SU-76 ปืนใหญ่อัตตาจรอเนกประสงค์ของโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพปืนใหญ่อัตตาจร SU-76 ของสหภาพโซเวียต
(LostArtilleryman/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

ปืนใหญ่อัตตาจร SU-76 ของสหภาพโซเวียตเกิดจากการนำปืนใหญ่สนามรุ่น ZiS-3 หรือ M1942 ขนาด 76 มิลลิเมตร มาติดตั้งบนตัวรถถังเบา T-70 เป็นยานเกราะอเนกประสงค์ใช้งานได้หลายภารกิจทั้งเป็นยานเกราะจู่โจม (Assault Gun) สำหรับสนับสนุนทหารราบเข้าทำลายที่มั่นข้าศึก, ใช้ต่อสู้รถถัง รวมถึงสามารถยิงปืนใหญ่แบบวิถีโค้งได้ด้วย คล้ายกับ StuG III ของเยอรมนี SU-76 เป็นยานเกราะของโซเวียตที่ถูกผลิตออกมามากที่สุดเป็นอันดับสอง ในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นจำนวนถึง 14,292 คัน เป็นรองเพียงรถถังกลาง T-34 เท่านั้น

สหภาพโซเวียตมีแนวคิดที่จะพัฒนาปืนใหญ่อัตตาจรมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1936 – 1937 โดยใช้ตัวรถของรถถังเบา T-26 มาดัดแปลงติดปืนใหญ่สนามขนาด 76 มิลลิเมตร กลายเป็นปืนใหญ่อัตตาจร SU-5 มีส่วนร่วมในการยึดครองภาคตะวันออกของโปแลนด์ในเดือนกันยายน ค.ศ.1939 กองทัพโซเวียตใช้งานปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นนี้อย่างจำกัดจนถึงตอนที่เยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1941 แม้ SU-5 จะมีขีดความสามารถเพียงพอรับมือรถถังเยอรมันในขณะนั้นได้ทุกรุ่น แต่เนื่องจากจุดอ่อนคือไม่มีเกราะป้องกันพลประจำปืนเลย (แลกกับการที่สามารถหมุนปืนใหญ่ได้รอบทิศทางเหมือนรถถัง) ประกอบกับรถถัง T-26 ได้ถูกทำลายไปจำนวนมาก และสายการผลิตก็ปิดไปแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นใหม่มาแทนที่ อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการพัฒนาปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นใหม่ของโซเวียตคือความสำเร็จในการใช้งาน StuG III ของฝ่ายเยอรมัน

โรงงานผลิตยานเกราะของโซเวียตได้ออกแบบปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นใหม่สำหรับทดแทน SU-5 ออกมาหลายรุ่น ก่อนจะมาลงตัวที่ SU-76 ซึ่งผ่านการทดสอบในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1942 และเข้าสู่สายการผลิตในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ใช้ตัวรถของรถถังเบา T-70 มาดัดแปลงติดตั้งปืนใหญ่สนาม Zis-3 ขนาด 76 มิลลิเมตร การผลิตเป็นไปอย่างเร่งรีบ มีการส่ง SU-76 ชุดแรกจำนวน 2 กรมออกสู่แนวหน้าในเดือนมกราคม ค.ศ.1943 อย่างไรก็ตามความเร่งรีบนี้เองส่งผลให้ SU-76 มีปัญหามาก จนต้องระงับการผลิตไว้ชั่วคราว ระหว่างนี้โซเวียตแก้ขัดด้วยการนำรถถัง Panzer III และ StuG III ที่ยึดได้จากเยอรมันเป็นจำนวนมากในสมรภูมิสตาลินกราด (Battle of Stalingrad) มาดัดแปลงติดปืนใหญ่สนาม ZiS-5 ขนาด 76 มิลลิเมตรเรียกว่า SU-76i มาใช้งานทดแทนไปก่อน จนกระทั่ง SU-76 รุ่นที่ผ่านการปรับปรุงแล้วคือ SU-76M เข้าสู่สายการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ค.ศ.1943 ออกรบครั้งแรกในสมรภูมิคูร์ส (Battle of Kursk) ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน กองทัพโซเวียตใช้งานปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นนี้จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง จุดเด่นของ SU-76M คือสามารถปฏิบัติการในพื้นที่หนองบึงได้ ซึ่งปกติพื้นที่แบบนี้จะไม่เหมาะสำหรับปฏิบัติการของยานเกราะ ส่งผลให้โซเวียตสามารถใช้ SU-76M เข้าตีจุดอ่อนในแนวป้องกันของเยอรมันได้

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง สหภาพโซเวียตได้ส่ง SU-76M ให้ประเทศพันธมิตรไปใช้งานทั้งประเทศในกลุ่มองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (warsaw Pact) เช่น เยอรมนีตะวันออก ฮังการี โปแลนด์ โรมาเนีย และในภูมิภาคอื่นๆได้แก่คิวบา จีน เกาหลีเหนือ และเวียดนามเหนือ ถูกใช้งานในสงครามเกาหลีและช่วงต้นสงครามเวียดนาม

สวัสดี

28.03.2021

แสดงความคิดเห็น