งมีเกราะบางมากได้อย่างสบาย
สวัสดี
24.03.2021